“ใครเคยทำงบการเงินของตัวเองบ้างยกมือขึ้น ทำไมผมไม่เห็นคนยกมือเลยครับ” นี่คือคำถามที่ผมมักจะถามผู้เข้าเรียนคอร์สที่เกี่ยวกับการลงทุนของผม และคำตอบที่ผมได้รับคือไม่มีใครทำ
ทำไมผมถึงถามคำถามนี้ ผมขอตอบคำถามนี้แบบยกตัวอย่างให้เห็นละกันว่า บริษัทที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศหรือแม้กระทั่งในโลกไม่ว่าจะเล็ก กลาง หรือใหญ่ ขนาดไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่จัดทำงบการเงินบริษัททั้งสิ้น เพราะงบการเงิน คือ งบที่แสดงฐานะทางการเงินของบริษัทได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของความมั่นคงและความสามารถในการทำกำไร ทั้งนี้จะได้นำข้อมูลในงบการเงินไปปรับปรุงและพัฒนาบริษัทให้มีคุณภาพมากขึ้น (ไม่ได้จัดทำมาเพื่อเสียภาษีให้ภาครัฐอย่างเดียวนะครับ) สำคัญถึงขนาดคนเรียนด้านการตลาด การบัญชี การเงิน หรือ เศรษฐศาสตร์ ล้วนแล้วแต่ต้องเรียนรู้วิธีการจัดทำงบการเงินสำหรับผู้บริหารเพื่อนำไปใช้ในการประเมินบริษัทกันทั้งนั้น แยกออกจากการจัดทำงบการเงินตามกฎหมายหรือตามมาตรฐานทางบัญชีกันเลยทีเดียว
ดังนั้น เราต้องประเมินก่อนว่าปัจจุบันเรามีสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในอนาคตว่าเราจะวางแผนการออมการลงทุนอย่างไร นอกจากนั้นเราจะได้รู้ว่าเราควรจัดการเรื่องการหารายได้และการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร เพื่อสุดท้ายเราจะก้าวไปสู่เป้าหมายการมีอิสรภาพทางการเงินได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่ผมจะคุยในบทความต่อ ๆ ไป
การสร้างงบการเงินของตัวเองหรือของครอบครัวถือเป็นก้าวแรกที่เราต้องทำเพื่อบริหารจัดการเงิน ก่อนที่เราจะไปตั้งคำถามว่าเราจะลงทุนอะไร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน คริปโตเคอร์เรนซี และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสร้างรายได้เสริม หรือสร้างสินทรัพย์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะหากแม้กระทั่งสถานะทางการเงินของเราเป็นยังไง เรายังไม่รู้ แล้วเราจะก้าวต่อไปอย่างไร เช่น จะเริ่มลงทุนอะไร ลงทุนเท่าไร ลงทุนนานแค่ไหน รับความเสี่ยงได้เท่าไร และอีกหลายคำถามที่เราจะตอบไม่ได้หรือตอบได้ไม่ชัดเจน หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือตอบผิด และส่งผลให้ก้าวต่อ ๆ ไปของเราผิดไปด้วย เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อไปก็ไม่ต้องพูดว่าจะถูก
งั้นเรามาเรียนรู้กันว่า เราจะสร้างงบการเงินส่วนตัวได้อย่างไร ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่างบการเงินแบ่งออกเป็น 3 งบหลัก ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบแสดงกระแสเงินสด แต่เราจะเน้นและใส่ใจแค่ 2 งบ นั่นคือ งบดุลและงบกำไรขาดทุน โดยในตอนนี้เรามาเรียนรู้การสร้างงบดุลแบบง่าย ๆ กันก่อน (สำคัญจริง ๆ อยากให้เริ่มทำกัน)
งบดุล คือ งบที่แสดงฐานะทางการเงิน ประกอบไปด้วยสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนทุน (ดังรูป) โดยสินทรัพย์จริง ๆ หากเป็นของบริษัทมีความหลากหลายมาก ๆ แต่ในงบดุลส่วนตัวผมขอแบ่งออกเป็น 4 สินทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ผมข้อเน้นย้ำไว้สองเรื่อง คือ หนึ่ง ไม่ว่าจะบันทึกมูลค่าของสินทรัพย์ใดก็ตาม ผมขอให้บันทึกเฉพาะสินทรัพย์ที่คาดว่าจะขายแล้วได้ราคากลับมา ไม่ต้องบันทึกสินทรัพย์ที่ต้องทิ้งหรือขายแล้วไม่ได้ราคาแน่นอน สอง สินทรัพย์ที่สามารถบันทึกราคาตลาดได้ง่าย เช่น หุ้น กองทุนรวม ถ้าอัปเดตทุกเดือนได้จะดีมาก
ส่วนของหนี้สิน มีทั้งเงินกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อโทรศัพท์มือถือ เงินกู้บัตรเครดิต เงินกู้ส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งจ่ายแบบผ่อน 0% 10 เดือน ทั้งนี้หากมีการชำระเงินต้นคืนแล้วก็ให้นำมาลบออก และสุดท้ายคือ ส่วนทุน หรือฐานะสินทรัพย์จริง ๆ ที่เรามีอยู่ ซึ่งไม่ต้องบันทึกอะไร เพราะส่วนทุน คือ ส่วนของสินทรัพย์รวม แล้วนำมาลบด้วยหนี้สิน ซึ่งหากเป็นบวกในปริมาณที่มากกว่ารายได้ 12 เดือนขึ้นไป ผมขอแสดงความยินดีด้วย อย่างน้อยท่านก็มีฐานะเป็นบวก แต่เพียงแค่ 12 เท่าของรายได้ต่อเดือนนั้นไม่พอหากเราต้องการเกษียณหรือต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน แต่ต้องการส่วนทุนเท่าไรผมจะมาตอบในตอนต่อไป และท่านต้องมีงบกำไรขาดทุนส่วนตัวมาประกอบการพิจารณาด้วย
อย่างไรก็ตาม การมีงบดุลอย่างน้อยท่านจะได้รู้ว่าฐานะท่านเป็นอย่างไร ยิ่งหากเป็นบวกไม่มากหรือถึงขั้นติดลบ ภาษาทางการเงินเขาจะเรียกว่า “มีหนี้สินล้นพ้นตัว” ยิ่งต้องระมัดระวังตัวไม่ใช้เงินเกินตัวอีก และต้องตระหนักว่าเราต้องทำบางอย่างแล้วละหากอยากมีอิสรภาพทางการเงิน ที่คนไทยมีเพียง 5% หรืออาจน้อยกว่าที่ทำได้
ดังนั้น หากส่วนทุนของเรามีจำนวนน้อย และหากน้อยกว่าหนี้สินก็แสดงว่าฐานะของเรายังไม่ดีพอ ให้เราเริ่มพยายามทำตามนี้ ตั้งแต่วันนี้เลยคือ “ลดหนี้สินให้เร็วที่สุด” ซึ่งสามารถทำได้สองวิธี
อย่างไรก็ตาม การคืนหนี้สินให้ได้เร็วที่สุดนั้น เราจำเป็นต้องทำอีกงบหนึ่ง นั้นคือ งบกำไรขาดทุน หรือจริง ๆ สำหรับเรา คือ งบรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเราได้ทำครบทั้ง 2 งบ แล้วเราจะได้รู้อะไรหลายอย่าง เช่น จะต้องมีสินทรัพย์เท่าไรถึงจะเกษียณได้ จะต้องลงทุนเท่าไร ลงทุนอย่างไรเพื่อให้เกษียณได้ และสามารถมีชีวิตหลังเกษียณอย่างสบายได้อย่างไร นั้นคือที่มาว่า ทำไมผมถึงต้องให้ทุกคนสำรวจตัวเองก่อน และเริ่มด้วยการพยายามทำให้ส่วนของทุนเราเพิ่มขึ้นให้ได้ก่อน หลังจากนั้นในตอนต่อไปเราจะมาเรียนรู้กันว่าจะทำให้ส่วนทุนของเราเพิ่มขึ้นให้เร็วขึ้นได้อย่างไร
สำหรับมือใหม่หรือผู้ที่สนใจเรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทน ความเสี่ยง และภาษีจากการลงทุน ตลอดจนการวิเคราะห์หุ้น วิธีการซื้อขายหุ้น และสิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่