สร้างเสาหลักความมั่งคั่ง ผ่านพอร์ตกองทุนรวม

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
11 ตุลาคม 2564
2.363k views
PF_สร้างเสาหลักความมั่งคั่ง ผ่านพอร์ตกองทุนรวม_Thumbnail
Highlights

หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อลงทุนกองทุนรวมแล้ว ทำไมต้องจัดพอร์ตให้เหนื่อยอีก ในเมื่อมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา คำตอบคือ ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม ต้องคอยติดตามและจัดพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง เพื่อที่จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ

นักลงทุนอาจจะเคยสงสัยว่า ลงทุนกองทุนรวมต้องสร้างพอร์ตกองทุนรวมด้วยเหรอ เพราะเป็นที่รู้กันว่า เมื่อลงทุนกองทุนรวมไปแล้ว จะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเม็ดเงินลงทุนให้ จึงไม่จำเป็นต้องจัดพอร์ตกองทุนรวมให้วุ่นวายอีก ข้อสงสัยดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะถึงแม้จะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเงินให้ก็จริง แต่เป็นการดูแลให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมนั้น ๆ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายของนักลงทุนเอง จึงควรจัดพอร์ตกองทุนรวม เพื่อจัดสรรเงินลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้

 

การสร้างพอร์ตกองทุนรวมไม่ได้ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน เพราะหลักการสร้างหรือจัดพอร์ตกองทุนรวมไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว เนื่องจากนักลงทุนแต่ละคน มีความต้องการ มีเป้าหมายทางการเงิน มีเป้าหมายชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ก่อนสร้างพอร์ตกองทุนรวม นักลงทุนต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่า มีเป้าหมายการลงทุนและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงเป็นอย่างไร อันดับแรกให้ถามตัวเองก่อนว่า

 

  • มีเป้าหมายลงทุนเพื่ออะไร เช่น เป้าหมายระยะสั้น เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป้าหมายระยะกลาง เพื่อเก็บเงินดาวน์บ้าน หรือซื้อรถ และเป้าหมายระยะยาว เพื่อเก็บเงินไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ หรือเพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียน
  • รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ทำแบบประเมินความเสี่ยง (Suitability Test) เพื่อประเมินว่า นักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ารับความเสี่ยงได้สูง ก็สามารถลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงตามไปด้วย แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ต้องหาช่องทางการลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ต้องยอมรับกับผลตอบแทนในระดับต่ำด้วยเช่นเดียวกัน

 

เมื่อสำรวจหรือรู้จักตัวเองแล้ว นักลงทุนก็จะสามารถจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ เพื่อสร้างพอร์ตกองทุนรวมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ตัวอย่าง การสร้างพอร์ตกองทุนรวมอย่างง่าย ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยง เริ่มจากถ้านักลงทุนมีเป้าหมายว่า ต้องการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอายุในอีก 30 ปีข้างหน้า ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงได้ (เพราะอีกหลายปีกว่าจะเกษียณ) เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมดัชนี กองทุนรวม RMF หรือกองทุนรวมทางเลือกอย่างกองทุนรวมทองคำ เป็นต้น

 

ตรงกันข้าม หากนักลงทุนมีเป้าหมายที่ต้องการเก็บเงินเพื่อที่จะเกษียณอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งตามหลักแล้ว ผู้ที่กำลังจะเกษียณไม่ควรให้เงินต้นหดหาย ควรรักษาเงินต้นให้ปลอดภัย ก็ต้องลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้น

 

หลังจากรู้เป้าหมายและจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ก็ต้องมีการกระจายการลงทุน เพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนอาจมองว่า แต่ละกองทุนก็มีการกระจายการลงทุนอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้น แต่ละกองทุนก็จะมีการลงทุนในหุ้นหลายตัวตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมนั้น ๆ เช่น ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ลงทุนหุ้นปันผล เป็นต้น หรือถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่ละกองทุนก็จะลงทุนในตราสารหนี้ที่หลากหลายตามนโยบายการลงทุน เช่น ลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ลงทุนหุ้นกู้ เป็นต้น

 

เมื่อกองทุนรวมแต่ละกอง มีการกระจายการลงทุนที่หลากหลายแบบนี้ ทำให้นักลงทุนอาจเข้าใจผิดได้ว่า ถ้าซื้อหลาย ๆ กองทุน แสดงว่ายิ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งซื้อกองทุนรวมในจำนวนมาก เช่น 10 กองทุน  20 กองทุน ก็ยิ่งกระจายความเสี่ยง

 

ความเข้าใจผิดนี้ ไม่ใช่วิธีที่จะสร้างพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ดี เพราะความจริงแล้วนักลงทุนที่จะสร้างพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวม ควรจะมีกองทุนรวมที่เป็นกองทุนหลัก (Core Portfolio) 3 – 4 กองทุน คือ กองทุนรวมที่สามารถพึ่งพาอาศัยในระยะยาวได้ เปรียบเสมือนเสาหลักของพอร์ตลงทุน

 

โดยกองทุนรวมที่เป็นเสาหลักของพอร์ตลงทุน ควรเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ผลตอบแทนไม่หวือหวา เพราะสิ่งที่ต้องการในกองทุนรวมหลัก คือ ความมั่นคง

 

ถ้ากองทุนรวมหลักเป็นกองทุนรวมหุ้น ควรเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นบลูชิป มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หรือเลือกกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายเน้นลงทุนหุ้นปันผล

 

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนต้องการใช้กองทุนรวมหุ้นเป็นกองทุนหลักของพอร์ตลงทุน 3 - 4 กองทุน ก็ต้องเข้าไปดูว่า แต่ละกองทุนรวมหุ้นนั้นมีนโยบายการลงทุนแบบไหน เนื่องจากว่าแต่ละกองทุนอาจจะมีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ อาจจะลงทุนในหุ้นบลูชิปหรือลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลตัวเดียวกัน

 

หากเป็นเช่นนี้ ถึงแม้จะลงทุนกองทุนรวมหลายกองทุน แต่นโยบายการลงทุนเหมือนกัน อาจทำให้ประสิทธิภาพการกระจายความเสี่ยงทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น ก่อนลงทุนก็ต้องดูนโยบายการลงทุนด้วยว่า แต่ละกองทุนรวมลงทุนหุ้นตัวไหนบ้าง

 

เช่นเดียวกัน หากใช้กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นกองทุนหลักของการสร้างพอร์ตลงทุน ก็ใช้หลักการเดียวกันกับกองทุนรวมหุ้น

 

สำหรับกองทุนรวมที่จะเป็นเสาหลักของพอร์ตลงทุน อาจมีน้ำหนักประมาณ 50 - 60% ของพอร์ตลงทุนโดยรวม เมื่อนักลงทุนเลือกกองทุนรวมหลักได้แล้ว ที่นี้ก็มาเลือกกองทุนรวมอื่นๆ เพื่อเติมเต็มให้พอร์ตลงทุนสมบูรณ์ขึ้น

 

เนื่องจากกองทุนรวมหลักจะต้องมีความมั่นคง ผลตอบแทนไม่หวือหวา ดังนั้น กองทุนรวมที่จะเลือกเข้ามาประกอบในการสร้างพอร์ตลงทุนอาจเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนดูดีขึ้น เช่น ถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นก็สามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนหุ้นขนาดเล็ก หุ้นเติบโต ถ้าเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้อาจจะเลือกกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนหุ้นกู้ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ นักลงทุนอาจจะแบ่งเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในกองทุนรวมทางเลือก เช่น กองทุนรวมทองคำ หรือกองทุนรวมน้ำมัน เพื่อทำกำไร (Take Profit) ในช่วงที่ราคาทองคำและราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งกองทุนรวมดังกล่าวสามารถซื้อขายในระยะสั้นได้ ส่วนกองทุนรวมที่เป็นเสาหลักของพอร์ตลงทุนเป็นการถือเพื่อลงทุนระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการสร้างพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวมในเบื้องต้นเท่านั้น นักลงทุนควรจะต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อที่พอร์ตลงทุนจะมีหน้าตาที่ดูดีและสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับเจ้าของพอร์ตลงทุนได้สม่ำเสมอ

 

สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้กระบวนการสร้างและบริหารพอร์ตการลงทุน ด้วยกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้เงินออม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “สร้างพอร์ตกองทุนรวมแบบ DIY” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

e-Learning น่าเรียน