5 คำถามชวนคุย เมื่อคิดวางแผนเกษียณ

โดย อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
3 Min Read
25 ตุลาคม 2564
7.06k views
PF_5 คำถามชวนคุย เมื่อคิดวางแผนเกษียณ_Thumnail
Highlights

คุณเคยวาดภาพตัวเองในวัยเกษียณไว้เช่นนี้บ้างหรือไม่ “อยากมีเงินโดยไม่ต้องทำงาน” “อยากมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท” “อยากไปเที่ยวรอบโลก” “อยากมีเงินไว้ให้ลูกหลาน” คำถาม คือ คุณเคยนำภาพในอนาคตเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นจำนวนเงินหรือไม่ว่าต้องใช้เงินเท่าไร แล้วคุณจะนำเงินมาจากที่ไหนบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เริ่มต้นลงมือเก็บเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่วันนี้ ออมก่อนรวยกว่า!

ในยุคที่นวัตกรรมทางการแพทย์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น ดูแลตัวเองมากขึ้น สิ่งที่ได้ตามมาก็คืออายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุยืนขึ้น มองโลกในแง่ดี ก็มีเวลาใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารักนานขึ้น ในทางกลับกันเห็นจะเป็นการอยู่ใช้เงินนานขึ้นและมากขึ้น ในขณะที่สิ่งที่น่าคิด คือ ระยะเวลาทำงานกลับเท่าเดิมหรืออาจสั้นลงเมื่อเทียบกับอดีต ในสมัยก่อนที่เข้าตลาดแรงงานเมื่ออายุยี่สิบต้น ๆ แต่ปัจจุบันนักศึกษาจบใหม่อาจเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาโท ทำให้เริ่มทำงานเมื่ออายุปาเข้าไป 25 ปี ดังนั้น การวางแผนเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะอยู่หลังเกษียณได้อย่างมีความสุข ภายใต้รูปแบบคุณภาพชีวิตที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนเกษียณ และสอดรับไปกับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ในอนาคต

 

ลองมาตั้งคำถามง่าย ๆ 5 คำถามกับตัวเองกันว่า พร้อมหรือไม่กับการวางแผนเกษียณ

 

คำถามที่ 1 เริ่มวางแผนเกษียณเมื่อไร หรือถามง่าย ๆ ว่าปัจจุบันอายุเท่าไร พร้อมหรือไม่ที่จะเริ่ม

คำตอบ คือ วางแผนเกษียณทันที หากเป็นสมัยก่อนหลายคนคิดเริ่มสตาร์ทตอนอายุทะลุ 30 ปีไปแล้ว หรือเริ่มจริงจังเมื่ออายุ 50 ปี ซึ่งอาจจะช้าเกินไป

 

แต่คำตอบที่ดีที่สุด คือ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งดี ถือเป็นเคล็ดลับสำคัญของการวางแผนเกษียณ เพราะพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่จะทำให้เงินเก็บเงินลงทุนเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

 

คำถามที่ 2 จะเกษียณเมื่อไร คำถามนี้มีสองแนวคำตอบ อย่างแรก คือ เกษียณตามที่ทำงานกำหนด เช่น อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ขณะที่แนวที่สอง คือ ตามที่ตัวเองฝันหรือตั้งเป้าหมายไว้ เช่น อยากเกษียณตอนอายุ 40 ปี เป็นต้น

 

จากสองคำถามแรกให้ลองนำมาลบกัน เช่น เริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 30 ปี ในขณะที่ตั้งใจทำงานจนเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็นำอายุเกษียณตั้งหักด้วยอายุที่เริ่มวางแผนก็จะได้เท่ากับ 60 - 30 = 30 ปี นี่คือคำตอบว่า เหลือเวลาเก็บเงินเท่าไร

 

คำถามที่ 3 จะใช้ชีวิตหลังเกษียณกี่ปี คำถามนี้ตอบยาก เพราะไม่มีใครรู้อนาคต แต่มีแนวคำตอบชวนคิด สองแบบ แบบแรก คือ ใช้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะอายุยืนขึ้นจากเดิมอยู่ในช่วงอายุ 72 - 75 ปี ก็อาจเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงอายุ 80 - 85 ปีตามแนวโน้มสังคมสูงวัย

 

แบบที่สอง คือ ใช้อายุเฉลี่ยของคนในครอบครัว ถ้าประวัติครอบครัวของคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายอายุยืน 90 ปีหรือ 100 ปี ก็มีแนวโน้มว่าลูกหลานจะมีโอกาสที่จะอายุยืนตามไปด้วย คำตอบนี้ อยากให้ดูค่าที่มากกว่า เช่น ถ้าประวัติของคนในครอบครัวอายุยืน 90 ปี ก็มีโอกาสที่คุณจะอายุยืนเหมือนคนในครอบครัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทย คำตอบในข้อนี้ก็จะเป็น 90 ปี เป็นต้น

เมื่อได้คำตอบในคำถามที่สามแล้ว ให้นำมาลบกับอายุเกษียณในข้อสอง เช่น ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี และครอบครัวอายุยืนถึง 90 ปี ก็นำอายุที่จะใช้หลังเกษียณตั้งลบด้วยอายุเกษียณ ก็จะได้ระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ เช่น 90 – 60 = 30 ปี แสดงว่าต้องเตรียมเงินให้พอใช้ถึง 30 ปีหลังเกษียณ

 

คำถามที่ 4 จะใช้เงินหลังเกษียณเท่าไรต่อเดือน ถ้าอยากมีไลฟ์สไตล์ตามเดิมก็อาจประมาณการจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งมีหลักว่าในวันที่เกษียณจะใช้จ่ายลดลงเหลือประมาณ 70% ก่อนเกษียณ โดยค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าเสื้อผ้าหน้าผม ค่าภาษี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี นอกจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงแล้ว หลังเกษียณอย่าลืมว่าอาจมีค่าใช้จ่ายบางตัวที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลเพราะสวัสดิการจากที่ทำงานหมดลง ค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งเห็นได้จากช่วงล็อกดาวน์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ขยับขึ้นค่อนข้างเยอะเมื่อใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ได้ตั้งไว้ เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าใช้จ่ายงานอดิเรก เป็นต้น

 

ส่วนอีกแนวหนึ่งของคำตอบ คือ ตั้งเป้าหมายเป็นเลขกลม ๆ เช่น จะใช้เดือนละ 30,000 บาท 50,000 บาท หรือ 100,000 บาท เป็นต้น อันนี้เรียกว่า ตั้งตามความฝันที่อยากใช้ชีวิต

เมื่อได้คำตอบข้อนี้แล้ว สามารถคำนวณเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณอย่างง่าย ๆ คือ นำจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้ต่อเดือนคูณจำนวนปี เช่น อยากใช้เดือนละ 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี จะเท่ากับ 30,000 x 12 x 30 = 10,800,000 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณอย่างง่ายและยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อที่มูลค่าของเงิน 30,000 บาทในวันที่เริ่มตั้งใจวางแผนเกษียณจะลดลงตามเวลาในวันที่เกษียณ

 

คำถามที่ 5 มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณแล้วหรือยัง แหล่งเงินเก็บเงินออมเพื่อการเกษียณมีหลายแหล่งที่บางครั้งอาจจะลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ เช่น ข้าราชการก็จะมีเงินสะสมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มนุษย์เงินเดือนก็จะมีเงินสะสมในกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคม ซึ่งถ้าสมทบครบตามเงื่อนไขก็จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามเกณฑ์ที่กำหนด เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินออมในกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ส่วนกรณีฟรีแลนซ์จะมีเงินสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเงินเก็บเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมต่าง ๆ สินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อเป้าหมายเกษียณ เมื่อรวมคำตอบในคำถามที่ 5 ก็จะได้แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้นำเงินที่ต้องการใช้เพื่อการเกษียณตั้งลบด้วยเงินเก็บในคำถามที่ 5 ก็จะได้ส่วนต่างว่าต้องเก็บเพิ่มอีกเท่าไร เช่น ปัจจุบันอายุ 30 ปี ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี ใช้ชีวิตหลังเกษียณ 30 ปี จะใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท รวมเงินที่ต้องมีในวันที่เกษียณ 10,800,000 บาท ถ้ามีเงินเก็บในปัจจุบันทั้งหมดรวมอยู่ที่ 500,000 บาท จะได้ 10,800,000 - 500,000 = 10,300,000 บาท แปลว่า ต้องเก็บเงินอีก 10,300,000 บาท ภายในระยะเวลา 30 ปี

 

5 คำถามนี้ เมื่อตอบครบก็จะได้คำตอบว่า เงินเก็บเงินลงทุนที่มีนั้นพร้อมสำหรับแผนเกษียณในอนาคตแล้วหรือไม่ และถ้าจะเริ่มต้นลงมือเก็บเพิ่มเมื่อไรดีนั้น ขอให้เริ่มทันที ที่สำคัญถ้าออมก่อนก็รวยกว่า


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: