บทบาทเศรษฐกิจพญามังกร ต่อเศรษฐกิจโลกปี 2566

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
11 มกราคม 2566
2.649k views
Inv_บทบาทเศรษฐกิจพญามังกร ต่อเศรษฐกิจโลกปี 2566_Thumbnail
Highlights

แม้ว่าปี 2566 ภาพการลงทุนทั่วโลกจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงการมีฉากทัศน์ใหม่ ๆ ให้นักลงทุนได้ศึกษา เรียนรู้ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีข่าวดี เมื่อจีนได้ผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ทำให้ผู้คนสามารถเดินทาง บริโภค และจับจ่ายใช้สอยได้คล่องตัวขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะดีต่อเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกอีกด้วย นั่นหมายความว่า จะทำให้ภาพการลงทุนฟื้นตัว จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อนักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนต่างประเทศ

Jamais Cascio นักพฤติกรรมศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ได้อธิบายถึงอนาคตโลกที่มีการปรับเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะหลังจากวิกฤติ COVID-19 ด้วยคำว่า BANI ที่มาแทนคำว่า VUCA (V-Volatility ความผันผวน, U-Uncertainty ความไม่แน่นอน, C-Complexity ความซับซ้อน, A-Ambiguity ความคลุมเครือ) โดยได้กล่าวถึงฉากทัศน์ใหม่ของโลกที่จะประกอบไปด้วย

  • B-Brittle ความเปราะบาง จากเทคโนโลยีต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจที่ไม่ปรับตัวถูก Disrupt หรือล้มหายตายจากได้ง่าย ๆ
  • A-Anxious โลกที่เต็มไปด้วยความกังวล ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เช่น ผลจากภาวะเงินเฟ้อ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส สงคราม เป็นต้น จากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วจากเทคโนโลยีทำให้มนุษย์เกิดความกังวลขึ้นได้ง่าย
  • N-Nonlinear กล่าวคือ ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง การคาดเดาจะเกิดขึ้นได้ยาก เช่น ความคิดที่ว่าสงครามในยุคปัจจุบันจะเป็นในรูปสงครามเศรษฐกิจมากกว่าสงครามจริงเพราะโลกพัฒนาไปมากนั้นไม่จริง จากเหตุสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ปะทุขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเวลารวดเร็ว หรือแม้แต่สงครามจีนกับไต้หวัน ที่อาจรอวันปะทุ
  • I-Incomprehensible โลกที่เข้าใจได้ยาก เพราะประกอบด้วยข้อมูลมหาศาล (Big Data) แต่การประมวลผลนั้น สุดท้ายแล้วก็อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เนื่องจากมีข้อมูลใหม่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ประวัติศาสตร์อาจไม่จำเป็นต้องซ้ำรอยเสมอไป

 

การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ในปี 2565 เป็นอีกปีที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย รวมทั้งความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงมาก แต่ประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ ณ ขณะนี้ที่อาจส่งผลถึงภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลก คือ เรื่องการยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ของจีน ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกกว่า 1.4 พันล้านคน และเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วน GDP ประมาณ 19% ไล่จี้อันดับหนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกามาติด ๆ

 

โดยบทวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ประเมินว่าจีนจะกลับมาเปิดเมืองในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนเติบโตราว 5% และสูงกว่าภาพรวมเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตเพียง 3.7% และไม่เพียงเท่านั้น การที่จีนกลับมาเปิดเมืองจะช่วยส่งผลบวกต่อฉากทัศน์รวมของเศรษฐกิจโลกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีสัดส่วนการบริโภคมากที่สุดในโลก ดังนั้น เมื่อจีนฟื้นตัวจึงเป็นผลบวกที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ดีต่อเศรษฐกิจโลก

จากสถิติของ Morgan Stanley เผยว่าหากจีนมีการเปิดเมืองจะส่งผลให้มูลค่าการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้น 1% และจะหนุนรายได้ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมจีน) เพิ่มขึ้นอีก 0.05% ขณะที่รายได้ของสหรัฐอเมริกาและ ยุโรป จะเพิ่มขึ้น 0.10% และ 0.03% ตามลำดับ พูดง่าย ๆ เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจะส่งผลบวกต่อภาพรวมทั้งเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลก

 

ดีต่อราคาน้ำมัน

จากจำนวนประชากรของจีนที่มากถึง 1.4 พันล้านคน จึงเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ดังนั้นการที่จีนกลับมาเปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพื่อใช้ในการเดินทางมากขึ้น โดย Morgan Stanley คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 เป็นต้นไป และอาจหนุนราคาน้ำมันโลกให้กลับมาปรับตัวขึ้นสู่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

 

ดีต่อห่วงโซ่อุปทาน

เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของโลก การผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID ย่อมเป็นปัจจัยหนุนภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้กลับมาสู่สภาวะปกติ คลี่คลายปัญหาห่วงโซ่อุปทานของโลกหยุดชะงักที่เคยเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา

 

ช่วยบรรเทาอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา

การเปิดเมืองของจีนจะช่วยลดปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยบรรเทาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบันได้ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีนที่สัดส่วนสูงราว 19% โดย Morgan Stanley คาดว่าอาจส่งผลให้ดัชนีวัดการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 4% ภายในกลางปี 2566 และลดลงสู่ 2.9% ภายในสิ้นปีเดียวกัน

 

ผมประเมินว่าจีนได้เริ่มส่งสัญญาณในการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้เห็นประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำต่าง ๆ รวมถึง APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่งผลให้หุ้นจีนนำโดยดัชนี CSI 300 ฟื้นประมาณ 15% ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งก็ประจวบเหมาะเมื่อเทียบกับสถิติในอดีตที่หุ้นจีนมักปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (จัดทุก 5 ปี)

 

กล่าวโดยสรุป ประเมินว่าการลงทุนทั่วโลกในปี 2566 จะยังเป็นอีกปีที่มีความท้าทาย แต่การกลับมาเปิดเมืองของจีน ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่เชื่อว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกดีขึ้นกว่าปี 2565

 

สำหรับนักลงทุนไทย ที่มีความสนใจและต้องการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถลงทุนในต่างประเทศได้จากหลากหลายสินทรัพย์ลงทุนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย ยิ่งไปกว่านั้น สามารถซื้อขายได้ด้วยบัญชีเดียวกันกับบัญชีซื้อขายหุ้นและเป็นสกุลเงินบาท เช่น DR, DRx, ETF และ DW นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศได้ผ่าน Application Streaming for Fund ของตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนแล้ว ยังเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ทางเลือกลงทุน และวิธีการลงทุนในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุนต่างประเทศ” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: