หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทุกคนต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิตเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า ความปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งชีวิตหลังจากนี้ไป ไม่เพียงแต่ต้องใส่หน้ากากทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน ต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลอดเวลา รวมถึงการทำงานแบบ Work From Home การประชุมผ่านระบบออนไลน์ หรือระบบของโรงเรียนทั่วโลกก็หันมาใช้ระบบ e-Learning มากขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่เหมือนเดิม
ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคโดย McKinsey & Company ซึ่งเริ่มสำรวจตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในต้นปี 2563 ช่วงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มาจนถึงหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว พบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคได้เข้าสู่ยุค New Normal อย่างเต็มตัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัด มีดังนี้
Shift to Value and Essentials ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับมูลค่าและความจำเป็นมากขึ้น เพราะวิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ ที่สำคัญผู้ตอบแบบสอบถามยังไม่มั่นใจแบบ 100% ว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นภาพเดิมเหมือนก่อนเกิดการระบาดหรือไม่ จึงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เช่น ซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
Flight to Digital and Omnichannel วิกฤติ COVID-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการซื้อของออนไลน์และถึงแม้หลาย ๆ กิจกรรมจะเริ่มกลับมาเปิดได้ตามปกติก็ยังติดใจกับบริการส่งสินค้าถึงบ้าน สะท้อนได้ว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการบริการที่เลี่ยงการสัมผัสเพื่อลดภาวะการติดเชื้อ จึงประเมินว่าการใช้ระบบดิจิทัลจะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคในระยะยาว
Shock to Loyalty ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าน้อยลง โดยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อข้าวของจากมูลค่า ความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินค้า และคุณภาพเป็นหลัก
Health and Caring Economy ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและมาตรฐานสุขอนามัย เช่น เลือกซื้อข้าวของกับร้านค้าที่มีการทำความสะอาดและเว้นรักษาระยะห่างที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังตัดสินใจซื้อข้าวของที่มีบรรจุภัณฑ์สะอาดปลอดภัย หรือซื้อจากบริษัทที่แสดงความใส่ใจห่วงใยพนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
Homebody Economy ถึงแม้ว่าผู้คนจะใช้ชีวิตภายในบ้านมากยิ่งขึ้น แต่ก็เกิดการจับจ่ายใช้สอยตลอดเวลา เช่น การชอปปิงออนไลน์ การส่งอาหารเดลิเวอรี่ การศึกษาออนไลน์ การทำงานจากบ้าน การเล่นเกม การเป็นสมาชิกบริการสตรีมมิ่งเพื่อความบันเทิง ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน
จากผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย หมายความว่า หากต้องการเพิ่มโอกาสของผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุนก็ต้องมองหาสินทรัพย์ลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย
สินทรัพย์ลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี
บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ทหารไทย กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีได้รับประโยชน์จากวิกฤติ COVID-19 ชัดเจนที่สุด ครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (Digital Transformation) ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ในการผลิต การจัดเก็บและบริหารข้อมูลบน Cloud การใช้ AI ออกแบบและบริหารระบบ Supply Chain ของบริษัท รวมถึงเทคโนโลยี 5G เป็นต้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ธุรกิจให้ความสำคัญเรื่องลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และลดหรือบริหารความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์อาจจะประหยัดต้นทุนได้ เนื่องจากราคาปัจจุบันก็ถูกลงมากและไม่จำเป็นต้องปิดโรงงานหากคนงานสักคนติดโรคระบาด เทรนด์นี้รวมไปถึงการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น ธุรกิจ E-commerce หรือจะเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
กลุ่มนวัตกรรมการแพทย์และไบโอเทคโนโลยี
วรสินี เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุนและสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ ประเมินว่า นวัตกรรมการแพทย์กำลังเป็นธุรกิจที่ทั่วโลกจับตามอง หลังโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างเยี่ยมชมบริษัท Pfizer ว่า “เมื่อเอาชนะ COVID-19 ได้แล้ว เราจะทำทุกอย่างเพื่อยุติมะเร็ง”
ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์อย่าง “ไบโอเทคโนโลยี” จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากนโยบายนี้ จากการคิดค้นนวัตกรรมและผลิตยารักษามะเร็ง ทำให้ในอนาคตก็มีโอกาสเติบโตอีกมาก เห็นได้จากยอดขายยาที่ผลิตจากนวัตกรรมไบโอเทคโนโลยี เริ่มแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดยาโลกเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Evaluate Pharma คาดว่าในปี 2565 ยาที่มาจากนวัตกรรมไบโอเทคโนโลยีจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 32% เพิ่มขึ้น 90% จากปี 2555 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20%
ขณะที่มูลค่าตลาดของธุรกิจดิจิตอลเฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่าง “Digital และ Medtech” มีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดย Global Market Insights คาดว่าในปี 2569 มูลค่าตลาดของธุรกิจดิจิตอลเฮลธ์แคร์จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 639,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตกว่า 28.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ช
ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าการปรับตัวของผู้บริโภคที่หันมาซื้อของออนไลน์หรือผ่านทางแอปพลิเคชั่น ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชทั่วโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสามารถลงทุนต่อเนื่องได้ในระยะยาว เพราะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนตลอดไป ตามความสะดวกสบาย และการกระตุ้นการขายของผู้ประกอบการ
KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทยหลัง COVID-19 จะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2568 โดยเฉพาะในปี 2563 ธุรกิจนี้ของไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 80% สะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ยังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ไปด้วย ได้แก่ ธุรกิจคลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ ขนส่ง รวมถึงโฆษณาออนไลน์ด้วย
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่