ก่อนถึงช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี นักลงทุนหลายคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นมักจะใช้กลยุทธ์ Sell in May and Go Away เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยการขายหุ้นออกไปก่อน เพราะมองว่าตลาดหุ้นมีโอกาสเริ่มปรับตัวลดลงในเดือนพฤษภาคม จากนั้นค่อยกลับเข้ามาซื้อเพื่อลงทุนอีกครั้ง
ดร.ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า สาเหตุที่นักลงทุนบางส่วนอาจมองว่าหุ้นมักจะปรับลดลงในเดือนพฤษภาคม เพราะในเดือนนี้หุ้นขนาดใหญ่เริ่มทยอยจ่ายเงินปันผลประจำปี ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเพื่อสะท้อนมูลค่าหลังจากที่จ่ายเงินปันผลออกมาแล้ว ขณะที่ไตรมาส 2 ของทุกปี มักเป็นไตรมาสที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวมต่ำกว่าไตรมาสอื่น ๆ เนื่องจากเป็นไตรมาสที่มีวันหยุดจำนวนมาก ส่งผลให้มีวันทำงานน้อยกว่าไตรมาสอื่น ๆ
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย (SET TRI) ตั้งแต่ปี 2554 – 2563 มี 6 ปีที่ดัชนีให้ผลตอบแทนเป็นบวก และมี 4 ปีที่ดัชนีให้ผลตอบแทนเป็นลบ และเมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า ดัชนีผลตอบแทนรวมเฉพาะเดือนเมษายน “เป็นบวก” ตลอด 10 ปี เช่นเดียวกับปีนี้ก็เป็นบวกเช่นกัน แต่เมื่อมาถึงดัชนีผลตอบแทนรวมเดือนพฤษภาคม “ติดลบ” 6 ปี และ “เป็นบวก” 4 ปี และเดือนพฤษภาคมปี 2564 ก็เป็นบวก
จากสถิตดังกล่าวพบว่า หลังเดือนพฤษภาคมไปแล้วจะเห็นสัญญาณตลาดฟื้นตัว ทำให้นักลงทุนเริ่มเข้าซื้อหุ้นอีกครั้ง “หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นอาจมีความผันผวนสูงได้ และมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้เลวร้ายอย่างที่กังวล ก็อาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะตัดสินใจลงทุนในช่วงนี้” ดร.ฐนิตพงศ์ กล่าว
สมมตินักลงทุนเชื่อว่า เดือนพฤษภาคมของทุกปีมีโอกาสสูงที่จะเกิดปรากฏการณ์ Sell in May จึงตัดสินใจลงทุนด้วยวิธีถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ที่มีการทยอยลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน ด้วยการเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายนปีถัดไป และตัดสินใจขายก่อนเดือนพฤษภาคม ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ เพราะหากดูตามสถิติตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทยเดือนเมษายน “เป็นบวก” ทุกปี
สำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก ทางออกที่น่าสนใจ คือ การลงทุนแบบ DCA ซึ่งเป็นการทยอยลงทุนแบบสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กัน โดยอาจลงทุนเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส แล้วแต่จะกำหนดความถี่ในการลงทุน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ได้ซื้อหุ้นทั้งในช่วงที่สภาวะการลงทุนดีและไม่ดี โดยไม่สนใจว่าราคาของหุ้นที่เลือกลงทุน ณ ตอนนั้นเป็นราคาเท่าไร จึงส่งผลให้ได้ราคาต้นทุนแบบถัวเฉลี่ย และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
การลงทุนแบบ DCA นอกจากเป็นการทยอยลงทุนแล้ว ยังช่วยตัดอารมณ์ความรู้สึกเวลาที่ราคาหุ้นขึ้น ๆ ลง ๆ ออกไปได้ รวมถึงทำให้ลงทุนได้แบบอัตโนมัติไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน โดยตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่ต้องการลงทุนเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นการสร้างวินัยในการออมอีกด้วย
ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่ง ที่ให้บริการการลงทุนแบบ DCA โดยจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่ได้เลือกไว้ว่าจะลงทุนทุกเดือนสม่ำเสมอ ทำให้ได้หุ้นที่มีราคาต้นทุนเฉลี่ยจากทุกสภาวะตลาด
ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ เหมาะกับผู้ที่มีเงินลงทุนตั้งต้นไม่มาก แต่ต้องการทยอยสะสมหุ้นเพื่อให้เงินทำงาน และได้ผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจ
อีกทั้ง ไม่ต้องใช้เวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสารหรือราคาหุ้นในตลาดมากนัก แต่อาจต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันในการคัดเลือกหุ้นพื้นฐานดีก่อนตัดสินใจลงทุน จากนั้นก็คอยติดตามข่าวสารอยู่ห่าง ๆ เผื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้หุ้นที่เลือกลงทุนอยู่มีปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคอยดูโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงราคาหุ้นขาลง เพราะใช้เงินลงทุนเท่าเดิม แต่ได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการขาดทุนหนัก ๆ ได้ หากราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง
สำหรับมือใหม่ ที่สนใจเรียนรู้เทคนิคลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA ในหุ้นดี กองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่