นักลงทุนจะคุ้นเคยจากการฟังข่าวเกี่ยวกับตลาดหุ้นหรืออ่านผ่านบทวิเคราะห์ว่า “ดัชนีหุ้นได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 52 สัปดาห์” หรือ “ดัชนีหุ้นเพิ่งจะทำจุดต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์เมื่อวานนี้” ซึ่งอาจสงสัยว่า จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ หรือคุ้นเคยว่า 52 Week High/Low นั้น มีความหมายและมีความสำคัญอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นสามารถนำมาปรับใช้กับการลงทุนได้อย่างไร
จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ คือ จุดที่ดัชนีหุ้นหรือราคาหุ้นที่นักลงทุนกำลังสนใจไปแตะจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์ (1 ปี) โดยราคาที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ราคาปิดของวัน แต่เป็นราคาที่ไปแตะจุดสูงสุดหรือปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์
โดยตัวเลขราคาสูงสุดหรือต่ำสุดใน 52 สัปดาห์ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความผันผวนของราคาหุ้นหรือดัชนีหุ้นในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนจึงใช้ดูแนวโน้มของราคาหุ้นหรือดัชนีหุ้นว่ายังมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนใช้จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ในการวิเคราะห์หุ้น XYZ โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ 500 บาทต่อหุ้น และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 100 บาทต่อหุ้น จะเห็นได้ว่าจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดห่างกันค่อนข้างมาก จึงตีความได้ว่าหุ้น XYZ มีความผันผวนค่อนข้างมากในรอบ 52 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น หากเลือกลงทุนในหุ้นดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับความผันผวนเช่นกัน
การใช้จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ในการประกอบการตัดสินใจลงทุน จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการวิเคราะห์ โดยหากเป็นนักลงทุนที่เน้นปัจจัยพื้นฐาน จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ อาจบอกได้เพียงว่าปีที่ผ่านมามีความผันผวนมากน้อยเพียงใด แต่หากเป็นนักลงทุนที่ใช้กราฟเทคนิคในการตัดสินใจลงทุน ก็จะใช้เพื่อช่วยพยากรณ์ราคาหุ้นในอนาคต
ดังนั้น นักลงทุนสายเทคนิคจะใช้จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น เช่น หากราคาหุ้นลงมาทดสอบที่จุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ นักลงทุนจะให้ความสนใจเข้าไปซื้อ ณ จุดดังกล่าว เนื่องจากราคาหุ้นอาจปรับลดลงมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงและอาจเป็นสัญญาณการกลับตัวของราคาหุ้นหากมีแรงซื้อเข้ามามาก ณ จุดต่ำสุด
ในทางกลับกัน หากราคาหุ้นปรับขึ้นมาทดสอบที่จุดสูงสุด 52 สัปดาห์ นักลงทุนอาจใช้ราคานี้เป็นจุดตัดสินใจได้สองทาง ดังนี้
ทางที่ 1 ใช้เป็นจุดขายเพื่อทำกำไร ถ้าหากราคาปรับขึ้นมาทดสอบที่จุดสูงสุด 52 สัปดาห์แล้วไม่สามารถทะลุผ่านราคาดังกล่าวไปได้ จะขายเพื่อทำกำไร หรือไม่ซื้อเพราะหากราคาไม่สามารถทะลุผ่านไปได้ อาจมีแรงเทขายหุ้นตัวนั้นออกมามาก และอาจเป็นการส่งสัญญาณการปรับตัวลงของราคาหุ้นได้
ทางที่ 2 หากสามารถทะลุผ่านจุดสูงสุด 52 สัปดาห์ไปได้ เป็นจุดเข้าซื้อเพราะราคา ณ จุดนี้อาจปรับขึ้นไปได้อีก จากนั้นก็ปล่อยให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไปจนกว่าจะวิเคราะห์และพบจุดกลับตัวของราคา ก็ขายทำกำไร ณ จุดนั้น
จากตัวอย่างดังกล่าว พบว่าจุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ สามารถใช้เป็นแนวรับและแนวต้านได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน เนื่องจากเป็นจุดที่มีแรงซื้อและแรงขายเข้ามา ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นหรือลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำจุดสูงสุดและจุดต่ำสุด 52 สัปดาห์ มาปรับใช้เพื่อพิจารณาว่าจุดใดควรเป็นจุดที่ตัดสินใจซื้อเพื่อทำกำไร หรือจุดใดควรเป็นจุดที่ใช้ในการตัดขาดทุนเพื่อป้องกันความเสียหายจากการลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการอ่านกราฟและแนวโน้มราคาหุ้นประเภทต่าง ๆ ทั้งรูปแบบการกลับตัว (Reversal Pattern) รูปแบบต่อเนื่อง (Continuation Pattern) และรูปแบบเคลื่อนที่ไปข้าง ๆ (Sideway Pattern) เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนให้ถูกจังหวะและเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Technical Analysis : Price Pattern” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่