ปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น GDP, เงินเฟ้อ, ดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน, อัตราการว่างงาน, รวมถึงตัวเลขผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ถือว่ามีผลอย่างมากต่อการลงทุน โดยปกติแล้วภาวะเศรษฐกิจจะเคลื่อนไหวปรับขึ้นลงตามวัฎจักร หรือที่เรียกว่า Economic Cycle แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ระยะฟื้นตัว (Recovery), ระยะเฟื่องฟู (Peak), ระยะถดถอย (Recession) และระยะตกต่ำ (Trough)
การเคลื่อนไหวของวัฎจักรเศรษฐกิจ จึงส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เพราะหุ้นแต่ละกลุ่มก็จะมีช่วงเวลาทองที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนแตกต่างกัน คำถามคือ เศรษฐกิจแบบนี้ ควรเลือกหุ้นกลุ่มไหนดี? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าปัจจุบัน เราอยู่ช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ วันนี้เรามีวิธีสังเกตง่าย ๆ มาฝาก
คือ ภาวะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว หลังเผชิญความตกต่ำสุดขีด พูดได้ว่าเป็นช่วงฟ้าหลังฝน ซึ่งจะสังเกตว่าตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น GDP Growth, การผลิตและการจ้างงาน, ดัชนีความเชื่อมั่น และผลประกอบการบริษัท ขณะที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเอื้อให้การลงทุนกลับมาคึกคัก ถือว่าเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมีเสน่ห์มาก
หุ้นกลุ่มไหนที่น่าสนใจ?
กลุ่มพลังงานและสินค้าอุตสาหกรรม: จะได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นตาม
กลุ่มธนาคารและการเงิน: มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ฟื้นตัวก่อนอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากแรงจูงใจของการลงทุนที่มากขึ้น และยอดการขอสินเชื่อที่ขยายตัว ทำให้ธนาคารเป็นตัวสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจได้ดี
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง: ได้ผลบวกจากสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงนี้
คือ ภาวะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตในจุดสูงสุดของวัฏจักร ซึ่งจะมาพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมถึงการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวมากกว่าเงินเฟ้อ ทำให้การจ้างงานอยู่ในระดับสูง ประชาชนมีกำลังซื้อมาก
หุ้นกลุ่มไหนที่น่าสนใจ?
กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค: เนื่องจากเป็นช่วงที่ซื้อง่ายขายคล่อง ประชาชนเริ่มมีเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์: สินค้าโภคภัณฑ์จะถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ดังนั้นความต้องการใช้สินค้ากลุ่มนี้จะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ ช่วงไหนเศรษฐกิจดี ผลประกอบการก็จะดีด้วย
กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ: เป็นอีกกลุ่มที่มักเติบโตล้อตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ผู้คนจะยอมจ่ายเงินก็ต่อเมื่อมีกำลังซื้อที่สูง
คือ ช่วงที่เศรษฐกิจผ่านยุครุ่งเรืองมาแล้ว และกำลังเข้าสู่ขาลง ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะชะลอการเติบโต เนื่องจากต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และภาคธุรกิจเริ่มขาดเงินทุนหมุนเวียน เพราะฉะนั้นการลงทุนช่วงนี้จึงต้องระมัดระวัง เน้นไปที่ Defensive Stock ที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจ
หุ้นกลุ่มไหนที่น่าสนใจ?
กลุ่มโรงพยาบาลและสุขภาพ: ธุรกิจสุขภาพมีรายได้มั่นคง และไม่ค่อยได้รับผลกระทบไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นทุกคนมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วย
กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน: ไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสาร ระบบขนส่งมวลชน เป็นสิ่งที่ประชาชนขาดไม่ได้ จึงได้รับผลกระทบน้อย
คือ จุดที่แย่ที่สุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยตัวเลข GDP จะเริ่มหดตัวจนอาจถึงขั้นติดลบ เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง บริษัทลดกำลังการผลิต มีการเลิกจ้าง ส่งผลถึงกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนแอ นอกจากนี้ เราจะเริ่มเห็นภาครัฐเริ่มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย
หุ้นกลุ่มไหนที่น่าสนใจ?
กลุ่มสินค้าประเภท Inferior Goods : เป็นสินค้าที่มีความต้องการซื้อมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เพราะผู้คนต้องประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงการเงินฝืดเคือง
กลุ่มบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ: เป็นโอกาสในการเข้าไปซื้อหนี้เสียจำนวนมาก เพื่อนำมาบริหารและสร้างโอกาสทำกำไรในอนาคต
กลุ่มเทคโนโลยี: เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะถูกมองว่าเป็นเมกะเทรนด์ และมีสตอรี่ที่น่าติดตาม
เมื่อนักลงทุนเข้าใจว่ากำลังอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรเศรษฐกิจ ก็จะประเมินการลงทุนได้แล้วว่าควรเลือกหรือเลี่ยงธุรกิจแบบไหนในช่วงจังหวะนั้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการวิเคราะห์หุ้นแบบ Top-Down ที่เริ่มมองจากภาพใหญ่อย่างภาพรวมเศรษฐกิจ ลงมาสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง แล้วค่อยมาเฟ้นบริษัทหรือหุ้นรายตัวที่มีความโดดเด่นอีกที
สำหรับนักลงทุนที่สนใจค้นหาหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบทุกมิติจากนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญได้จากโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน >> คลิกที่นี่
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน