คิดอีกครั้งก่อนจะลงทุน บทเรียนการลงทุน 6 ข้อที่ได้จากหนังสือ Think Again

โดย ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3 Min Read
1 พฤศจิกายน 2564
1.845k views
Inv_คิดอีกครั้งก่อนจะลงทุน_Thumbnail
Highlights

6 บทเรียนการลงทุน ที่ได้จากหนังสือ Think Again จะชวนนักลงทุนมาลองคิดอีกครั้ง เพราะบางความรู้ บางทักษะ บางประสบการณ์ บางความเชื่อ ไม่ได้มีแค่ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่อาจมีผลเสียด้วย การยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด และไม่ยอมละทิ้งความรู้บางอย่างที่ใช้ไม่ได้แล้ว อาจเป็นหลุมพรางที่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จได้ช้า และไม่ไปไหน มาลองตั้งคำถามในเรื่องที่รู้ สงสัยในเรื่องที่ยังไม่รู้ และเติมความรู้ใหม่ ๆ กับบทความนี้

ถึงแม้ว่าหนังสือ Think Again ไม่ได้เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่เป็นหนังสือที่ได้ให้ข้อคิดดี ๆ หลายข้อที่สามารถนำมาปรับใช้กับการลงทุนได้เป็นอย่างดี

 

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Professor Adam Grant จาก Wharton Business School University of Pennsylvania ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือชื่อดังหลายเล่ม เช่น Give and Take และ Originals หนังสือเล่มนี้ Theme หลักคือการให้เรา “คิดอีกครั้ง” ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการลงทุนของเราได้ดังนี้

 

1. นักลงทุนหลายคนมีแนวโน้มที่จะปกป้องความเชื่อของตัวเองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทำตัวเป็นนักเทศน์ (Preacher) โดยพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เช่น อาจจะเชื่อว่าบริษัทนี้ดี ก็พยายามที่จะหาเฉพาะเหตุผลที่จะมาสนับสนุนว่าบริษัทนี้ดีอย่างที่เราเชื่อ ทำให้มองข้ามข้อเสียของบริษัทไป หรือทำตัวเป็นอัยการ (Prosecutor) คือ พยายามหาเหตุผลมาหักล้างความเห็นตรงข้ามกับสิ่งที่เราเชื่อ เช่น ถ้ามีใครมาท้วงว่าบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนนั้นไม่ดี นักลงทุนที่มีลักษณะของอัยการ ก็จะรีบไปหาข้อมูลมาแย้งความคิดเห็นเหล่านั้นทันที นอกจากนี้นักลงทุนบางคนอาจจะทำตัวเป็นนักการเมือง (Politician) คือนอกจากเราจะเชื่อแล้ว เรายังพยายามหากองเชียร์ที่คิดเหมือน ๆ กับเรา เช่น เราชอบบริษัทนี้ เราก็อาจจะไปพูดคุยหาเพื่อนที่ชอบบริษัทนี้เหมือน ๆ กันกับเรา เพื่อจะได้เสริมความเชื่อของเราเข้าไปอีก

 

ไม่ว่าจะเป็นบทบาทนักเทศน์ อัยการ หรือ นักการเมือง การกระทำในรูปแบบนี้จะทำให้เราหลงเชื่อในข้อดีต่าง ๆ มากจนลืมดูข้อเสีย และนั่นอาจจะนำพาเราไปสู่หายนะในการลงทุนได้

 

2. นักลงทุนที่ดีควรจะมีบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ (Scientist) นั่นคือ เราต้องรู้จักตั้งสมมติฐานกับความเชื่อดั้งเดิมของเราให้มาก ๆ เช่น เราเชื่อว่าบริษัทนี้ดี ลองตั้งคำถามว่ามีอะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อนของบริษัทนี้ อะไรที่จะทำให้บริษัทนี้ล้มละลาย พยายามค้นหาคำตอบต่าง ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ความคิดในลักษณะนี้จะนำพาเราไปสู่ความรู้ในมุมมองใหม่ ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน นั่นหมายความว่าโอกาสที่เราจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น

 

3. เป็นที่น่าสังเกตว่านักลงทุนที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ มักจะเป็นพวกที่มั่นใจมากจนเกินความรู้ของตนเอง ชอบให้ความเห็นในสิ่งที่ตนเองไม่ค่อยเชี่ยวชาญ ในทางกลับกันนักลงทุนที่เก่งมาก ๆ กลับไม่ค่อยมั่นใจในความรู้ของตัวเองมากนัก เพราะเนื่องจากเขารู้เยอะ เขาจึงรู้ว่ายังมีอะไรอีกเยอะมากที่เขายังไม่รู้ เราแทบไม่เห็นนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ฟันธงเลยว่าบริษัทนี้ดีที่สุด รับรองได้ว่าลงทุนแล้วไม่ผิดหวังอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเราคุยกับเพื่อน ๆ บางคน เรามักจะได้รับฟังความคิดเห็นทำนองนี้อยู่เสมอ

 

4. นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มั่นใจอะไรเลย แต่เขาจะมีลักษณะที่เรียกว่า Confident Humility คือ ในขณะที่เขามั่นใจในความรู้ของเขาระดับหนึ่ง แต่เขาก็จะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นอื่น ๆ ที่หลายครั้งก็อาจจะไม่ได้ตรงกับความเชื่อดั้งเดิมของเขา ด้วยลักษณะนี้เขาจะยิ่งพัฒนาความสามารถของเขาเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 

5. ในหลายครั้งหากเราต้องมีการตัดสินใจลงทุนเป็นกลุ่ม การที่เราจะทำให้คนอื่นเชื่อถือความเห็นของเรา เราควรเริ่มจากการรับฟังคนที่เห็นค้านเราก่อน และพยายามหาจุดที่เราเห็นตรงกันก่อน (Common Ground) อย่าพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของเรามากจนเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นทำให้อีกฝ่ายยิ่งต่อต้าน แทนที่จะหาเหตุผลเยอะแยะมาสนับสนุนความคิดเห็นของเรา ให้เลือกเหตุผลที่ดีมาก ๆ ไม่กี่ข้อก็พอ และที่สำคัญควรเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้มีทางเลือกในการตัดสินใจด้วยตนเอง แค่นี้โอกาสที่เขาจะเชื่อถือความคิดเห็นของเราก็จะมีมากขึ้น

 

6. ไม่ว่าจะทำการลงทุนในเรื่องใดก็ตาม ให้ตั้งคำถามกับความเชื่อของเราตลอด เพราะสิ่งที่เราคิดว่ามันใช่แน่ ๆ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป หรือสิ่งที่เคยใช่และเคยถูกต้อง ก็ไม่ได้หมายความว่าเวลาเปลี่ยนไปสิ่งนั้นจะถูกต้องต่อไป กลยุทธ์การลงทุนบางอย่างอาจจะเคยใช้ได้ผลในอดีตก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ต่อไปในอนาคต ยิ่งเราตั้งคำถามมาก ๆ ก็ยิ่งทำให้เราพัฒนาฝีมือเรามาก และก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

 

นี่เป็นบทเรียน 6 ข้อที่สกัดได้จากหนังสือที่ชื่อว่า Think Again ซึ่งถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาสำหรับเรื่องการลงทุนโดยเฉพาะ แต่บทเรียนที่ได้นี้สามารถนำมาใช้ได้กับการลงทุนของเราได้เป็นอย่างดี

 

คิดอีกครั้งก่อนลงทุน ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ


สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจ เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน...ด้วยการเรียนรู้หลุมพรางที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยล้มเหลว และไปไม่ถึงเส้นชัยในการลงทุน เรียนรู้อารมณ์และพฤติกรรมของตลาด ตลอดจนเข้าใจแนวทางการปรับทัศนคติ เเละกระบวนการทางความคิดที่ใช้ในการลงทุน เพื่อความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Mindset for Successful Investor” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: