เทคนิคสร้างรายได้หลังเกษียณ ให้มีเงินใช้เพียงพอ

โดย รุจิพรรณ พรรัตนพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนเกษียณ ช่องยูทูป AnnuityMAN
3 Min Read
10 มกราคม 2565
7.792k views
PF_เทคนิคสร้างรายได้หลังเกษียณ ให้มีเงินใช้เพียงพอ_Thumbnail
Highlights

มีคำถามที่มักได้ยินเสมอว่า หลังเกษียณไปแล้วจะบริหารเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตอย่างไร ให้สามารถมีกินมีใช้ไปตลอดรอดฝั่งจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ทางเลือกหนึ่งคือ แบ่งเงินเกษียณออกเป็น 3 กอง โดยกองแรกนำไปเก็บไว้ในธนาคารและอีกสองกองแบ่งไปลงทุนตามระดับความเสี่ยง พร้อมกับหมั่นตรวจสอบมูลค่าของสินทรัพย์และปรับสมดุลของพอร์ตลงทุน ซึ่งหากนำวิธีนี้ไปปรับใช้หลังเกษียณ มั่นใจได้ว่าจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไปตลอดชีวิตในวัยเกษียณ

สถานการณ์สังคมสูงวัยในประเทศไทยเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ คนวัยใกล้เกษียณอายุเกิน 50 ปีเพิ่มมากขึ้น จนเริ่มมีกระแสหรือคำถามว่า เมื่อถึงวันที่เกษียณจะทำอย่างไรกับเงินเกษียณที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมไปถึงเงินออม เงินลงทุนที่สะสมในช่วงวัยทำงาน

 

โดยปกติก็จะนำเงินที่สะสมไปจัดพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งผู้ที่ใกล้หรือเกษียณแล้วส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะมีความสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ ผลที่ตามมาคือ ต้องจัดพอร์ตลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังในระดับที่ต่ำ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้

 

ด้วยปัญหาดังกล่าว จึงเกิดวิธีบริหารจัดการเงินเพื่อวัยเกษียณ เรียกว่าเงิน 3 กอง (3 Buckets System) ซึ่งในสหรัฐอเมริกาถือเป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างรายได้หลังเกษียณ (Retirement Income Strategy) เรียกว่า Time Based Segmentation

 

วัตถุประสงค์สำคัญของกลยุทธ์ดังกล่าว คือ ต้องการลดความเสี่ยงที่เกิดจากการถอนเงินออกจากเครื่องมือทางการเงิน (Sequence of Returns Risk) และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนบางส่วน โดยวิธีปฏิบัติมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. คำนวณหาค่าใช้จ่ายหลังเกษียณปีแรก สมมติว่ามีค่าเท่ากับ R
2. แบ่งเงินเพื่อเกษียณออกเป็น 3 กอง แต่ละกองมีจำนวน ดังนี้
    • กองที่ 1 มีจำนวน 3R เพื่อใช้จ่ายใน 3 ปีแรก โดยเก็บไว้ในธนาคารเพื่อให้มีสภาพคล่องและสะดวกในการถอนออกมาใช้จ่าย
    • กองที่ 2 มีจำนวน 7R เพื่อไว้ใช้จ่ายในปีที่ 4 - 10 โดยลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม โดยคาดหวังผลตอบแทนเพื่อชดเชยเงินเฟ้อ
    • กองที่ 3 เป็นเงินส่วนที่นำไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น) จัดพอร์ตการลงทุนที่สามารถรองรับความผันผวนได้ในเวลา 10 ปี

 

ถ้าหากพิจารณาให้ลึกซึ้งจะเกิดคำถามว่า เมื่อผ่านพ้นปีแรกแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ควรถอนเงินจากกองไหนก่อนหลัง ถ้าเงินในกองที่ 3 เติบโตมากขึ้นควรขายออกหรือไม่ ถ้าขายออกควรนำไปไว้ในกองไหน หรือควรถอนเงินเป็นลำดับจากกองที่ 1 และเมื่อเงินหมดแล้วจึงถอนเงินออกจากกองที่ 2 และกองที่ 3 หรือไม่

 

ความจริงแล้ว เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสิน เรียกว่า Decision Rules ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ให้คำแนะนำหรือนักวางแผนการเงิน เช่น Michael Kitces นักวางแผนการเงินได้สร้างกฎง่าย ๆ 3 ข้อ ดังนี้

  1. If stocks are up, sell stocks.
    ถ้ามูลค่าสินทรัพย์ของกองที่ 3 มีมูลค่าสูงขึ้น ให้ขายส่วนเกินของกองที่ 3 แล้วนำไปเก็บไว้ในกองที่ 1
  1. If stocks are down and bonds are up, sell bonds.
    ถ้ามูลค่าสินทรัพย์ของกองที่ 3 มีมูลค่าลดลง แต่มูลค่าสินทรัพย์ของกองที่ 2 มีมูลค่าสูงขึ้น ให้ขายส่วนเกินของกองที่ 2 แล้วนำไปเก็บไว้ในกองที่ 1
  1. If both stocks and bonds are down, continue to draw down Bucket 1 (no refill).
    ถ้ามูลค่าสินทรัพย์ของกองที่ 2 และ 3 มีมูลค่าลดลง จะไม่มีการขายสินทรัพย์

           

สรุปได้ว่า

  • ถอนเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายจากกองที่ 1
  • เมื่อมูลค่าสินทรัพย์ของกองไหนเพิ่มสูงขึ้น ให้ขายส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วก็นำไปเก็บไว้ในกองที่ 1 เพื่อให้กองที่ 1 เต็มอยู่ตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ข้อควรปฏิบัติทุกปี คือ การปรับสมดุลของพอร์ตลงทุน (Rebalancing) เพราะเป็นเครื่องมือที่ลดความเสี่ยงได้ดี เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในช่วงตลาดขาลง และรับรู้กำไรจากการลงทุนในช่วงตลาดขาขึ้น โดย Kitces ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลที่ได้จากการปรับสมดุลของพอร์ตลงทุน

PF_เทคนิคสร้างรายได้หลังเกษียณ ให้มีเงินใช้เพียงพอ_01

อาจเกิดคำถามว่า Decision Rules กับ Rebalancing ใช้ต่างกันอย่างไร โดยสิ่งที่เห็นชัดเจนตามข้อความข้างต้นมีเพียงประการเดียว คือ Rebalancing อาจทำปีละ 1 ครั้ง แล้ว Decision Rules ควรต้องทำเมื่อไหร่

 

ในระหว่างปี ควรต้องทบทวนมูลค่าของสินทรัพย์กองที่ 2 และ 3 ว่ามีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเมื่อมีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็ควรขายเพื่อรับรู้กำไร แล้วนำกำไรที่ได้ไปเก็บไว้ในกองที่ 1 หมายความว่า เงินในกองที่ 1 ควรจะไม่มีวันหมด เพราะถูกเติมด้วยเงินจากกองที่ 2 หรือ 3 เช่น ทุก ๆ 3 - 4 เดือน หรือขึ้นอยู่กับความสะดวก

 

ดังนั้น จึงต้องคอยตรวจสอบมูลค่าของสินทรัพย์ในกองที่ 2 และ 3 อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรทำความเข้าใจเรื่องความผันผวนและความเสี่ยงที่เกิดจากการถอนเงินออกจากเครื่องมือทางการเงิน เพื่อคลายความกังวลในช่วงตลาดการลงทุนมีความผันผวนหรือช่วงตลาดปรับลดลง

 

ตัวอย่างเช่น

มีเงิน ณ วันเกษียณ 10 ล้านบาท และพบว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณเริ่มต้นปีแรกที่ 600,000 บาท (R) ถ้าใช้กลยุทธ์เงิน 3 กอง จะแบ่งเงินออกเป็น 3 กอง โดยแต่ละกองมีจำนวน ดังนี้

  • กองที่ 1 มีจำนวนเงิน 1.8 ล้านบาท (600,000 x 3) เก็บไว้ในธนาคาร
  • กองที่ 2 มีจำนวนเงิน 4.2 ล้านบาท (600,000 x 7) ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้หรือกองทุนรวมผสม
  • กองที่ 3 มีจำนวน 4 ล้านบาท (10 – 1.8 – 4.2) ลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น)

 

เมื่อผ่านไป 3 เดือน พบว่าเงินในกองที่ 3 เติบโตเป็น 4.1 ล้านบาท ดังนั้น จึงควรขายส่วนเกิน 1 แสนบาท แล้วนำไปเก็บไว้ในกองที่ 1 เนื่องจากเงินกองที่ 1 ลดลงไปแล้ว 150,000 บาท (50,000 x 3) จากการถอนเงินมาใช้ในช่วง 3 เดือนแรก

 

จะเห็นได้ว่าการขายสินทรัพย์จากกองที่เติบโตเป็นจำนวนมากพอที่จะทำให้เงินในกองที่ 1 มีจำนวนเท่ากับตอนเริ่มต้น คือ 3R และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ 3 - 4 เดือน และเมื่อครบ 1 ปี ก็ทำ Rebalancing เพื่อให้เงินทั้ง 3 กองมีสัดส่วนเท่าเดิม คือ 1.8 ล้านบาท 4.2 ล้านบาท และ 4 ล้านบาท ตามลำดับ

 

หากผู้ที่มีประสบการณ์ในการลงทุนและสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในช่วงตลาดขาลงได้ปานกลาง ก็นำกลยุทธ์นี้ไปปรับใช้หลังเกษียณได้ นอกจากนี้ ยังปรับเปลี่ยนเงื่อนไข Decision Rules ต่าง ๆ ตามเห็นสมควรได้ และหากเข้าใจ Sequence of Returns Risk มั่นใจว่าจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่   

แท็กที่เกี่ยวข้อง: