ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต เราทุกคนต่างต้องเคยไปใช้บริการของโรงพยาบาล โดยในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน ธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี เป็นธุรกิจเชิงตั้งรับที่มีแนวโน้มดีกว่าตลาดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซา เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยหรือเติบโตแบบก้าวกระโดด ก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยของผู้คน หรือมีผลโดยตรงต่อความต้องการใช้บริการโรงพยาบาล
โดยเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อสูงขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลสามารถปกป้องความเสี่ยงช่วงเงินเฟ้อได้ เพราะมีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าสูง คนไข้ไม่สามารถต่อรองราคาค่าพบแพทย์ (Doctor fee) หรือค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนั้นการปรับราคาค่าบริการเพื่อส่งผ่านต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้ใช้บริการ (หรือคนไข้) จึงสามารถทำได้ค่อนข้างดี ธุรกิจโรงพยาบาลจึงสามารถรักษาอัตรากำไรหรือความสามารถในการบริหารจัดการกำไรได้ แม้ต้องเผชิญอัตราเงินเฟ้อขาขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นธุรกิจที่มีรายได้ประจำ (Recurring Income) เพราะหลังโรงพยาบาลสร้างเสร็จครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ก็สามารถเก็บกินรายได้และผลประกอบการในระยะยาว ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับธุรกิจบางประเภท เช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องสร้างโครงการใหม่ตลอดเวลา เพื่อรักษารายได้และผลประกอบการในอนาคต
หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล
โดยทั่วไปแล้ว หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลไม่ได้มีข้อกำหนดหรือกรอบในการแบ่งประเภทธุรกิจ แต่สามารถแบ่งได้คร่าว ๆ ออกเป็น 3 แบบ แบบแรก คือ แบ่งตามบริการ โดยมีทั้งโรงพยาบาลที่รับประกันสังคม และไม่รับประกันสังคม ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า โรงพยาบาลที่รับประกันสังคมจะไม่รับเงินสด เพียงแต่เป็นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากประกันสังคมในระดับที่มีนัยสำคัญ เช่น 30% ของรายได้รวม เป็นต้น แบบที่สอง แบ่งตามจำนวนโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลเดี่ยว มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่เดียว และโรงพยาบาลเครือข่าย ซึ่งกระจายอยู่ในหลายจังหวัดหรือหลายภูมิภาค และแบบที่สาม แบ่งตามประเภทคนไข้ บางโรงพยาบาลเน้นคนไข้ชาวไทย บางโรงพยาบาลมีสัดส่วนคนไข้ชาวต่างชาติมากกว่า และบางโรงพยาบาลรักษาโรคเฉพาะทางให้คนไข้ชาวต่างชาติ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล
นอกจากปัจจัยที่ต้องจับตาแล้ว การลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลนักลงทุนต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น วิเคราะห์และประมาณการรายได้ วิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สำคัญ วิเคราะห์งบการเงิน งบกระแสเงินสดและอัตราส่วนทางการเงิน รวมถึงการประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล
แต่ปัจจุบันการดูข้อมูลตัวเลขทางการเงินหรือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปและมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม หรือการทุจริตคอร์รัปชัน การเพิ่มมุมมองในประเด็นที่เป็นโอกาสและความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) หรือ ESG จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการลงทุนในบริษัทที่มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน และเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ประเด็นสำคัญด้าน ESG ของธุรกิจโรงพยาบาล
1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจบริการที่สำคัญต่อชีวิตคน ดังนั้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือต่าง ๆ เครื่องปรับอากาศ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องพร้อมใช้งาน และต้องมีเครื่องสำรองไฟฟ้าเผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือไฟตก การลดการใช้พลังงานในธุรกิจนี้โดยตรงอาจทำได้ยาก โดยในบางโรงพยาบาลมีความพยายามดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED เพื่อประหยัดพลังงาน หรือบางโรงพยาบาลมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาและใช้พลังงานกับอุปกรณ์ที่ไม่ได้สำคัญต่อชีวิต และไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการ เช่น ไฟทางเดิน ไฟที่จอดรถ เป็นต้น
ขณะที่การลดการใช้น้ำ ก็ทำได้ยากเช่นกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก จึงต้องมีการล้างมือและอุปกรณ์อยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีสิ่งปนเปื้อนและสารเคมีในน้ำ ดังนั้น โรงพยาบาลต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีและมีการควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งก่อนออกจากอาคาร
โดยสิ่งที่โรงพยาบาลสามารถทำได้ดีในเรื่องสิ่งแวดล้อม คือการกำจัดขยะและของเสีย โดยเฉพาะขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ ต้องมีการเก็บ คัดแยกและรวบรวมอย่างเหมาะสม ขยะที่รวบรวมได้ก็ต้องถูกเคลื่อนย้ายและนำไปกำจัด รวมถึงสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเชิงสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ โดยโรงพยาบาลต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุดกับกระบวนการในการตรวจสอบที่ที่รับขยะจากโรงพยาบาลไปกำจัด ต้องมีมาตรฐานในการกำจัดขยะและของเสียต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภายหลัง
นอกจากนี้นักลงทุนยังอาจพิจารณาถึงความมุ่งมั่นในการจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลจากการขอรับประเมินอาคารสีเขียว ตามมาตรฐาน LEED for Healthcare ซึ่งให้กับอาคารที่ออกแบบเพื่อให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงของโรงพยาบาล เป็นต้น
2. ด้านสังคม (Social)
พื้นฐานของธุรกิจโรงพยาบาล คือ การให้บริการ โดยโรงพยาบาล มีการแบ่งกลุ่มคนไข้ที่แต่ละโรงพยาบาลให้ความสำคัญแตกต่างกันไป เช่น บางโรงพยาบาลเน้นคนไข้กลุ่มประกันสังคม บางโรงพยาบาลเน้นคนไข้กลุ่มเฉพาะทาง รักษาโรคที่ซับซ้อน และบางโรงพยาบาลเน้นคนไข้กลุ่มต่างชาติ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือ โรงพยาบาลต้องให้การรักษาคนไข้ในทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกเพศสภาพ โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือละทิ้งคนไข้ และต้องอยู่บนพื้นฐานของสุขภาพและความปลอดภัย รักษาให้คนไข้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องไม่เจ็บป่วยเพิ่ม ซึ่งก็จะเชื่อมโยงกับคุณภาพของบริการ
ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญในการให้บริการในธุรกิจโรงพยาบาล แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ พนักงานลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ และพยาบาล ที่พบเจอลูกค้าหรือผู้ป่วยโดยตรง และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คุณหมอ โดยโรงพยาบาลต้องทำให้คุณหมอ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ มีความรู้ที่อัพเดทอยู่เสมอ ทั้งความรู้ทางการแพทย์ หรือความรู้เชิงสนับสนุน และมีความสามารถในการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อรักษาและให้บริการผู้ป่วยได้ด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างมีคุณภาพ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน กิจกรรมการทำงานต้องไม่ทำให้บุคลากรเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ ซึ่งงานบริการที่ต้องพบเจอผู้ป่วย มีโอกาสเจ็บป่วยได้มากอยู่แล้ว เช่น ถ้าอากาศในอาคารถ่ายเทได้ไม่ดี ก็มีความเสี่ยงเรื่องโรคติดต่อที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น โรงพยาบาลจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานคือตัวอาคาร ความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ระบบคัดกรองผู้ป่วย ระบบป้องกันและคัดแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ เพื่อให้บุคลากรทำงานได้อย่างปลอดภัย
โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุน ในโรงพยาบาลที่ทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นได้ดีโดยดูจากชื่อเสียงในการให้บริการ จากข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ และโรงพยาบาลที่มีความโดดเด่นในการเตรียมพร้อมรับมือกับแนวโน้ม (Trend) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้น เช่น สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ถ้าโรงพยาบาลมีการให้ความสนใจกลุ่มคนไข้ที่เป็นผู้สูงวัยมากขึ้น มีการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ แพทย์เฉพาะทางและผู้เชี่ยวชาญที่จะมาตอบโจทย์เรื่องโรคของผู้สูงอายุ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น อาคารที่พัก เพื่อรองรับผู้ป่วยสูงอายุที่จะมาอยู่ที่โรงพยาบาลแบบประจำ ก็จะตอบโจทย์สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับโรงพยาบาลในอนาคต
รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 หรือโรคระบาด ถ้าโรงพยาบาลสามารถที่จะเตรียมบุคลากรและสถานที่เพื่อรับมือกับโรคระบาด หรือโรคติดต่อที่มีโอกาสกลายพันธุ์ โดยมีการให้บริการที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ที่เข้ามาขอใช้บริการ ตั้งแต่การเข้ามาตรวจ เข้ามาฉีดวัคซีน รักษาพยาบาล หรือมาหาแพทย์เฉพาะทางในเรื่องเกี่ยวกับโรคระบาดหรือโรคติดต่อ หรือกระทั่งการทำโรงพยาบาลสนาม ก็จะสามารถเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ซึ่งทั้งเทรนด์สังคมผู้สูงวัยและสถานการณ์โรคระบาด ล้วนเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายคือ การสานสัมพันธ์ (Partnership) กับองค์กรและโรงพยาบาลอื่น ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อคนไข้ให้โรงพยาบาลอื่น การส่งบุคลากรไปทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อกิจกรรมเพื่อสังคมและ/หรือเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ธุรกิจจำนวนมากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งชาวไทยและประชากรโลก ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ Wellbeing Economy ที่สร้างเสริมสุขภาพโดยตรงและมีส่วนสำคัญในการสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว โรงพยาบาลใดที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพกับการท่องเที่ยว สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งมอบลูกค้ามาให้กับโรงพยาบาล ก็จะได้เปรียบในเชิงการแข่งขันและการสร้างรายได้ ซึ่งรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลก็จะกลับไปเป็นผลตอบแทนคืนสู่นักลงทุน
3. ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)
การกำกับดูแลกิจการเป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากิจการมีความโปร่งใสและเป็นมืออาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีจรรยาบรรณธุรกิจเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและยกระดับการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) ขั้นพื้นฐานของโรงพยาบาล คือ การไม่เผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่ภายนอก ต้องเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ประวัติและผลการรักษา ไว้เป็นอย่างดี มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยไม่ปล่อยให้ข้อมูลรั่วไหล และมีการอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการเข้าถึงและการไม่เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจที่โรงพยาบาลต้องให้ความสำคัญแล้ว การใส่ใจในเรื่องมาตรฐานการให้บริการ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โรงพยาบาลใดที่ได้มาตรฐาน JCI (Joint Commission International) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โดยเฉพาะต่างชาติ โดยสะท้อนถึงความเป็นเลิศทางด้านการรักษาพยาบาลในทุกมาตรฐาน ซึ่งรวมไปถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น
และอีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความใส่ใจควบคู่กัน คือ การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) โดยเฉพาะการจัดการภาวะวิกฤติ (Crisis Management) เพราะโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ต้องรับมือกับวิกฤติของผู้ป่วย มีเคสใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา การบริหารจัดการแบ่งพื้นที่ให้บริการ เพื่อป้องกันการติดโรคข้ามแผนก หรือการรับมือเรื่องบุคลากรที่อาจขาดแคลนในช่วงวิกฤติ เป็นเรื่องที่โรงพยาบาลต้องหาวิธีในการรับมือ โดยโรงพยาบาลใดที่สามารถบริหารจัดการประเด็นเหล่านี้ได้ดีและสื่อสารออกไปได้อย่างชัดเจนก็จะมีความได้เปรียบ เช่น สื่อสารมาตรการและแนวทางในการรับมือ ระบุผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
ท้ายสุด เป็นเรื่องของการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM (Customer Relationship Management) ถึงแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลใหม่ ๆ หรือทางเลือกใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา แต่หลาย ๆ ครอบครัวตั้งแต่รุ่นพ่อ ลูก และหลาน ต่างก็ใช้โรงพยาบาลเดิม ยังผูกพันกับโรงพยาบาลเดิม ดังนั้น การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิม การติดตามคนไข้ การสร้างความเชื่อมั่นในตัวโรงพยาบาล สร้างความเชื่อมั่นในตัวคุณหมอ สร้างความเชื่อมั่นในบริการที่จะได้รับ ก็จะมีผลให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการโรงพยาบาลซ้ำ
สรุป
ปัจจัยด้าน ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ เพราะความเสี่ยงด้าน ESG สามารถที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต ถ้านักลงทุนสามารถวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตลอดจนคาดการณ์ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบได้อย่างแม่นยำ ก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสมและลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ที่มาและแหล่งข้อมูลด้าน ESG ตลอดจนการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร “เรื่องต้องรู้ ก่อนลงทุนหุ้น ESG” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่