โอกาสลงทุนต่างประเทศ ผ่านตลาดหุ้นไทย

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
3 พฤศจิกายน 2564
5.854k views
Inv_โอกาสลงทุนต่างประเทศ ผ่านตลาดหุ้นไทย_Thumbnail
Highlights

ทำไมต้องไปลงทุนต่างประเทศในเมื่อมีผลิตภัณฑ์การลงทุนในประเทศตั้งมากมาย คำตอบคือ เป็นการกระจายความเสี่ยง ที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้ดีขึ้น และการลงทุนต่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ด้วยนวัตกรรมการลงทุนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพียงล็อคอินครั้งเดียวก็สามารถลงทุนได้ทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศได้สะดวกมาก

ปัจจุบันนอกจากนักลงทุนไทยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศแล้ว ยังนิยมลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนรอบโลกที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อเกื้อหนุนให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น ให้นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวแทนในประเทศ (บล.หรือ บลจ.) และนักลงทุนสถาบันภายใต้การกำกับของสำนักงาน ก.ล.ต. ลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ โดยไม่จำกัดจำนวน จากเดิมที่มีกรอบวงเงินจัดสรร (FIA) เพื่อควบคุมวงเงินลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือเพิ่มวงเงินให้นักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนตรง โดยไม่ผ่านตัวแทนในประเทศได้ถึงรายละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (จากเดิมที่ระดับ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี)

 

ยิ่งไปกว่านั้น นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนประกันสังคม ก็ได้รับอนุมัติให้ปรับเพดานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากไม่เกินร้อยละ 30 เป็นไม่เกินร้อยละ 40 ของเงินกองทุน กบข. และจากไม่เกินร้อยละ 15.3 เป็นไม่เกินร้อยละ 18.3 ของเงินกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ รวมถึงธุรกิจประกันภัยที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในต่างประเทศได้จากร้อยละ 15 ปรับขึ้นมาเป็นร้อยละ 30 ของสินทรัพย์ลงทุน สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนรายย่อยที่ยังไม่พร้อมที่จะไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ แต่มีความสนใจและต้องการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ในปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้จากหลากหลายสินทรัพย์ลงทุนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยิ่งไปกว่านั้น สามารถซื้อขายได้ด้วยบัญชีเดียวกันกับบัญชีซื้อขายหุ้นและเป็นสกุลเงินบาท เช่น DR, ETF และ DW นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศได้ผ่าน Application Streaming for Fund ของตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน

 

มาทำความรู้จักสินทรัพย์ลงทุนต่างประเทศเบื้องต้นที่สามารถซื้อขายได้ผ่านตลาดหุ้นไทย

 

1. DR (Depositary Receipt) หรือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยปัจจุบันมี DR เพียงหนึ่งเดียวในตลาดหุ้นไทย คือ E1VFVN3001 ที่อ้างอิงดัชนี VN30 ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบไปด้วยหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม ออกโดย บล.บัวหลวง

 

2. ETF (Exchange Traded Fund) คือ กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหรือราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนใช้อ้างอิง นักลงทุนสามารถซื้อขาย ETF ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ETF ก็มีการกระจายการลงทุนเหมือนกองทุนรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุน ETF ต่างประเทศเพียงหนึ่งเดียวในตลาดหุ้นไทย คือ CHINA กองทุนเปิดดับเบิลยูไอเอสอี เคแทม ซีเอสไอ 300 ไชน่า แทร็กเกอร์ มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน W.I.S.E – CSI 300 China Tracker (กองทุนหลัก) เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี CSI 300 ซึ่งจะลงทุนในหุ้น A-Shares ชั้นนำ 300 ตัวแรกของตลาดหุ้นจีน เช่น Kweichow Moutai, Ping An Insurance, China Merchants Bank, Wuliangye Yibin และ LONGi Green Energy Technology เป็นต้น

 

นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ ภาวะของตลาดหุ้นจีน หรือความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่นักลงทุนควรต้องพิจารณาก่อนลงทุนแล้ว ควรพิจารณาถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของกองทุนดังกล่าวและปริมาณการซื้อขายต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยว่ามีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่

 

3. DW (Derivatives Warrant) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นตราสารที่ผู้ออกให้สิทธิผู้ถือ ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ในราคา และวันที่กําหนด ซึ่งนักลงทุนไทยคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว สามารถใช้เก็งกำไรได้ทั้งขาขึ้น (Call) และขาลง (Put) โดยในปัจจุบันมี DW ที่อ้างอิงกับดัชนีหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้แก่ ดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng : HSI) ของตลาดหุ้นฮ่องกง และดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

 

อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังของการลงทุนใน DW ที่อ้างอิงดัชนีต่างประเทศ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากการลงทุนใน DR และ ETF คือ DW จะมีวันหมดอายุและมีอัตราทด (Leverage) จึงเหมาะสำหรับใช้เก็งกำไรมากกว่าลงทุน

 

นอกจากนี้ การที่ DR, ETF และ DW ต่างอ้างอิงดัชนีต่างประเทศ ดังนั้นจึงอาจมีสภาพคล่องที่จำกัดในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นต่างประเทศเปิดไม่ตรงกับตลาดหุ้นไทยได้ แต่กรณีของ DW อาจมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมากกว่า เนื่องด้วยการที่มีอัตราทด ซึ่งหากผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ทำหน้าที่ได้จำกัด อาจทำให้ราคา DW เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับดัชนีอ้างอิงในบางช่วงเวลาได้

 

กล่าวโดยสรุป ทั้ง DR, ETF และ DW เป็นเครื่องมือทางการเงินที่อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนไทยสามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้นผ่านตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป โดยนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาผลตอบแทนคาดหวังและเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นฐานการลงทุนใน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR เพื่อกระจายการลงทุน และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้การลงทุนใน ETF ตั้งแต่ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทน ความเสี่ยง และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

และเรียนรู้การลงทุนใน DW ตั้งแต่พื้นฐานการลงทุน กลไกการเคลื่อนไหวของราคา ตลอดจนวิธีการเลือกลงทุน และกลยุทธ์การลงทุนใน DW สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DW ฉบับมือใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: