ข้อมูลควรรู้: หลักทรัพย์เตรียม IPO

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
22 ธันวาคม 2565
11.743k views

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อผู้ประกอบการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจ และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็เห็นโอกาสเติบโตในอนาคตก็เริ่มมีแนวคิดที่จะหาเงินทุนนำมาขยายธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะกู้ผ่านสถาบันการเงินแล้ว ทางเลือกที่น่าสนใจอีกทาง คือ การระดมทุนผ่านตลาดทุน พูดง่าย ๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพราะเป็นแหล่งระดมทุนระยะยาว มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ เสริมภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจและขยายฐานนักลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจเข้าตลาดหุ้นก็ต้องมีความพร้อมหลาย ๆ อย่าง

 

1.เตรียมความพร้อมโครงสร้างธุรกิจ เช่น การจัดโครงสร้างการถือหุ้นและธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนมีความโปร่งใส ไม่เอื้อต่อบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ซึ่งการจัดโครงสร้างการถือหุ้น มักจะต้องได้รับคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน

 

2.เตรียมความพร้อมผู้บริหาร กรรมการ เนื่องจากการเป็นผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัทจดทะเบียนจะเป็นผู้ที่มีความเพียบพร้อมตามหลักเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ เช่น ผู้ดูแลบัญชีและการเงิน (CFO) ต้องผ่านการอบรมพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง และมีประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงินตามระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น พูดง่าย ๆ ผู้บริหาร กรรมการ ต้องมีความรู้ความสามารถ ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ให้กับบริษัท

 

3.เตรียมระบบการควบคุมภายใน หากบริษัทมีระบบภายในที่ดีจะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ยิ่งเมื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนยิ่งต้องมีระบบการควบคุมภายในที่ดี เพราะหากวางระบบไม่ดีอาจส่งผลเสียต่อผู้ถือหุ้น

 

4.เตรียมความพร้อมงบการเงิน เมื่อเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนจะต้องทำการปรับปรุงงบการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด คือ ระบบการจัดทางงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี เพื่อให้รายงานทางการเงินนั้นสะท้อนความสามารถในการดำเนินงานของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง

 

5.เตรียมพร้อมหาตัวช่วย สำหรับการเตรียมความพร้อมทุกอย่างจะต้องมีผู้ช่วย ซึ่งมีดังนี้

  • ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) มีหน้าที่ศึกษาข้อมูลบริษัทเพื่อให้คำแนะนำและเตรียมข้อมูลบริษัทในการยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ
  • ผู้สอบบัญชี (Auditor) มีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทให้ได้มาตรฐานเดียวกับงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงิน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วย
  • ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Audit) มีหน้าที่ช่วงวางขั้นตอนการทำงานให้เป็นระเบียบ รัดกุม ตรวจสอบได้

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการสื่อสารกับผู้ลงทุนในวงกว้างถึงขึ้นตอนการเตรียมเข้าจดทะเบียนของบริษัทแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้

article-304-thumbnail
  1. ยื่นคำขอเพื่อเสนอขาย ( Filing) ขั้นตอนการยื่นเพื่อเสนอขอขายหุ้นกับสำนักงาน ก.ล.ต. หรือยื่นคำขอออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป เริ่มด้วยการนัดหารือเบื้องต้น (Pre-consult) เช่น หารือประเด็นสำคัญ จัดเตรียมเอกสารสำหรับยื่นต่อกับสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จากนั้นที่ปรึกษาทางการเงินในฐานะตัวแทนของบริษัทจะทำการยื่นขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้น IPO ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และยื่นขอเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาข้อมูลพร้อมกับสัมภาษณ์ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ตรวจสอบบัญชี เยี่ยมชมกิจการของบริษัท (Company Visit) และสัมภาษณ์ผู้บริหารที่ยื่นคำขอ (Management Interview) ซึ่งกระบวนนี้จะใช้เวลาภายใน 120 วัน (นับจากวันที่เอกสารครบถ้วน)

 

  1. อนุมัติคำขอเสนอขาย (Approved) หลังจากยื่นคำขอแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาข้อมูลพร้อมกับสัมภาษณ์ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้สอบบัญชี เยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) และสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัท (Management Interview) ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลาภายใน 120 วัน (นับจากวันที่สำนักงาน ก.ล.ต. รับแบบคำขอฯ) เพื่อเริ่มนับหนึ่งแบบคำขอฯ และ จะพิจารณาอนุมัติภายใน 45 วัน

 

  1. กำหนดวันจองซื้อ (Effective) เมื่อได้รับอนุญาตในการเสนอขายหุ้นจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ก็จะเป็นช่วงกำหนดราคาและวันเสนอขาย โดยราคาเสนอขายจะประเมินได้หลายวิธีตามความเหมาะสมของประเภทธุรกิจ เช่น วิธี P/E Ratio ซึ่งอ้างอิงกับบริษัทที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน หรือวิธี Book Building ที่สำรวจความต้องการซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันในระดับราคาต่าง ๆ ว่ามีปริมาณความต้องการซื้อเท่าไรและหาราคาที่ดีที่สุดที่สามารถขายหุ้นได้หมด จากนั้นนักวิเคราะห์จะออกบทวิเคราะห์เพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลในการพิจารณาจองซื้อหุ้น ทั้งนี้หลังการขายหุ้น IPO จะต้องมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยเป็นไปตามเกณฑ์การกระจายหุ้น Free Float

 

  1. ซื้อขายวันแรก (IPO) เมื่อผ่านด่านทั้งหมดดังกล่าว ก็จะเป็นวันที่บริษัทจะเข้าซื้อขายเป็นวันแรก เรียกว่า First Trading Day นับเป็นวันเริ่มต้นของบริษัทที่เปลี่ยนมาเป็นบริษัทจดทะเบียนวันแรกและสมบูรณ์
แท็กที่เกี่ยวข้อง: