ทางออกสวยๆ เมื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับผลกระทบ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4 Min Read
26 พฤศจิกายน 2563
21.409k views
TSI_Article_030_PF_Thumbnail
Highlights
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เป็นแหล่งเงินออมชั้นดีของเหล่ามนุษย์เงินเดือน เพราะเมื่อเราจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนแล้ว บริษัทจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนให้เราอีกส่วนหนึ่ง “ฟรีๆ” เพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ

  • หากนำเงินออกจาก PVD ก่อนที่จะเกษียณอายุ เราต้องนำเงินที่ได้รับจาก PVD ไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี

  • สำหรับคนที่ลาออกจากงาน หรือถูกให้ออกงาน จนต้องออกจาก PVD ไปด้วย สามารถขอคงเงินไว้กับนายจ้างเก่า โอนเงินไปยัง PVD ของนายจ้างใหม่ หรือโอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับเงินออกจาก PVD ทำให้เงินก้อนนี้ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงพอสมควร โดยเฉพาะสมาชิกกองทุน (ลูกจ้าง) ที่กังวลว่า... วิกฤติอาจทำให้เงินกองทุนได้รับความเสียหาย หรือสมาชิกอาจขาดสภาพคล่อง ต้องการถอนเงินกองทุนออกไปใช้ก่อน จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน ในทางกลับกันนายจ้างอาจประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถนำส่งเงินสมทบได้ต่อ จึงตัดสินใจยกเลิกกองทุน


ไม่ว่าในกรณีใด ก็ล้วนแต่ทำให้สมาชิกเสียประโยชน์ จึงมีคำถามว่า... มีทางออกสวยๆ ใดบ้าง ที่ทำให้สมาชิกไม่เสียสิทธิประโยชน์ ทั้งในแง่ของเงินลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่สำคัญยังมีเงินออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ


ถ้าพูดถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างวินัยในการออมเงินเพื่อเกษียณ โดยนอกจากเงินที่ฝ่ายสมาชิก (ลูกจ้าง) สะสมแล้ว ยังมีเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้างอีกส่วนหนึ่ง และเมื่อเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถูกนำไปบริหารจัดการลงทุนต่อโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็จะออกดอกออกผล ที่สำคัญยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ มีดังนี้

  1. เงินที่สมาชิก (ลูกจ้าง) สะสมเข้ากองทุนในแต่ละปี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  1. ผลประโยชน์จากการลงทุนทุกประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับการยกเว้นภาษี

  1. หากออกจากงาน เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน


“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นช่องทางการออมเพื่อเกษียณที่ดีที่สุดในปัจจุบัน”


อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เช่น ยอดขายตก ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน หรือถึงขั้นต้องปิดกิจการ ฝ่ายลูกจ้างก็เช่นกัน อาจถูกลดเงินเดือน หรือถึงขั้นตกงาน ซึ่งทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ลูกจ้างไม่มีเงินเหลือที่จะสะสมเข้ากองทุน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ไม่มีเงินเหลือที่จะสมทบเข้ามา ดังนั้น การมีทางออกที่ดีย่อมลดความเสียหาย และยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไป


ปิดถาวร เสียหายหลายแสน


วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก กระทรวงการคลังจึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว โดยให้นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสามารถขอเลื่อนหรือขอหยุดส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ชั่วคราว ซึ่งนับเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ก็สามารถกลับมาส่งเงินสะสมและเงินสมทบต่อไปได้ดังเดิม

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหยุดชั่วคราว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ยังนับต่อเนื่อง เงินกองทุนก็ยังอยู่
และยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอายุการเป็นสมาชิกก็นับต่อเนื่องด้วยเช่นกัน”


ตรงกันข้าม หากไม่มีการประกาศมาตรการช่วยเหลือนี้ออกมา อาจทำให้ฝ่ายนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ไม่มีเงินส่งสมทบ ขณะเดียวกันลูกจ้างก็ไม่มีเงินสะสมเข้ามา จึงมีโอกาสที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะปิดอย่างถาวร


“ถ้าปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอยากกลับมาเปิดใหม่ก็ทำได้ แต่จะเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ที่สำคัญสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่”


สมมติว่าฝ่ายนายจ้างตัดสินใจปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบถาวร แต่กิจการยังดำเนินอยู่ ลูกจ้างก็ยังทำงานต่อไป “ให้ลูกจ้างโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” เพื่อคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะถ้านำเงินออกมา ก็ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตอนสิ้นปี และที่สำคัญเป้าหมายการออมเงินเพื่อเกษียณต้องสะดุดลง


ตกงาน
 ควรทำอย่างไร


เมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤติ มักตามมาด้วยข่าวการปลดพนักงาน และเมื่อพนักงานกลายเป็นผู้ว่างงาน หลายคนจะนึกถึงการนำเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาใช้จ่าย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก ทางที่ดี... เราไม่ควรลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และไม่ควรนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้จ่าย


เพราะวัตถุประสงค์หลักของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ เป็นแหล่งออมเงินเพื่อเกษียณ ถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤติแล้วถอนเงินออกจากกองทุนนี้ไปใช้ ย่อมทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการวางแผนเกษียณ แปลว่า... เมื่อถึงวันที่เกษียณ ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีรายได้ประจำจากการทำงานแล้ว อาจเป็นวิกฤติที่แท้จริงของชีวิต


ถ้าพูดกันตามหลักของการวางแผนการเงินที่ดี เราควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่หากตกงานกะทันหัน เงินฉุกเฉินก็ไม่มีหรืออาจมีไม่พอ ให้รีบติดต่อประกันสังคมภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน เพื่อขอรับ “สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน” ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนระหว่างที่กำลังหางานใหม่ได้


3 ทางเลือก... จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบไม่เสียภาษี


หากต้องออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนที่จะเกษียณ มี 3 ทางเลือกในการบริหารจัดการเงินกองทุนที่จะได้มา เพื่อให้เงินก้อนนี้ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

  1. คงเงินเอาไว้กับนายจ้างเก่า

แม้ว่าจะถูกเลิกจ้าง แต่ลูกจ้างสามารถคงเงินเอาไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับนายจ้างเก่าต่อไปได้ โดยเงินที่คงไว้จะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป เพียงแต่จะไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเก่านับจากวันที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน และเสียค่าธรรมเนียมการคงเงินไว้ที่ 500 บาทต่อปี


อย่าลืม!!! ตรวจสอบข้อบังคับหรือเงื่อนไขของกองทุนด้วย เช่น บางบริษัทกำหนดให้คงเงิน PVD ได้ไม่เกิน 3 ปี เป็นต้น

  1. โอนไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่

เมื่อถูกเลิกจ้างและตัดสินใจคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้กับนายจ้างเก่า แต่เมื่อได้งานใหม่และนายจ้างใหม่ก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ควรโอนไปอยู่กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่


วิธีการนี้จะทำให้คงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการคงเงิน ที่สำคัญ... ยังนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่องได้ด้วย

 

  1. โอนไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

หากนายจ้างเลิกกิจการหรือถูกเลิกจ้าง และตัดสินใจทำงานเป็นฟรีแลนซ์ ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ โอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะนอกจากจะยังคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ยังช่วยให้เงินยังคงลงทุนต่อไป และทำให้บรรลุเป้าหมายการวางแผนเพื่อเกษียณได้ด้วย


เกษียณปีนี้ ทำอย่างไร


สำหรับคนที่จะเกษียณในปีนี้ หากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินหรือยังไม่มีแผนจะนำเงินไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ ควรคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป เพื่อให้เงินลงทุนและสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง และหากต้องการใช้เงิน ก็ควร “ขอรับเงินเป็นงวด” ออกไปใช้เท่าที่จำเป็น เพราะการรับเงินเป็นงวด ก็ยังคงสถานะสมาชิกกองทุนอยู่เช่นเดิม (สามารถขอคำแนะนำและรายละเอียดเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกองทุน)


จะเห็นว่า... คนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ดังนั้น หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรลาออกและถอนเงินออกไปใช้ เพราะกองทุนนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์เงินเดือน สามารถบรรลุเป้าหมายการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณได้ง่ายขึ้น


สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มวางแผนเกษียณ หรืออยากรู้เคล็ดลับเพิ่มเงินออมในกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: