กลยุทธ์การลงทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

โดย ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
11 มกราคม 2565
3.741k views
Inv_กลยุทธ์การลงทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก_Thumbnail
Highlights
  • ภาคการส่งออกมีมูลค่าและสัดส่วนสูงมากใน GDP ของประเทศ โดยได้มีการฟื้นตัวที่ดีมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นับเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

  • ในปี 2563 มี 312 บริษัทจดทะเบียนไทยได้เปิดเผยรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 2.96 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูง คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มทรัพยากร

  • จากการทดลองสร้างพอร์ตการลงทุน โดยลงทุนในบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูง พบว่า ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลัง COVID-19

ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจหลัก ๆ ในโลกจะฟื้นตัวได้ดีตามความพร้อมด้านสาธารณสุขและการกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Reopening) ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา (GDP) คาดว่าจะเติบโตได้ 6% ในปี 2564 และ 5.2% ในปี 2565 สำหรับประเทศไทยที่เริ่มทยอยกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ 1% ในปี 2564 และฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้นที่ 4.5% ในปี 2565 (ประเมินโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ : IMF)

 

อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกซึ่งมีมูลค่าและสัดส่วนสูงมากใน GDP ของประเทศ ได้มีการฟื้นตัวที่ดีมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยฟื้นตัวได้ 5% ในไตรมาสที่ 1, 36.2% ในไตรมาสที่ 2, และ 15.7% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 นับเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ

 

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และมีรายได้จากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลการลงทุนทางตรงและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน (รวบรวมข้อมูลจากการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปีและแบบรายงาน 56-1) ในปี 2563 พบว่า 312 บริษัทจดทะเบียนได้เปิดเผยข้อมูลรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 2.96 ล้านล้านบาท และสัดส่วนของรายได้จากต่างประเทศเปรียบเทียบกับรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหุ้นไทย เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 19% ในปี 2554 เป็นสัดส่วน 26% ในปี 2563 หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูง คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มทรัพยากร

 

สร้างพอร์ตการลงทุนธีม Global Play

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ขอเสนอการทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนโดยใช้ฐานข้อมูลรายได้จากต่างประเทศที่รวบรวมมา เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางในการวิเคราะห์และเลือกลงทุนที่เน้นการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีรายได้จากต่างประเทศ ด้วยการทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนออกเป็น 2 พอร์ตการลงทุนหลัก

 

  1. พอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ (Global Play – Large Cap)

การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดมากกว่า 5,000 ล้านบาท มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 2,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 25% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหุ้นมากกว่า 5%

 

  1. พอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Global Play – Mid & Small Cap)

การลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ประกอบด้วยหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดอยู่ในขนาดกลาง-เล็ก มีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 10% และจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-Float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้วของบริษัท และอัตราส่วนหมุนเวียนหุ้นมากกว่า 0.5%

           

ทั้ง 2 พอร์ตการลงทุนจะใช้วิธีการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดและจำกัดน้ำหนักของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตการลงทุนไม่เกิน 5% ในทุกรอบที่มีการปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) ซึ่งมีรอบระยะเวลาในการปรับทุกครึ่งปี และคัดเลือกหุ้นด้วยวิธีการวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top-Down Approach) โดยเป็นการคัดเลือกจากหมวดธุรกิจ (Sector) ที่มีมูลค่ารายได้จากต่างประเทศมากที่สุด 10 อันดับแรก และคัดเลือกหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูงที่สุด 2 - 3 อันดับแรกในแต่ละหมวดธุรกิจ

Inv_กลยุทธ์การลงทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก_01
Inv_กลยุทธ์การลงทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก_02

สัดส่วนการลงทุนและผลตอบแทนของ SET-Global Play

สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตการลงทุนในบริษัทที่มีรายได้ต่างประเทศที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก มีการ กระจายตัวของน้ำหนักไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่คล้ายกัน โดยพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่มีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มากที่สุดที่ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 18% ของพอร์ตการลงทุน ในขณะที่พอร์ตที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กมีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มากที่สุดใกล้เคียงกันที่ประมาณ 23% ของพอร์ตการลงทุน

 

จากการคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศสูงแล้วนำมาจัดพอร์ตการลงทุน พบว่า SET-Global Play Large Cap มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 64% และให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ 25.20% และ SET-Global Play Mid & Small มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 56% และให้ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ 55.19% ซึ่งสูงกว่าการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นไทย และสอดคล้องกับการฟื้นตัวได้ดีของเศรษฐกิจโลกและภาคส่งออกของประเทศ

 

ในแง่ของการวัดผลตอบแทนรวมแบบย้อนหลังตามช่วงเวลา พบว่าพอร์ตการลงทุนที่มีการใช้ข้อมูลรายได้จาก ต่างประเทศในการคัดเลือกหุ้น (SET Global Play) มีผลตอบแทนรวมมากกว่าดัชนี SET100 Total Return Index และ SET Total Return Index ในหลาย ๆ ช่วงเวลาย้อนหลัง เช่น นับตั้งแต่มีการทดลองการจัดทำพอร์ตการลงทุนในปี 2559 หรือราว 5 ปี 5 เดือน พบว่า SET-Global Play Large Cap มีผลตอบแทนรวม 74.69% สูงกว่าดัชนี SET100 ที่ 24.08% เป็นต้น

Inv_กลยุทธ์การลงทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลรายได้ต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนมีประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุน อาจนำมาจัดทำเป็นธีม (Theme) การลงทุน หรือนำมาพัฒนาดัชนีการลงทุน เช่น ดัชนี SET-CLMV ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหุ้นของบริษัทที่มีรายได้จากประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)

 

นอกจากการใช้ข้อมูลรายได้จากต่างประเทศมาทดลองสร้างพอร์ตการลงทุนแบบ SET Global Play แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนาและจัดทำดัชนีการลงทุนและศึกษาธีมการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกและแนวทางสำหรับการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ และสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดทุน ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่หลากหลาย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจดัชนีของกลุ่มหลักทรัพย์หรือการลงทุนที่สะท้อนธีมต่าง ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาขึ้นสามารถดูรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากบทวิจัย “Theme การลงทุนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (SET-Global Play)” โดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถอ่านบทวิจัยฉบับเต็ม ได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

โดยบทวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: