หากจะลงทุนอย่างยั่งยืน จะเริ่มต้นวิเคราะห์อย่างไร

โดย ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 Min Read
29 ตุลาคม 2564
4.038k views
Inv_หากจะลงทุนอย่างยั่งยืน จะเริ่มต้นวิเคราะห์อย่างไร_Thumbnail
Highlights
  • การที่บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลนั้น จะส่งผลบวกย้อนกลับมายังผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท และจะย้อนกลับมาสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุน

  • การวิเคราะห์เพื่อค้นหาหุ้นยั่งยืน ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ว่ากิจการนั้น มีการจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลอย่างไร มีความจริงจังในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และการดำเนินการเหล่านั้นส่งผลต่อตัวเลขทางการเงินในงบการเงินของกิจการในด้านใดบ้าง

เมื่อกล่าวถึงการลงทุนอย่างยั่งยืน นักลงทุนหลายท่านมักจะเข้าใจว่าเป็นการลงทุนที่ทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว อีกทั้งนักลงทุนมักจะคิดว่าอาจได้รับผลตอบแทนทางการเงินที่น้อยลง เช่น เมื่อกิจการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะนำมาสู่ความจำเป็นที่กิจการจะต้องมีการลงทุนที่สูง และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม จนทำให้ผลการดำเนินงานของกิจการไม่มีกำไรสูงตามที่คาดหวังไว้ เป็นต้น

 

ความคิดเห็นดังกล่าวไม่ค่อยถูกต้องมากนัก เพราะในความเป็นจริงการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental, E) สังคม (Social, S) และบรรษัทภิบาล (Governance, G) นั้น ไม่ได้เพียงทำให้กิจการเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่การดำเนินงานต่าง ๆ ของกิจการจะย้อนกลับมาสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุนได้ในที่สุด

 

ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี จะมีความเสี่ยงที่จะโดนค่าปรับจากภาครัฐจากเหตุการณ์ทำลายสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง หรือบริษัทที่ทำดีต่อสังคม ลูกค้า และพนักงาน จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกระแสสังคมสร้างประเด็นมาต่อต้านการบริโภคสินค้าและบริการของกิจการลดน้อยลงเช่นกัน เป็นต้น

 

ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนจะต้องตระหนักสำหรับการลงทุนอย่างยั่งยืน ก็คือ จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการที่กิจการปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เป็นเลิศทั้งในมิติของ E S และ G นั้น เป็นการกระทำที่ส่งผลบวกย้อนกลับมายังผลการดำเนินงานด้านการเงินของกิจการในมิติใด เมื่อนักลงทุนมีความเข้าใจดังนี้แล้ว สิ่งแรกที่สำคัญของการวิเคราะห์ คือ ประเด็นการจัดการด้าน E S G นั้นมีอะไรบ้าง

 

ตัวอักษร E ที่สะท้อนสิ่งแวดล้อม หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการดำเนินงานที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดขยะ และการไม่ทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศน์

 

ตัวอักษร S ที่หมายถึงมิติทางสังคมนั้น ไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่การไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบเท่านั้น แต่รวมถึงการบริหารจัดการลูกค้า การไม่หลอกลวงลูกค้า การดูแลพนักงานอย่างเป็นธรรม มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำงาน มีการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การไม่เบียดเบียนด้านเชื้อชาติ ภาษา หรือเพศ ด้วย

 

ตัวอักษร G สะท้อนมิติด้านบรรษัทภิบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านโครงสร้างคณะกรรมการและทีมผู้บริหาร การมีนโยบายที่ลดปัญหาด้านข้อกฎหมายและศีลธรรม เช่น การไม่ติดสินบน การไม่ทำผิดกฎหมาย และการทุจริต เป็นต้น

 

หัวข้อปลีกย่อยต่าง ๆ ข้างต้น เปรียบเสมือนเป็น Check lists ที่นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดว่ากิจการที่สนใจจะลงทุนนั้น มีการจัดการในแต่ละประเด็นปลีกย่อยหรือไม่ ถ้าประเด็นใดไม่มีการให้ความสำคัญจะถือเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทแย่ลงได้ในบางช่วงเวลา

 

นอกจากนี้นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่าการจัดการของบริษัทในแต่ละประเด็นข้างต้นนั้น บริษัททำอย่างไร มีความจริงจังในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และการดำเนินการเหล่านั้นส่งผลต่อตัวเลขทางการเงินในงบการเงินของกิจการในด้านใดบ้าง การวิเคราะห์ E S G ด้วยวิธีการนี้จึงเรียกว่า Integration Approach

 

วิธีการข้างต้นนั้นต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลโดยบริษัทค่อนข้างมาก ในปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นความสมัครใจของบริษัทผ่านรายงานที่มักจะเรียกว่า Sustainability Report หากบริษัทใดไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด นักลงทุนจะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงทุน และในบางครั้งอาจตัดสินใจไม่ลงทุนในบริษัทดังกล่าวก็ได้ เพราะถือว่าไม่มีข้อมูลด้านความยั่งยืนในการดำเนินกิจการที่เพียงพอ และอาจส่งผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนจากเหตุไม่คาดฝันที่บริษัทบริหารจัดการผิดพลาดในบางเรื่องได้

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการออกกฎเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยรายงานของบริษัทจดทะเบียน โดยลดภาระในการส่งรายงานแบบ 56-1 และแบบ 56-2 (Annual report) ลง และให้บริษัทรายงานข้อมูลในแบบรายงานใหม่ที่เรียกว่า One Report ซึ่งโครงสร้างเนื้อหาในรายงานที่สำคัญคือ บริษัทจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดการที่เกี่ยวกับ E S และ G ร่วมด้วย รายงานฉบับดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้และมีการเปิดเผยสำหรับผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาสิ้นสุดปี 2564 เป็นต้นไป

 

การวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัทในแต่ละมิติของความยั่งยืน และการสร้างความเชื่อมโยงของการดำเนินงานดังกล่าวต่อผลการดำเนินงานด้านการเงินอาจมีความซับซ้อน และยากที่จะเข้าใจได้โดยง่าย ดังนั้นอีกวิธีการหนึ่งที่ง่าย และนักลงทุนสามารถลงทุนอย่างยั่งยืนได้ทันที คือ การวิเคราะห์ที่ลักษณะของผลิตภัณฑ์และกิจการของบริษัทว่าเป็นหมวดที่สอดคล้องต่อประเด็นทางจริยธรรมและศีลธรรมของสังคมหรือไม่

 

นักลงทุนอาจมีการกำหนดว่า หากกิจการมียอดขายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์หรือบริการใด ที่ขัดต่อค่านิยมของสังคมหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกินกว่าสัดส่วนใด นักลงทุนจะตัดสินใจไม่ลงทุนในกิจการดังกล่าวเลย การไม่ลงทุนในกิจการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพียงเท่านั้น แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจการดังกล่าวอาจถูกกระทบจากนโยบายของภาครัฐ หรือค่านิยมของสังคมที่ต่อต้านการบริโภคสินค้าและบริการดังกล่าวด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในกิจการที่ผลิตบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาวุธทางทหาร หรือถ่านหิน จะเป็นกิจการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ และการรณรงค์ของสังคมที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการขาย การกำหนดเวลาขาย หรือการยกเลิกไม่ให้มีการบริโภคในสินค้าดังกล่าวเลย เป็นต้น วิธีการลงทุนที่ไม่ลงทุนในบางกิจการนี้เรียกว่า Exclusion Approach

 

นอกจากการวิเคราะห์ในแบบ Integration และ Exclusion Approach ข้างต้นแล้ว การลงทุนอย่างยั่งยืนอีกประเภทหนึ่งคือ การลงทุนเฉพาะในกิจการที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในกิจการที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ดูแลสิ่งแวดล้อม หรือการลงทุนในกิจการที่พยายามนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น

 

การลงทุนแบบสุดท้ายนี้ เรียกว่า Impact Investing เป็นการลงทุนอย่างยั่งยืนที่สอดรับกับแนวคิดของการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ดีต่อนักลงทุนเช่นกัน เพราะกิจการที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคมมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางภาษี หรือการรณรงค์ให้เกิดการบริโภคเป็นวงกว้าง และสุดท้ายกิจการก็อาจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยอดขายและกำไรได้ในอนาคต

 

กล่าวโดยสรุป การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น แต่นักลงทุนยังคงสามารถแสวงหากำไร และผลตอบแทนที่สูงโดดเด่นได้เช่นเดิม นอกจากนี้นักลงทุนยังได้รับประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นของกิจการที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนมักจะมีความผันผวนต่ำ เพราะโอกาสที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันด้านลบจะเกิดขึ้นต่อกิจการนั้นมีน้อยลงอีกด้วย


สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน และต้องการสร้างโอกาสการลงทุนในหุ้นยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุนหุ้น ESG ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือดูรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ปีล่าสุด >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: