ช่วงปี 2565 หากพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) นักลงทุนอาจมองว่าเป็นปีแห่งความผันผวน โดยเฉพาะผลตอบแทนสินทรัพย์ดิจิทัลยังติดลบต่อเนื่อง แต่กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นที่นิยมของนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก สังเกตจากจำนวนบัญชีของผู้ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ณ เดือนพฤศจิกายนปี 2565 เติบโตมากกว่า 10 เท่าจากปี 2563 (เพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนบัญชี เป็น 2.9 ล้านบัญชี) ขณะเดียวกันข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 51,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.86% จากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม หลังจากการล่มสลายของเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีบางเหรียญ และแพลตฟอร์มให้กู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีบางแห่ง ก็มีคำถามตามมาว่าสินทรัพย์ดิจิทัลยังน่าลงทุนต่อไปหรือไม่ ประเด็นนี้ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นแนวโน้มขาลง “แต่คำว่าขาลงกลับมองว่าเป็นโอกาสที่จะสามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในราคาที่ถูก เช่น การลงทุนรูปแบบอื่น ๆ อย่างตลาดหุ้น หากเชื่อมั่นในหุ้นว่าจะมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต และปัจจุบันราคาหุ้นปรับลดลงในระดับที่น่าลงทุน ก็คงเข้าลงทุน เช่นเดียวกันหากมีความเชื่อหรือมั่นใจในหลักคิดหรือแนวคิดสินทรัพย์ดิจิทัลและมองว่าจะมีโอกาสเติบโตได้ เมื่อเห็นราคาที่ลดลงมา ณ ปัจจุบัน ก็อาจถือว่าเป็นจังหวะที่สามารถเข้าลงทุนได้”
ด้านเบลค เชฟเฟิร์ด ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมบริษัท Schroders บริษัทบริหารจัดการลงทุนข้ามชาติ สัญชาติอังกฤษ ให้ความเห็นในงานประชุมด้านการลงทุน Schroders Thailand Investment Conference 2022 ว่า “สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี จะยังคงพัฒนาเติบโตต่อไปในฐานะสินทรัพย์ที่มีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนจะยังคงอยู่ในระดับสูง และคาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะตัดสินใจลงทุนจากความคุ้นเคยเป็นหลักและเริ่มลงทุนโดยตรงผ่านบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าที่จะลงทุนตรงในโทเคนและเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งในตลาดมีหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ”
“นอกจากนี้ เรายังมองเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการซื้อขายนอกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้กำลังกลายเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลงสินทรัพย์นอกตลาดให้อยู่ในรูปแบบโทเคน เช่น ทุนธรรมชาติ (Natural Capital) เห็นได้ชัดเจนเลยว่ายังมีพื้นที่สำหรับการเติบโตของระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ต่าง ๆ อีกมากมายในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้”
ใครเหมาะกับการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านพันธกิจสากล และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 10 ว่า ความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีค่อนข้างสูง คาดเดาได้ยากหรือเรียกว่าเป็นตลาด VUCA (Volatility ความผันผวน / Uncertainty ความไม่แน่นอน / Complexity ความซับซ้อน / Ambiguity ความคลุมเครือ)
“หลักที่อยากให้คิดและทำความเข้าใจตาม คือ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ในเรื่องความเสี่ยงอาจไม่ใช่สินทรัพย์ที่เหมาะกับทุกคน เพราะเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินเย็นและไม่เดือดร้อนอะไรถ้าเงินเย็นนี้หายไป มีโอกาสขาดความยับยั้งชั่งใจสูงเนื่องจากเป็น Paper Loss ทำให้เกิดภาวะอยากเสี่ยงลงทุนให้ได้มาซึ่งการกู้คืน (Recovery) เพิ่มมากขึ้น เพราะผลตอบแทนค่อนข้างผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน มีสติในการลงทุน ส่วนมุมมองในด้านโอกาส จะเกิดขึ้นได้จริงด้านโอกาสทางธุรกิจและเทคโนโลยีมากกว่า อนาคตจะขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจที่เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดนี้”
ด้าน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลของประชาชนชาวไทย โดยให้ข้อมูลว่ากลุ่มนักลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มมือใหม่ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ติดตามกราฟของราคารายวัน พยายามหาจังหวะเพื่อเข้าซื้อหรือขายอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังมีการควบคุมพอร์ตของตัวเองเพื่อกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ
กลุ่มสายซิ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่อยากศึกษาหาความรู้ เลือกที่จะลงทุนตามคำแนะนำจากคนรอบข้าง หรือ ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีลักษณะการลงทุนแบบกล้าได้กล้าเสีย ไม่ค่อยประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และมีความคิดว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถทำกำไรได้ง่าย
กลุ่มย้ายพอร์ต เป็นกลุ่มที่เคยลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อนและเข้าใจถึงความผันผวนและความเสี่ยง ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น และเริ่มมีการเพิ่มน้ำหนักในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยไปลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้น
โดยลักษณะที่พบร่วมกันใน 3 กลุ่มนี้ คือ ขาดการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงอย่างเดียวหรือมีสัดส่วนการลงทุนที่มากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ดังนั้นนักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารพอร์ตและการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม
ที่มาของข้อมูล
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐานและวิธีการเลือกลงทุนใน Digital Asset เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากเทรนด์การลงทุนนี้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “มือใหม่หัดลงทุน Digital Asset” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่