โลกปัจจุบัน มีการแบ่งกลุ่มประชากรแบบใช้ช่วงอายุเป็นเครื่องมือ โดยแบ่งเป็น 4 เจนเนอเรชั่น (4 เจน) ได้แก่ เจนเบบี้บูมเมอร์, เจน X, เจน Y และ เจน Z โดยใช้ปีเกิดเป็นการจำแนกซึ่งอาจจะจำได้ค่อนข้างยาก หนึ่งในวิธีที่จะจำได้ง่าย คือ เจนเบบี้บูมเมอร์คือช่วงวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณ เจน X คือช่วงวัยกลางคน เจน Y คือวัยผู้ใหญ่กำลังสร้างตัวสร้างครอบครัว และเจน Z คือวัยรุ่นถึงวัยเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ (First Jobber)
คนแต่ละกลุ่มมีช่วงเวลาการเติบโต ปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน มีทัศนคติต่อชีวิตไม่เหมือนกัน และเป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนเข้ามาสู่มือของคนทุกเพศทุกวัยและครอบคลุมแทบทุกชนชั้น ตอกย้ำด้วยสภาวะโรคระบาดในรอบร้อยปีอย่าง COVID-19 ที่ดำเนินมาต่อเนื่อง 3 ปี ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงเรื่องอาชีพการงานและการลงทุน
เจน Z คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2555 พวกเขาคือคนวัยทำงานที่อายุน้อยที่สุดในปัจจุบัน และคนที่กำลังจะเข้าสู่โลกการทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็มาจากเจน Z ทั้งสิ้น พวกเขาคือ “Digital Native” เป็นคนกลุ่มแรกในโลกที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว ทุกอย่างมีความรวดเร็วฉับไว มีโทรศัพท์มือถือทุกบ้านตั้งแต่พวกเขาเกิดไม่นาน พร้อมกับอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และสารพัดโซเชียลมีเดีย เช่น LINE, IG, Tiktok, Twitter, Facebook เป็นต้น ไม่ชอบเล่นเกมคนเดียว แต่เล่นเกมออนไลน์ที่เล่นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีผู้เล่นหลายคนพร้อมกัน ใช้ Search Engine ค้นคว้าข้อมูลอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มหลักที่กำหนด Google Trend หรือแฮชแท็กเทรนด์ทวิตเตอร์ และใช้เวลาในแต่ละวันอยู่บนโลกออนไลน์สูง
เจน Z มีข้อได้เปรียบเจนอื่น คือ ทักษะความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย และว่องไวในการค้นหาข้อมูลข่าวสารอย่างที่คนเจนอื่นตามไม่ทัน แต่ในเชิงการเงินส่วนบุคคลแล้ว เจน Z ต้องพบกับความท้าทายอย่างมาก เพราะถูกกระตุ้นการบริโภคอยู่ตลอดเวลาจากสารพัดโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ถึงกับมีคำกล่าวว่า นี่คือยุคสมัยที่เก็บตัวอยู่บ้าน นอนอยู่บนเตียงก็ใช้เงินเดือนหมดได้ จากการชอปปิงออนไลน์
นอกจากนี้ เจน Z ในวัยเริ่มทำงานก็พบกับยุคสมัยที่อาชีพการงานเริ่มหายาก แข่งขันสูง โอกาสที่เปิดกว้างแบบเติบโตไปตลอดชีวิต มีน้อยกว่ายุครัฐวิสาหกิจหรือยุคบริษัทเอกชนไทยขนาดใหญ่ ที่เคยเป็นโอกาสของรุ่นพี่เจนก่อนหน้า โลกที่เปลี่ยนแปลงไวทำให้อาชีพการงานมีความไม่แน่นอนสูง ความรู้ล้าสมัยเร็ว จึงต้องคำนึงถึงการวางแผนการเงินไว้แต่เนิ่น ๆ และที่สำคัญคือ เจน Z จำเป็นต้องคิดถึงการพึ่งพาตนเองให้ได้ เพราะมักจะมีพี่น้องน้อย หลายคนเป็นลูกคนเดียว หลายคนอาจจะเลือกไม่แต่งงาน และถึงแม้ว่าแต่งงานก็อาจจะเลือกที่จะมีลูกน้อยหรือไม่มีลูกเลยก็ได้ ดังนั้น จึงเป็นเจนที่ไม่สามารถหวังพึ่งพาคนอื่น (พี่ น้อง ลูก หลาน) ได้มากนักเมื่อตนเองเข้าสู่วัยชรา
ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้การวางแผนการเงินสำหรับคนเจน Z เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
จากประสบการณ์ส่วนตัว เคยเจอคนรุ่นใหม่เจน Z ที่เพิ่งเข้าสู่ระบบการทำงาน ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการเงินส่วนบุคคลคล้ายกัน คือ แม้จะเริ่มทำงานหาเงินเองได้แล้ว แต่เงินเดือนเริ่มต้นยังไม่สูง ในขณะที่ต้องเริ่มรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในชีวิตทุกอย่าง ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น และไหนจะต้องกันเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่ออนาคต เช่น เตรียมศึกษาต่อ ค่าเรียนเสริมทักษะอาชีพ เงินลงทุนต่อยอด และอื่น ๆ ทำให้เงินเก็บแทบไม่มี หรือบางเดือนอาจถึงขั้นไม่พอรายจ่ายทั้งหมด
ผมเข้าใจและเห็นใจคนรุ่นใหม่มาก เพราะเมื่อ 26 ปีก่อน ตอนเรียนจบมาใหม่ ๆ ผมเองก็ไม่มีเงินเก็บเหมือนกันครับ ตอนนั้นได้พ่อแม่ รุ่นพี่ และเพื่อนฝูงกัลยาณมิตรดี ที่ให้แนวความคิดเรื่องการเงินส่วนบุคคลที่เป็นประเด็นสำคัญไว้ คือ การจัดการเรื่องเงินที่ดี 4 เรื่อง สำหรับวัยรุ่นสร้างตัว ได้แก่ (1) ออมเงินได้ (2) ใช้เงินเป็น (3) หาเงินเก่ง และ (4) ต่อเงินงอกเงย ซึ่งผมคิดว่ามีประโยชน์มาก และผมเองก็ใช้เป็นแผนจัดการเรื่องเงินมาตั้งแต่อายุเท่า ๆ กับเจน Z ในวันนี้
ความมั่งคั่งนั้นเป็นไปได้ ถ้ารู้จักเคล็ดลับการออม เคล็ดลับการใช้เงิน เคล็ดลับการหาเงิน เคล็ดลับการต่อเงิน (ลงทุน) และเริ่มลงมือทำทันที ตั้งแต่มีรายได้เดือนแรกในชีวิต
ฟังดูเป็นเรื่องง่าย ๆ คือต้องออมก่อนใช้จ่ายเสมอ และออมไว้อย่างน้อย 10% แต่เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนจำนวนมาก บางท่านอาจจะทำได้มากกว่า 10% เพราะตัวเบาภาระน้อย ก็จะผ่านข้อนี้ได้ง่าย แต่บางท่านอาจจะทำได้น้อยกว่านี้ เพราะภาระยังมีอยู่เยอะ ซึ่งไม่เป็นไรครับ ยังไงก็ต้องตั้งเป้าออมเงินให้ได้ไว้ก่อน และเริ่มลงมือทำแม้ว่าจะออมได้ทีละน้อยก็ตาม สร้าง Mindset ชุดความคิดว่าเราต้องออมเงินให้ได้ เมื่อมีรายได้สูงขึ้น หรือปลดภาระทางการเงินออกไปได้ อัตราการออมจะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
การใช้เงินให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป จำแนกให้ออกว่า อะไร Need to have (จำเป็นต้องมี) และอะไร Nice to have (มีก็ดี แต่ไม่มีก็ได้) ของบางอย่างที่ไม่ควรซื้อ ราคาถูกแค่ไหนก็อย่าไปซื้อเลย เช่น ของฟุ่มเฟือย สินค้ากระแสแฟชั่นที่เราไม่ต้องการจริง ๆ หรือใช้ไม่กี่ครั้งก็เบื่อก็ทิ้ง ในขณะที่ของบางอย่างจำเป็นต้องใช้ก็ต้องซื้อ ต่อให้แพงหน่อย เราก็จำเป็นต้องซื้อ เช่น อุปกรณ์ไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บ้านเพื่อใช้อยู่อาศัย หรือ รถยนต์เพื่อใช้ในการเดินทางทำงานประกอบธุรกิจ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการจัดสรรเงินออมและการลงทุนแบบ DCA เพื่อสร้างวินัยในการออมให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนสร้างเงินออมเพื่ออนาคต” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่