“จัดพอร์ตลงทุน” ที่ใช่...ตามสไตล์ที่ชอบ!!!

โดย SET X ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม
3 Min Read
27 กันยายน 2564
22.808k views
TN_EP7_Logo
In Focus

"อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว" เพราะถ้ามีสิ่งที่ไม่คาดฝันมากระทบ ก็อาจจะทำให้ไม่เหลืออะไรเลย เช่นเดียวกับการลงทุน 'การจัดพอร์ตลงทุน' จึงเป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะทำให้การลงทุนของคุณได้กระจายความเสี่ยง ซึ่งจะจัดพอร์ตลงทุนแบบไหนดี... เรามีคำตอบ!

จากงานวิจัย Determinants of Portfolio Performance” พบว่า 91.5% ของผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดในเรื่อง “การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation)” ได้เป็นอย่างดี ทำไมเราต้องเสียเวลาไปทำในสิ่งที่ยาก แต่มีผลต่อผลตอบแทนจากการลงทุนน้อย เช่น การจับจังหวะตลาด (Market Timing) หรือการเลือกหลักทรัพย์เพื่อลงทุน (Security Selection) ด้วย ในเมื่อองค์ประกอบใหญ่ของผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากการจัดสรรเงินลงทุนเป็นสำคัญ


ทำไมเราไม่เอาเวลามาทุ่มทำในสิ่งที่สำคัญกว่าล่ะ..ปัจจุบันโลกของการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั่วไปทำได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น โดยใช้เงินลงทุนไม่มากผ่านรูปแบบของ “กองทุนรวม” ที่จะพาคุณเปิดประตูไปสู่สินทรัพย์การลงทุนที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศให้คุณเลือกมาไว้ในพอร์ตการลงทุนของคุณได้อย่างครบครัน  


การวางแผน “จัดพอร์ตการลงทุน” นั้น จะช่วยให้เราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการลงทุนของตนเอง เช่น บางคนต้องการจะออมเงินไว้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ หรือบางคนสร้างรายได้เพิ่มเติมจากงานประจำ เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายนั้นจะเป็นตัวกำหนดสินทรัพย์ที่เราจะเลือกลงทุน ซึ่ง ‘ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว’ สำหรับใครเป็นพิเศษ เพราะเงื่อนไขของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกันออกไป ปัจจุบันแนวคิดใน ‘การจัดพอร์ตการลงทุน’ เองนั้น ก็มีอยู่มากมายหลายหลาก แต่ทั้งหมดนั้นเป็นแค่เพียงแนวคิดกลางๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มองเห็นภาพของการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของตัวเองเท่านั้น”


สิ่งสำคัญที่สุด… ก่อนที่เราจะ “จัดพอร์ตการลงทุน” ได้นั้น คือ การรู้จักและเข้าใจสินทรัพย์ที่เราจะลงทุน
แม้ปัจจุบันการลงทุนจะเพิ่มความสะดวกให้กับนักลงทุนได้ลงทุนง่าย ๆ ผ่าน “กองทุนรวม” ก็ตาม แต่ความเสี่ยงในตัวสินทรัพย์แต่ละประเภทก็เป็นตัวสะท้อนถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ดั่งประโยคที่ว่า “ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทน (คาดหวัง) ก็ยิ่งสูง”


“มีนักลงทุนไม่น้อยที่เข้าใจว่า การลงทุน คือการนำเงินไปสร้างผลตอบแทนโดยลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง หรือพูดง่าย ๆ คือการนำ ‘ไข่ใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว’ ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับ ตะกร้า หรือไข่ในตะกร้า ดังนั้น หากมีการลงทุน ‘แบบกระจุก’ ไปในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว ถ้ามีสิ่งที่ไม่คาดฝันมากระทบ ก็อาจจะส่งผลให้การลงทุนนั้นลามไปถึงเงินต้น และเกิดการขาดทุนหนักได้เช่นกัน”


“การจัดพอร์ตการลงทุน”
จึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการลงทุน ‘แบบกระจาย’ จะช่วยให้พอร์ตของคุณมีสุขภาพที่ดี สามารถสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการลงทุนได้ด้วยการกระจายเงินลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ ลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง ที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาได้ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอีกด้วย


แต่ “การจัดพอร์ตลงทุน” ผู้ลงทุนจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ “วัตถุประสงค์และเป้าหมายระยะเวลา” ในการลงทุนของตัวเองก่อน เพราะจะเป็นตัวกำหนดในการเลือกประเภทสินทรัพย์ที่เหมาะสมเข้ามาในพอร์ต ตาม ‘ระดับความเสี่ยง’ และ ‘ระยะเวลา’ เพื่อการสร้างผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวังไว้


ตัวอย่าง
หากเราต้องการเก็บออมเงินจำนวนหนึ่งในระยะสั้น ๆ หรือราว 1-3 ปี ก็ควรให้น้ำหนักในกองทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงน้อยหน่อย เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการขาดทุนได้ค่อนข้างสูงหากพลาดพลั้งไปอาจกระทบกับเป้าหมายในการใช้จ่ายของเราได้ แตกต่างจากผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ มีระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างนานหรือเป็นหลัก 10 ปี  ก็สามารถจะลงทุนในกองทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงได้ในสัดส่วนที่มากขึ้นได้ เพราะยังมีเวลาให้แก้ตัวได้อีกพอสมควรหากการลงทุนพลาดพลั้งไป เป็นต้น

EP7MF02

ต่อจาก “การกำหนดเป้าหมายระยะเวลาลงทุนแล้ว” ก็มาถึงการประเมิน ‘ความสามารถในการรับความเสี่ยง’ ของตนเอง ซึ่งคุณสามารถทำผ่านแบบทดสอบ ‘Suitability Test’ (ซึ่งนักลงทุนจะต้องทำก่อนเริ่มลงทุนในครั้งแรกและมีการประเมินซ้ำใหม่ทุก 2 ปี) ที่จะช่วยประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนได้ในเบื้องต้น พร้อมคำแนะนำ “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” ที่เหมาะกับผลประเมินความเสี่ยงให้กับคุณได้อีกด้วยว่าควรจะมี กองทุนหุ้นเท่าไร กองทุนตราสารหนี้เท่าไร เป็นต้น


“อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันก็จะให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงอาจจะมีผลกับเงินต้นที่ลงทุน ‘การประเมินความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้’ จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการกำหนดเป้าหมายการลงทุน”


โดยสิ่งแรกที่ใช้ประเมินอาจเริ่มจาก “สิ่งรอบตัว” อย่างเช่น สถานะการเงิน ภาระหนี้ต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวบ่งบอกถึงขีดจำกัดในการลงทุน และจำนวนเงินที่จะลงทุนในแต่ละครั้งหรือในแต่ละเดือน รวมไปถึงลักษณะนิสัยว่ามีความเข้าใจต่อความผันผวนราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนมากน้อยแค่ไหน


หลังจากรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบตัว สิ่งถัดมาก็คือการ “ประเมินภาวะตลาด” ไม่ว่าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงของภาวะตลาดและคาดการณ์อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน ก็จะช่วยให้การประเมินความเสี่ยงมีความครอบคลุมมากขึ้น


ขั้นตอนต่อมาก็คือ “การคัดเลือกกองทุนรวม”  เข้าพอร์ต ซึ่งหลังจากที่เราผ่านการกำหนดเป้าหมายในการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงได้แล้ว จะช่วยให้การคัดเลือกกองทุนมีความง่ายดายและช่วยลดทอนเวลาในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น จะเลือกลงทุนในกองทุนตราสารทุนหรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ‘กองทุนหุ้น’ มาไว้ในพอร์ตมากน้อยแค่ไหน กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกลงทุนได้ทั้งหุ้นในประเทศ และต่างประเทศ เป็นต้น


“ซึ่งน้ำหนักของสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง ‘กองทุนหุ้น’ ที่มากน้อยแตกต่างกันนั้น ก็จะเป็นตัวกำหนด ‘ความเสี่ยง’ หรือ ‘ความผันผวน’ ในภาพรวมของพอร์ตการลงทุนของคุณด้วยเช่นกัน”


สำหรับใครที่ยังลังเลว่าควรจะแบ่งน้ำหนักหรือสัดส่วนการลงทุนอย่างไรนั้น เรามีตัวอย่างการจัดพอร์ตตาม ‘ความสามารถในการรับความเสี่ยง’ มาแนะนำ เป็นตัวอย่าง 3 แบบ ซึ่งไม่แตกต่างจากการเลือกวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในการสร้างบ้านของตัวคุณเอง ได้แก่


แบบที่
1: “พอร์ตระมัดระวัง” หรือ “พอร์ตอยู่อย่างพอเพียง” รับความเสี่ยงได้น้อย มองหาผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝาก ซึ่งอาจแบ่งการลงทุนเป็นกองทุนตราสารเงิน 35%, กองทุนตราสารหนี้ 45%, กองทุนตราสารทุน 15% และกองทุนทองคำ 5%


แบบที่ 2: “พอร์ตปานกลาง”
หรือ “พอร์ตอยู่อย่างพอดี” สามารถรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น อาจปรับน้ำหนักการลงทุนเป็นกองทุนตราสารเงิน 33%, กองทุนตราสารหนี้ 45%, กองทุนตราสารทุน 15% และกองทุนทองคำ 7%


และแบบที่
3: “พอร์ตเชิงรุก” หรือ “พอร์ตอยู่อย่างพอใจ” เป็นสายฮาร์ดคอที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากแบบจัดหนักจัดเต็มเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็อาจจะปรับน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างกองทุนตราสารทุนเป็น 70%, กองทุนตราสารเงิน 15%, กองทุนตราสารหนี้ 5% และกองทุนทองคำ 10%


“โดยเคล็ด (ไม่ลับ) ใน ‘การจัดพอร์ตลงทุน’ ก็แสนง่าย นั่นคือ ต้องรู้และเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุน, ลงทุนในจำนวนที่พอดี ที่เราสามารถดูแลได้ไหว และติดตามข้อมูลข่าวสาร ปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ ที่สำคัญการจัดพอร์ตกองทุนรวมในปัจจุบันไม่ได้ใช้เงินลงทุนมากอย่างที่คิด สามารถเลือกลงทุนด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ หรือ ใครที่จัดพอร์ตไม่เป็น ในปัจจุบันก็มีหลายแห่งที่ให้บริการจัดพอร์ตลงทุนแบบอัตโนมัติผ่าน ‘Robo Advisor’ ซึ่งไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมเพิ่มด้วย ซึ่งนักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามแนวคิดในเรื่องการจัดพอร์ตลงทุนและข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.setinvestnow.com


ท้ายที่สุด “การกระทำ” และ “การวางแผน” จะไม่มีความหมาย หาก “ไม่เริ่มลงทุน” โดยยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยให้เงินออกดอกออกผลได้รวดเร็วเท่านั้น และที่สำคัญควรทำให้มีความสม่ำเสมอจนเกิดเป็นวินัย “อย่าผัดวันประกันพรุ่ง” เพราะอาจทำให้เป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ประสบความสำเร็จ อย่าลืมว่าคุณสามารถ “ออกแบบชีวิตให้ตัวเองได้ เริ่มด้วยการสร้างพอร์ต
‘กองทุนรวม เริ่มง่าย ใช้เงินน้อย’ มาจัดพอร์ตการลงทุนที่ใช่...ตามสไตล์ที่ชอบกันดีกว่า เริ่มง่าย...ใครๆ ก็ทำได้

>> มาดูกันว่าคุณรับความเสี่ยงลงทุนได้ระดับไหน จะสร้างพอร์ตแบบ “พอเพียง” “พอดี” หรือ “พอใจ” คลิก


>> สนใจเปิดบัญชีกองทุนรวม: คลิกเลย!!

 


คำเตือน: ผลตอบแทนในอดีต มิได้รับประกันถึงผลตอบแทนในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: