หากพูดถึงการจัดลำดับการถอนเงินสำหรับวัยเกษียณ หลายคนอาจสงสัยว่าควรถอนสินทรัพย์อะไรก่อน-หลัง เพื่อให้เงินที่เก็บออมไว้สามารถใช้ได้เพียงพอจนถึงวันสิ้นลมหายใจและยังเหลือเป็นมรดกให้ลูกหลานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นก่อนจะถอนเงินออกมาใช้ ควรรวบรวมข้อมูลของสินทรัพย์ทั้งหมดไว้ในที่เดียวกัน เช่น จดบันทึกลงในสมุด จดบันทึกลงในแอปพลิเคชัน หรือจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์ Excel เป็นต้น เพื่อเห็นภาพรวมของสินทรัพย์ทั้งหมด จากนั้นจึงวางแผนจัดการการถอนเงินในลำดับถัดไป
หลักการถอนเงินสำหรับวัยเกษียณที่เป็นที่นิยม เรียกว่า 3 Buckets of Retirement หมายถึง การแบ่งเงินออกเป็น 3 ถัง โดยถังที่ 1 เป็นถังสำหรับการถอนเงินออกมาเพื่อใช้จ่ายในระยะสั้น ควรเป็นสินทรัพย์หรือเงินที่มีสภาพคล่องสูง ส่วนอีก 2 ถังที่เหลือให้นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงแตกต่างกัน เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเกิดความเสี่ยงแล้วจะไม่มีเงินใช้จ่าย
ถัง 1 : ถังสภาพคล่อง เป็นถังสำหรับการเก็บเงินระยะสั้น โดยคำนึงถึงแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน โดยถังใบนี้ควรมีเงินเตรียมสำหรับการใช้จ่ายให้เพียงพอประมาณ 12 เดือนอยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่เกิดความกังวลใจหากต้องการถอนเงินออกมาใช้แบบเร่งด่วน โดยไม่ไปกระทบกับเงินในถังใบอื่นหรือถึงขั้นขายของสะสมเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
ถัง 2 : ถังเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง เป็นถังที่ใช้สำหรับลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง มีระยะเวลาการลงทุนได้ 3 - 5 ปี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าถังใบแรก แต่ข้อที่ต้องระมัดระวัง ก็คือ ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากจนเกินไป เพราะวัตถุประสงค์ของเงินในถังใบนี้ คือ เพื่อสร้างรายได้และมีความมั่นคง เพื่อนำเงินไปเติมในถังใบแรก ซึ่งเป็นเงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำหรือเพื่อยามฉุกเฉิน โดยสินทรัพย์ลงทุนควรเน้นเงินฝากประจำ สลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตดี กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่ดีไปกว่านั้นควรเน้นลงทุนแล้วได้รับเงินปันผลสม่ำเสมอ
ถัง 3 : ถังเสี่ยงสูง เป็นถังที่มีระยะเวลาการลงทุน 5 ปีขึ้นไป ดังนั้น สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้และคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูงได้ ซึ่งผลตอบแทนจากถังใบนี้จะไปเติมในถังสองใบแรก โดยลักษณะสินทรัพย์ลงทุน เช่น หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หุ้นปันผล กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสม เป็นต้น แต่เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจึงมีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องหมั่นตรวจสอบพอร์ตลงทุนสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าสินทรัพย์ลงทุนยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจอยู่ ขณะเดียวกันเป็นการลดความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนโดยรวม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเตรียมตัวเกษียณเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุและพบว่าหลายคนไม่ได้มีการเตรียมเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือบางคนยังเชื่อว่าสามารถพึ่งพาลูกหลานหรือภาครัฐได้จึงไม่ได้เตรียมตัวเอาไว้
และที่สำคัญไปกว่านั้น ถึงแม้จะวางแผนเพื่อเกษียณได้อย่างลงตัว แต่เมื่อเกษียณไปแล้วและถอนเงินออกมาใช้แบบตามใจตัวเองหรือใช้เงินจนเกินตัวย่อมมีโอกาสเห็นเงินหมดเร็วและส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้น การบริหารเงินและเทคนิคการถอนเงินออกมาใช้จึงต้องวางแผนให้รอบคอบเพื่อทำให้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายตามที่ได้วางแผนไว้
สำหรับใครที่อยากรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่