จัดกลุ่มลงทุนหุ้นสุขภาพ เมกะเทรนด์แห่งอนาคต

โดย SET
5 Min Read
12 มกราคม 2566
29.628k views
SET-หุ้นสุขภาพ-1200x628
In Focus

บทความนี้จะพาไปรู้จักกับธุรกิจ Healthcare ว่ามีความน่าสนใจ และจุดเด่นอย่างไรบ้าง

           ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ส่งผลให้หุ้นด้านสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นโดยปฎิเสธไม่ได้ และในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับธุรกิจ Healthcare ว่ามีความน่าสนใจ และจุดเด่นอย่างไรบ้าง

 

ธุรกิจ Healthcare คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพของมนุษย์เรา ซึ่งครอบคลุมขอบเขตค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่เรื่องยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการบริการรักษาพยาบาล

 

ทำไมหุ้นสุขภาพถึงน่าสนใจ ?

SET-หุ้นสุขภาพ-P1-3

1. การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

           ธุรกิจ Healthcare เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ จากแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน ความดัน ที่ต้องพบแพทย์อยู่ต่อเนื่องเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความต้องการในระบบสาธารณะสุข การรักษาพยาบาล และยารักษาโรคที่ดีก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั้งจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ วิธีการรักษา ยา และวัคซีน เพื่อมาสนับสนุนความต้องการจากกลุ่มผู้สูงวัยด้วย และอีกเหตุผลคือในหลาย ๆ ประเทศ รัฐมีการจัดการระบบประกันสุขภาพดีขึ้น เมื่อระบบดี คนเจ็บป่วยก็ไปพบแพทย์มากขึ้น การใช้ยาก็มากขึ้นตาม ส่งผลให้ธุรกิจ Healthcare เติบโตมากขึ้น

 

2. ผลจากโควิด-19

 

           จากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่า New Normal อย่างการหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพทั้งตนเองและคนรอบข้างกันมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหารหรืออาหารเสริมที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ Healthcare มีความน่าสนใจ

 

จัดกลุ่มการลงทุนในธุรกิจสุขภาพในตลาดหุ้นไทย

SET-หุ้นสุขภาพ-เมกะเทรนด์-P2-3

1.ธุรกิจสถานพยาบาล (โรงพยาบาล ทันตกรรม ร้านขายยา และคลินิกเสริมความงาม)

 

           เป็นสถานที่สำหรับบริการด้านสุขภาพให้กับผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย หรือโรคต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ มีรายได้หลักจากค่ารักษา ค่ายา ค่าบริการของบุคลากรการแพทย์ และการตรวจแล็บหรือเอ็กซ์เรย์ ซึ่งธุรกิจสถานพยาบาลในไทย ถือว่าเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างโดดเด่นและสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ เพราะราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับคุณภาพและบริการที่ได้รับ

 

ตัวอย่างหุ้นธุรกิจสถานพยาบาลในตลาดหุ้นไทย

 

BDMS : บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายในไทยและกัมพูชา ดำเนินการภายใต้ชื่อโรงพยาบาล 6 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบี เอ็น เอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล นอกจากนี้เครือข่ายของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

 

BH : บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล ในกรุงเทพมหานคร โดยมีการให้บริการทางการแพทย์ครบวงจรทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมทั้งศูนย์บริการผู้ป่วยต่างชาติ และลงทุนในธุรกิจการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ

 

RAM : บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน)

โรงพยาบาลเอกชนที่ดำเนินการภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลรามคำแหง มีโรงพยาบาลในเครือ 7 แห่ง เป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาให้บริการในระดับสากล

 

THG : บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

กลุ่มบริษัทประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ "โรงพยาบาลธนบุรี"

 

CHG : บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน)

บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน ประกอบด้วยบริษัทย่อยจำนวน 10 บริษัท มีสาขาของโรงพยาบาลสถานพยาบาลและคลินิกในกลุ่มรวมทั้งหมด 14 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ

 

2. ธุรกิจยาและอาหารเสริม

 

           จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแทบจะทุกภาคส่วนทั่วโลก แต่ในทางกลับกันกลับเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นที่ต้องการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันได้เริ่มขยายฐานไปยังกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว รวมถึงวัยอื่น ๆ ด้วย เพราะผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพในเชิงป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากขึ้น

 

ตัวอย่างหุ้นธุรกิจยาและอาหารเสริมในตลาดหุ้นไทย

 

MEGA : บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน)

เป็นบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods หรือ FMCG) ชั้นนำระดับสากล ณ ปัจจุบัน MEGA เป็นผู้จัดจำหน่ายชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ MEGA มีการพัฒนา ผลิต ทำการตลาด และขายผลิตภัณฑ์กลุ่มบำรุงสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ยาตามใบสั่งแพทย์และผลิตภัณฑ์ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์สุขภาพภายใต้เครื่องหมายการค้า Mega We CareTM ของบริษัทผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายของบริษัทและผู้จัดจำหน่ายภายนอกใน 35 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

IP : บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน)

ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน เช่น ตราสินค้า Probac 7, Probac 10 Plus, YUUU Toothpaste และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ เช่น ตราสินค้า Katimun และตัวแทนจำหน่าย Choo Choo

 

APCO : บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน)

ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากสารสกัดจากธรรมชาติครบวงจร จากผลงานการวิจัยและพัฒนาของนักวิทยาศาสตร์ไทย เจ้าของนวัตกรรมภูมิคุ้มกันบำบัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ตรวจไม่พบเชื้อ โดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส และมีสุขภาพแข็งแรงเป็นครั้งแรกของโลก

 

KISS : บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

ประกอบธุรกิจพัฒนา จ้างผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin Care) ภายใต้แบรนด์ Rojukiss, PhDerma, PhD K-Derma, Wonder Herb และ Best Korea ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Color Cosmetics) ภายใต้แบรนด์ Sis2Sis และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) ภายใต้แบรนด์ Rojukiss รวมถึงให้บริการคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจและการตลาดสำหรับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ ในต่างประเทศ

 

DOD : บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน)

บริษัทดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาสูตร, ผลิต, ออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับเลข อย. ภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า แต่ก็มีแบรนด์อาหารเสริมของตัวเองอย่าง Dai a to (ได เอโตะ) ด้วยเช่นกัน

 

3. ธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์

 

           เป็นธุรกิจผลิตเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง (Single-Use Devices) เช่น เข็มฉีดยา หลอดฉีดยา ถุงมือยาง ฯลฯ คิดเป็น 20% ของการผลิต อุปกรณ์ใช้คงทน (Durable Medical Devices) เช่นเตียงคนไข้ รถเข็น เครื่องมือแพทย์ใช้เทคโนโลยีสูง เครื่องมือวินิจฉัยโรคต่าง ๆ คิดเป็น 75% และน้ำยาวินิจฉัยโรค (Reagents and test Kits) สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ มีสัดส่วน 5% ซึ่งสิ่งที่ทำกำไรมากที่สุดคือ อุปกรณ์ที่ใช้คงทน ตามด้วยแบบใช้แล้วทิ้ง และน้ำยาวินิจฉัยโรค

จากกระแสรักสุขภาพและความงาม รวมถึงการเติบโตของธุรกิจบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เป็นตัวช่วยสนับสนุนให้ตลาดเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ตัวอย่างหุ้นธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ในตลาดหุ้นไทย

 

SMD : บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน)

เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยนำเข้าจากผู้ผลิตต่างประเทศ เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลในประเทศและบุคคลทั่วไป รวมทั้งยังนำเข้าชุดตรวจ ATK และวางจำหน่ายในร้านคอนเวียนร์เนียสโตร์ อย่าง  เซเล่น อีเวฟเว่น ทั่วประเทศ

 

WINMED : บริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล จำกัด (มหาชน)

บริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้นำเข้า และจำหน่ายเครื่อง และชุดอุปกรณ์ สำหรับการเก็บ การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัย และการบำบัดรักษาทางการแพทย์ รวมทั้งจัดจำหน่ายชุดตรวจ ATK แบรนด์ JOYSBIO และเป็นตัวแทนจำหน่าย ATK แบรนด์ LITUO  ซึ่งสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ ร้านขายยา สถานพยาบาลทั่วประเทศ

 

BIZ : บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) และให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว (Maintenance Service)

 

STGT : บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง ถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้ง และถุงมือยางไนไตรล์

 

TM : บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน)

บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับสถานพยาบาลชั้นนำในประเทศ ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน คลีนิค และบุคคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยได้รับการแต่งตั้งเป็น Exclusive Distributor จากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศทั้งหมด 47 ราย จาก หลากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่บริษัทจำหน่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง (2) กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์

 

4 ปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญในหุ้นสุขภาพ

SET-หุ้นสุขภาพ-P3-3
eOpen Banner for investHow-01-01

หุ้นโรงพยาบาล ธุรกิจยาและอาหารเสริม และธุรกิจเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์แต่ละประเภทมีปัจจัยทางธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดสำคัญที่เหมือนกันอยู่ โดยมี 4 ประเด็นหลักที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ

 

1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ถ้าเศรษฐกิจดี คนมีเงินซื้อประกันสุขภาพก็จะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ในทางกลับกันถ้าเศรฐกิจแย่ ก็มักจะซื้อยาทานเองตามร้านขายยา หรือใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ คลินิก ซึ่งจะมีผลต่ออัตรากำไรพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามด้วยตัวโครงสร้างธุรกิจที่อยู่ในกลุ่ม Defensive หุ้นค่อนข้างปลอดภัย มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นทั่วไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ยังไปต่อได้อยู่ดี

 

2. ความสามารถในการให้บริการ

ตัวเลขความสามารถในการให้บริการจะสะท้อนให้เห็นถึงขนาดของโรงพยาบาล และโอกาสในการเพิ่มรายได้ในอนาคต การเพิ่มความสามารถสามารถทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงอาคารให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น หรือการเข้าซื้อโรงพยาบาลอื่น ๆ หรือการขยายสาขา แต่จะต้องมีการจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสม โดยสามารถดูได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ยิ่งค่าดังกล่าวสูง ก็ยิ่งเสี่ยงมาก

 

3. กฎระเบียบต่าง ๆ

อุตสาหกรรรมนี้มีความเกี่ยวพันกับกฎระเบียบของหลายกระทรวง เช่น กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมราคายา กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาดูแลและตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าเมืองของนักท่องเที่ยว และการออกวีซ่า รวมถึงกฎระเบียบของต่างประเทศ ก็มีผลกระทบต่อคนไข้ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

 

4. โรคระบาด

ในช่วงของโรคระบาดอย่างโควิด 19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้เป็นที่ต้องการและเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นรายได้ของโรงพยาบาลมากขึ้น จากการมาใช้บริการของผู้ป่วย หรือคนเริ่มหันมารักสุขภาพและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายมากขึ้น ก็ส่งผลดีต่อตลาดอาหารเสริม เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

 

           จะเห็นได้ว่าธุรกิจ Healthcare มีความน่าสนใจและสามารถเติบโตได้ในระยะยาว จากเทรนด์สังคมผู้สูงอายุและการดูแลสุขภาพที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปแนวทางวิเคราะห์หุ้นสุขภาพในเบื้องต้นเท่านั้น นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกของหุ้นแต่ละตัว และดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อให้การลงทุนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้

 

และนอกจากหุ้นสุขภาพแล้ว หากใครที่สนใจศึกษาข้อมูลหุ้นเพิ่มเติมจากนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ จากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน สามารถคลิกได้ที่ 

สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: