จับจังหวะสายลมเปลี่ยนทิศด้วย 3 ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนช่วงต้นปี 2566

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
2 Min Read
6 มกราคม 2566
1.589k views
Inv_จับจังหวะสายลมเปลี่ยนทิศด้วย 3 ปัจจัยฯช่วงต้นปี 2566_Thumbnail
Highlights

การลงทุนในปี 2566 แม้จะเป็นปีที่ท้าทาย แต่ก็เป็นปีแห่งโอกาสด้วยเช่นกัน โดย 3 ปัจจัยที่กำลังเปลี่ยนทิศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย สหรัฐฯ รอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจีนเปิดเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจ ล้วนเป็นโอกาสในการลงทุน

ตลาดการเงินและตลาดทุนเผชิญความผันผวนอย่างรุนแรงในปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งแรง กดดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก จนธนาคารกลางแทบทุกประเทศต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรง ทำให้ต้นทุนการเงินพุ่งสูง จนครัวเรือนชะลอการบริโภค เอกชนเลื่อนลงทุน อีกทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์เผชิญความท้าทายจากยอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง แต่ความผันผวนที่เปรียบเสมือนพายุรุนแรงย่อมมีวันสงบ เพียงแต่พายุลูกใหญ่อาจต้องใช้เวลาก่อนที่จะเบากำลังลง ทำให้มีธุรกิจหลายแห่งอาจอ่อนล้าและล้มลงก่อนที่พายุจะสงบ และอาจเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ลากยาวเหมือนที่หลายคนได้กังวล ปี 2566 กำลังจะเป็นอีกปีแห่งความท้าทาย แต่หากเราผ่านปี 2565 มาได้ การลงทุนในตลาดทุนปีนี้ยังเป็นโอกาส โดยผมมองว่าน่าจะจับจังหวะของสายลมที่กำลังจะเปลี่ยนทิศด้วย 3 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

 

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ลดความร้อนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย

หลังเงินเฟ้อเริ่มลดลงอย่างชัดเจน และมีสัญญาณว่าผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาสู่ตลาดได้มากขึ้น ค่าแรงเริ่มเติบโตน้อยลง ขณะที่ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เราน่าจะเห็นการปรับตัวของฝั่งอุปสงค์และอุปทานให้สมดุลกันมากขึ้น นักลงทุนอาจเริ่มคาดหวังว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นจะเริ่มทรงตัวและปรับย่อลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งหากนักลงทุนจะหาโอกาสทำกำไรจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่จะย่อลง ก็สามารถทยอยเข้าสะสมในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ระยะสั้น ด้วยคาดหวังว่าราคาสินทรัพย์จะขยับขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนกังวลในด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือห่วงว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าเร็วในช่วงต้นปี นักลงทุนอาจให้น้ำหนักการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศแทนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่อาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้นักลงทุนอาจหาหุ้นกู้ของบริษัทที่มีพื้นฐานการเงินดี มีอันดับความน่าเชื่อถือในเกณฑ์ที่เข้าลงทุนได้ และให้อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม

 

  1. สหรัฐฯ รอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัวจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง เฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินเฟ้อเริ่มลดลงแต่ก็ได้กดดันให้คนอเมริกันชะลอการบริโภคและการลงทุนด้วย และการจ้างงานเริ่มมีสัญญาณเติบโตช้าลง อัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ผมไม่ได้คิดว่าจะมีคนขาดรายได้มากพอที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรง อัตราการว่างงานอาจเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 3.7% ในช่วงปลายปี 2565 เป็นระดับ 4.7% ในปลายปี 2566 และเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวจากที่ขยายตัว 2.0% ในปี 2565 เป็น 0.1% ในปี 2566 แต่ทั้งอัตราการว่างงานที่ยังต่ำกว่าระดับ 5% และตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังไม่ติดลบรุนแรงในปี 2566 น่าจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ยังแข็งแกร่งตามการเติบโตของรายได้ ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังช่วยประคองเศรษฐกิจ มีเพียงการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่น่าเป็นห่วง แต่ไม่น่าจะรุนแรงจนกระทบสถาบันการเงินเหมือนวิกฤติรอบก่อน ๆ

 

โดยเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังน่าจะเติบโตได้แม้อาจมีการปรับลดคาดการณ์ในช่วงต้นปีและอาจทำให้ราคาหุ้นสหรัฐฯ ปรับย่อลงและอาจกดดันตลาดทุนทั่วโลก แต่ผมมองเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดี โดยกระจายการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก แต่เน้นให้น้ำหนักในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เลือกบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผล มีกระแสเงินสดแข็งแกร่ง ซึ่งนักลงทุนอาจหาโอกาสการลงทุนด้วยปัจจัยทางเทคนิคประกอบการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน หรือเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนด้วยการเข้าซื้อหุ้นมูลค่าถูกและหาจังหวะทำกำไรในช่วงที่ตลาดฟื้นตัวในระยะสั้น นอกจากกองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ทั่วไปแล้ว แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่นักลงทุนที่กังวลในตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง อาจเลือกกองทุนรวมประเภทสุขภาพ หรือ Healthcare ที่มีนโยบายการลงทุนในบริษัทยาหรือบริการทางการแพทย์ที่มีความผันผวนต่ำและมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่มากเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนจากดอกเบี้ยขาขึ้น

 

  1. จีนเปิดเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจ
จีนปรับทิศจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์สู่การเปิดเมืองและอาจจะอยู่ร่วมกับโควิดได้เหมือนประเทศอื่น ๆ ได้ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจจีนดีขึ้น ในอนาคตคนจีนน่าจะมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย กล้าเดินทางและใช้ธุรกิจภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร ขนส่ง และโรงแรมมากขึ้น แม้ในระยะสั้นคนอาจจะกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูง แต่เมื่อเห็นสัญญาณจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง คนจีนจะมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถอยู่ร่วมกับโควิดเช่นในประเทศอื่นได้มากขึ้น
 
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาที่คนจีนระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงล็อกดาวน์ เงินออมในประเทศจีนเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง เมื่อจีนเปิดเมืองอย่างชัดเจน คนที่อัดอั้นการเดินทางและการใช้จ่ายจะมีส่วนสนับสนุนให้การบริโภคภายในประเทศของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งรัฐบาลจีนน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน รวมทั้งการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่รัฐบาลจีนเคยเข้มงวดต่อธุรกิจด้านเทคโนโลยีในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมออนไลน์ การขายของออนไลน์ และการเรียนพิเศษออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งน่าจะสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีและด้านนวัตกรรมของจีน โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลาง-เล็ก มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจีนยังอยากเน้นการกระจายรายได้ให้กับคนหมู่มากในประเทศ และไม่อยากสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่มากเกินไป ซึ่งโดยรวมโอกาสในการลงทุนในจีนทำได้ทั้งกลุ่มการบริโภคในจีนและกลุ่มเทคโนโลยีจีน
 
เมื่อจีนฟื้นตัว ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกน่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของกำลังซื้อคนจีน โดยเฉพาะการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจากจีนด้วย ซึ่งการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศนี้ในปี 2566 ก็นับว่ายังเติบโตได้ แม้ในหลายประเทศอาจชะลอจากปี 2565 บ้าง แต่ยังไม่น่ามีปัญหาถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเริ่มลดลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางในประเทศเหล่านี้อาจหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างเร็วในช่วงไตรมาสแรก และอาจพลิกกลับไปลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี ซึ่งน่าจะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้ตลาดทุนในประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มเติมจากกระแสทุนเคลื่อนย้ายที่จะไหลจากสหรัฐฯ มาตลาดเกิดใหม่ในเอเชียหลังเฟดหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: