ในปี 2017 กระแสการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่าง Bitcoin มาแรงอย่างมาก จนทำให้ Bitcoin มีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 เท่าภายในปีเดียว จากเหรียญละ 30,000 บาท พุ่งขึ้นไปถึง 600,000 กว่าบาท ทำให้นักลงทุนทั่วโลกตื่นตัวกันสุด ๆ กับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
จากนั้นตามมาด้วยกระแสการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยการทำ ICO (Initial Coin Offering) หรือที่เรียกว่าการออกเหรียญ ซึ่งเป็นการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัลมาแลกกับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) สกุลหลัก เช่น Bitcoin หรือ Ether ถือเป็นช่องทางการเข้าถึงเงินทุนที่สะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ทำให้ได้รับความนิยมจากกลุ่มสตาร์ทอัพกันอย่างมาก
ในขณะที่นักลงทุนจำนวนมากคิดว่าการลงทุนในเหรียญเหล่านั้น เป็นช่องทางที่จะได้รับผลตอบแทนมหาศาล แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ในสมัยนั้น ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มขาดความเข้าใจที่ดีพอ จนกลายเป็นโอกาสให้เกิดการหลอกลวงจากผู้มีเจตนาไม่สุจริตในหลายกรณี รวมถึงกลายเป็นช่องทางฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมายด้วย เป็นเหตุที่ทำให้ในประเทศไทยเกิดการบังคับใช้ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และการเข้ามาควบคุมการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ ขจัดความสับสนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และนักลงทุนก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายและเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมากเพื่อให้ก้าวทันกับทิศทางการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยนิยามตามกฎหมายไทย สินทรัพย์ดิจิทัลมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
โดยการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทโทเคนดิจิทัล (Digital Token) นักลงทุนจะได้สิทธิตามที่ผู้ออกกำหนด เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ สิทธิในการใช้ระบบ สิทธิในการซื้อของลดราคา เป็นต้น แต่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ จึงไม่ได้สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทเหมือนการลงทุนในหุ้น ซึ่งจะได้สิทธิความเป็นเจ้าของและจะได้รับเงินค่าหุ้นและส่วนแบ่งในทรัพย์สินของบริษัทหลังจากที่บริษัทเลิกกิจการด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงมาก แม้จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง แต่ก็อาจหมดตัวได้ โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการโฆษณากล่าวอ้างว่า ให้ผลตอบแทนสูง รับประกันผลตอบแทน ยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะเป็นการให้ข้อเสนอที่ดีเกินจริง อาจเป็นเหยื่อถูกหลอกได้ โดยก่อนจะเชื่อให้เช็คข้อมูล ICO ที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th) ก่อนลงทุนทุกครั้ง นอกจากนี้ สามารถเช็ครายชื่อบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. (Investor Alert) ได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th/TH/Pages/Shortcut/DigitalAsset.aspx
ที่มาของข้อมูล
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐานและวิธีการเลือกลงทุนใน Digital Asset เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากเทรนด์การลงทุนนี้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุน Digital Asset” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่