เงินดอลลาร์ เงินยูโร และเงินเยน โอกาสของนักเทรดค่าเงิน

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
30 พฤศจิกายน 2565
10.985k views
Inv_เงินดอลลาร์ เงินยูโร และเงินเยน โอกาสของนักเทรดค่าเงิน_Thumbnail
Highlights

ในช่วงที่ผ่านมา กระแสการเก็งกำไรค่าเงินได้ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เช่น การเทรด Forex แต่การเทรด Forex ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับในประเทศไทย ดังนั้น TFEX จึงได้เพิ่มทางเลือกในการเทรดค่าเงิน โดยการออก Currency Futures ที่อ้างอิงกับ 2 สกุลเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ EUR/USD และ USD/JPY Futures

นับตั้งแต่ต้นปี 2565 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 เริ่มคลี่คลาย พบว่าปริมาณความต้องการใช้พลังงานได้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว รวมทั้งปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้กระตุ้นให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง

 

ผลที่ตามมาได้ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น เกิดเงินเฟ้อขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ถือเป็นธนาคารกลางแรก ๆ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้อ่อนค่าจากบริเวณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทำจุดอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ที่ 38.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ค่าเงินบาทก็พลิกแข็งค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความผันผวนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการนำเข้า - ส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ด้วยเหตุนี้ การบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญอย่างมากในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง โดยในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX ได้มี USD Futures ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้ในการป้องกันความเสี่ยงได้

 

นอกจากนี้ ยังมี EUR/USD Futures และ USD/JPY Futures ที่เป็น Currency Futures 2 ตัวล่าสุด ที่เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงหรือเก็งกำไรจากความผันผวนของค่าเงินได้เช่นกัน

 

เมื่อกล่าวถึง Currency Futures หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ในปัจจุบันตลาด TFEX เปิดให้เทรดอยู่ 3 คู่สกุลเงิน ได้แก่ THB/USD, EUR/USD และ USD/JPY ทั้งนี้ จุดเด่นของ Currency Futures ที่น่าสนใจมีดังนี้

  1. มีระบบการซื้อขายที่โปร่งใส เนื่องจากซื้อขายในตลาด TFEX และมีกฎหมาย พรบ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า คุ้มครอง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งเป็นสินค้าที่ได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. สามารถวางเงินหลักประกันเป็นสกุลเงินบาท โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นให้ยุ่งยาก และคิดกำไร/ขาดทุนเป็นเงินบาท ด้วยตัวคูณ (Multiplier) แบบคงที่ในแต่ละคู่สกุลเงิน
  3. ผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบให้ราคาเคลื่อนไหวสะท้อนราคาคู่สกุลเงินนั้น ๆ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถวิเคราะห์และติดตามความเคลื่อนไหว ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งกลางวันและกลางคืน
  4. ใช้เงินลงทุนน้อยและเพิ่มโอกาสทำกำไรด้วย Leverage ที่เหมาะสมประมาณ 3 – 5% ของมูลค่าสัญญา

 

ทำความเข้าใจคู่สกุลเงิน
Base Currency / Quote Currency
คู่สกุลเงินจะมีสกุลเงินข้างหน้าจะเรียกว่า Base Currency ซึ่งจะมีค่าเท่ากับ 1 เสมอ และสกุลเงินข้างหลังจะเรียกว่า Quote Currency เช่น EUR/USD = 1.0125 หมายความว่า 1 EUR มีค่าเท่ากับ 1.0125 USD หรือ USD/JPY = 140.55 หมายความว่า 1 USD มีค่าเท่ากับ 140.55 JPY

Inv_เงินดอลลาร์ เงินยูโร และเงินเยน โอกาสของนักเทรดค่าเงิน_01

ตัวอย่าง คาดว่าค่าเงิน USD จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับ JPY จึงเลือกเปิดสถานะซื้อ (Open Long) USD/JPY เมื่อค่าเงิน USD แข็งค่าขึ้นตามคาด จึงส่งคำสั่ง Close Short จะได้กำไร โดยคำนวณจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นคูณกับ Multiplier ของ USD/JPY = 300

Inv_เงินดอลลาร์ เงินยูโร และเงินเยน โอกาสของนักเทรดค่าเงิน_02

ตัวอย่าง คาดว่าค่าเงิน EUR จะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ USD จึงเลือกเปิดสถานะขาย (Open Short) EUR/USD เมื่อค่าเงิน EUR อ่อนค่าตามคาด จึงส่งคำสั่ง Close Long จะได้กำไร โดยคำนวณจากส่วนต่างราคาที่ลดลงคูณกับ Multiplier ของ EUR/USD = 30,000

 

ทิศทางเศรษฐกิจและมุมมองค่าเงิน

สหรัฐอเมริกา

เงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว หลังอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 7.9% และลดลงจากจุดสูงสุดที่ทำไว้เดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 9.1% รวมทั้งในปี 2566 ตลาดคาดว่าเงินเฟ้ออาจลดลงเหลือ 4% เมื่อเทียบกับปี 2565

 

ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.2% ตรงข้ามกับอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (คาดว่าอยู่ที่ระดับ 4.3%) ด้วยเหตุนี้เฟดน่าจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะพลิกกลับมาอ่อนค่าได้

 

นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ค่อนข้างแน่นอนว่าพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ขณะที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาบน ซึ่งการที่สภาบนและสภาล่างมาจากคนละพรรคก็ทำให้การออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่น่าจะเป็นไปได้ยากขึ้น ก็ยิ่งกดดันทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความเสี่ยงอ่อนค่าลงได้อีก โดยสังเกตได้จากช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทมาแล้วประมาณ 7%

 

ญี่ปุ่น

ในปี 2565 ญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้เผชิญปัญหาเงินเฟ้อเหมือนหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.9% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใต้การนำของผู้ว่าการธนาคารกลาง ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งสวนทางกับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ก็ส่งผลให้ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าอย่างหนัก ทำให้ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเยนถึง 3 ครั้งในช่วงปลายปี 2565

 

กระนั้นก็ดี แนวโน้มของเงินดอลลาร์สหรัฐช่วงนี้ที่กลับมาอ่อนค่า ได้ทำให้ค่าเงินเยนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาเคลื่อนไหวบริเวณ 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565) แข็งค่าจากจุดสูงสุดในปีนี้ที่ระดับ 7.9% และมีแนวโน้มที่เงินเยนจะแข็งค่าต่อเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้อีกในปี 2566

 

ยูโรโซน

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วกว่า 2% เพื่อชะลอเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้ โดยอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนเดือนกันยายนที่ผ่านมาสูงถึง 9.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าและมีแนวโน้มที่จะพุ่งเหนือระดับ 10% ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งการที่ธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นจากปัจจุบันเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนที่อยู่ในภาวะเปราะบางมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอย

 

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจในยุโรปจะยังดูไม่สดใสนัก แต่การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยขึ้นมาเคลื่อนไหวที่ 1.04 ดอลลาร์ต่อยูโร (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565) แข็งค่าขึ้นมา 7% นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรอาจมีพลิกแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้บ้าง แต่ในระยะยาวแล้วยังเชื่อว่าอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าจากเศรษฐกิจที่เปราะบาง

 

สรุป

จะเห็นได้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลับมาอ่อนค่าอย่างหนักเมื่อเทียบกับค่าเงินทุกสกุล โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าแล้วกว่า 7.5% นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปีนี้ เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

 

อย่างไรก็ดี ถ้าประเมินอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังถือว่าอยู่สูงกว่าเป้าหมายระยะยาวของเฟดที่ระดับ 2% และยังเหลือการประกาศอัตราเงินเฟ้อในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ ก่อนที่จะเริ่มการประชุมเฟดในวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2565 ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงสุดท้ายของปีนี้ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะมีการประกาศขึ้น 0.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่ เพราะถ้าเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% อาจเห็นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพลิกกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้งในระยะสั้นก็เป็นได้ และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เฟดอาจต้องกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอาจทำให้ทิศทางของค่าเงินผันผวนได้ต่อ

 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ USD Futures ได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้กลยุทธ์การลงทุนใน Futures ทั้งกลยุทธ์การเก็งกำไร กลยุทธ์การถัวความเสี่ยง กลยุทธ์การค้ากำไร และข้อควรระวังการลงทุนใน Futures สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ e-Learning หลักสูตร “รอบรู้กลยุทธ์ลงทุน Futures ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: