วัย 50 กับ Road Map ลงทุนก่อนเกษียณ

โดย โกเมศ สุพลภัค, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
4 Min Read
8 ตุลาคม 2564
5.653k views
PF_วัย 50 กับ Road Map ลงทุนก่อนเกษียณ_Thumbnail
Highlights

วัย 50 ก่อนเกษียณ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการวางแผนการเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ จึงต้องมีการวางแผนการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงและจัดการเงินลงทุนให้งอกเงย โดยต้องรักษาเงินต้นให้ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องบรรลุเป้าหมายการลงทุนด้วย…วัย 50 ต้องวางแผนการลงทุนอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

เมื่อพูดถึงวัย 50 กับแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณจะมีหลากหลายช่องทาง แต่หากพูดถึงช่องทางที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณโดยตรง คงต้องเป็นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

 

กองทุนทั้ง 2 ประเภท มีลักษณะที่คล้ายกันในเรื่องของการสะสมผลตอบแทนที่ยาวนาน เช่น หากลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เช่น อายุ 22 ปี จนถึงวันที่สามารถนำเงินออกมาจากกองทุนได้ตอนอายุ 55 ปี (รวมระยะเวลาลงทุน 33 ปี) ก็มีโอกาสที่จะมีเงินเก็บเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหลังเกษียณ

 

สำหรับวิธีการลงทุนใน 2 กองทุนนี้ ก็ไม่แตกต่างจากการลงทุนประเภทอื่น ๆ เช่น ช่วงอายุน้อยก็สามารถจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็ควรลดความเสี่ยงลง เพื่อรักษาเงินต้นและควบคุมความเสี่ยง เพราะหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนที่สะสมได้ ดังนั้น วัย 50 ปีควรปรับพอร์ตลงทุนให้มีความเสี่ยงน้อยลงและจัดการเงินลงทุนเพื่อการเกษียณ ดังนี้

 

1. รวบรวมข้อมูลของแหล่งเงินออมที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้ได้เห็นภาพรวมของสินทรัพย์เพื่อการเกษียณทั้งหมด จึงต้องจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลไว้ในที่เดียวกัน เช่น จดบันทึกในสมุด จดบันทึกในแอปพลิเคชัน หรือจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์ Excel เป็นต้น เพราะในความเป็นจริงนอกจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวม RMF แล้ว อาจมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้น กองทุนรวมทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก ทองคำ เป็นต้น

 

2. ปรับแผนการลงทุน เมื่อลงทุนตามแผนอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งเข้าสู่วัย 50 ปี หมายความว่ากำลังเข้าใกล้เป้าหมายแล้ว ควรลดความเสี่ยงของการลงทุนเพื่อป้องกันความเสียหาย หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและทำให้มูลค่าเงินลงทุนลดลงจนพลาดเป้าหมาย เช่น เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด ส่วนจะปรับลดสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน

 

3. ลงทุนต่อเนื่อง เมื่อปรับแผนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการลงทุนตามแผนต่อไป ถึงแม้ว่าจะเหลือเวลาก่อนการเกษียณเพียง 5 - 10 ปีก็ตาม แต่ระยะเวลาเท่านี้ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจได้เช่นกัน ดังนั้น อย่าหยุดลงทุน

 

และถึงแม้ว่าจะเกษียณไปแล้วก็ตาม พอร์ตการลงทุนเพื่อเป้าหมายการเกษียณก็ยังคงต้องมีการลงทุนต่อไป แต่การลงทุนหลังจากเกษียณต้องมีการควบคุมความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้าม หากพอร์ตลงทุนไม่มีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเลยก็อาจจะเป็นความเสี่ยงอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจมีเงินไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตหลังเกษียณได้

 

นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวม RMF แล้ว สำหรับวัย 50 อาจมีแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นเพิ่มเติม ซึ่งสามารถประยุกต์ขั้นตอนดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดการแหล่งเงินออมอื่น ๆ เพื่อการเกษียณได้เช่นกัน

 

4. ประเมินพอร์ตลงทุนสม่ำเสมอ

วิธีการประเมินพอร์ตลงทุนที่ง่ายที่สุดโดยหลักการแล้ว คือ การเทียบกับตัวเลขเป้าหมายของตัวเอง โดยเฉพาะวัย 50 ซึ่งถึงเวลาที่ต้องใส่ใจในการประเมินพอร์ตลงทุนว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ โดยขั้นตอนในการประเมินพอร์ตลงทุน (ในที่นี้จะยกตัวอย่างการประเมินพอร์ตลงทุนกองทุนรวม) มีดังนี้

 

  • ตรวจสอบผลตอบแทนเทียบกับเป้าหมายว่าเป็นไปตามแผนการลงทุนหรือไม่

ให้นำแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำผลตอบแทนจากการลงทุนจริง มาเปรียบเทียบกับแผนการลงทุน เพื่อดูว่ายังคงเป็นไปตามแผนหรือไม่

 

ถ้ายังเป็นไปตามแผนการลงทุน ให้ดำเนินการลงทุนตามแผนต่อไป เช่น วัย 50 ต้องมีเงินสะสม 5 ล้านบาท และเมื่อนำผลตอบแทนจากการลงทุนจริงมาเทียบก็ได้ 5 ล้านบาทเช่นกัน หากเป็นเช่นนี้ ก็ให้ดำเนินการตามแผนต่อไป แต่เมื่อนำผลตอบแทนการลงทุนจริงมาเทียบแล้วได้เพียง 3.5 ล้านบาท ก็ต้องปรับพอร์ตลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามแผน

 

  • สำรวจผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนเทียบกับตัวชี้วัด (Benchmark) ว่าเป็นอย่างไร

เมื่อช่วงเริ่มต้นตั้งเป้าหมายและจัดทำแผนการลงทุน แผนการลงทุนจะมีการระบุตัวชี้วัด (Benchmark) เอาไว้ หากดำเนินการในข้อแรกแล้วพบว่า การลงทุนจริงไม่เป็นไปตามแผน แสดงว่า อาจเกิดปัญหาว่าประเภทกองทุนรวมที่เลือกลงทุน มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือกองทุนรวมบางกองมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่ากองทุนรวมอื่น ๆ

 

การดำเนินการตามขั้นตอนนี้ เป็นการดูผลงานของประเภทกองทุนรวมทั้งกลุ่มว่าเป็นอย่างไร เช่น หากในแผนการลงทุน มีการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นไทย ผลตอบแทนของหุ้นไทยก็คือตัวชี้วัด ดังนั้น ต้องนำผลตอบแทนจริงมาเทียบกับผลตอบแทนของหุ้นไทยว่าเป็นอย่างไร ถ้าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงดีกว่า แสดงว่ากองทุนรวมที่เลือกมานั้นทำผลงานได้ดี แต่ถ้าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่า ต้องดูว่าเกิดจากปัจจัยอะไร จากนั้นก็ดำเนินการปรับพอร์ตลงทุนต่อไป

 

  • ดูผลตอบแทนเป็นรายกองทุนเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน (Peer Performance) ว่าเป็นอย่างไร

หากตรวจสอบแล้วพบว่า ประเภทของกองทุนที่เลือกไว้ยังให้ผลตอบแทนที่ดีเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ปัญหาอาจอยู่ที่บางกองทุนมีผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่ประเมินเอาไว้ ดังนั้น จึงควรพิจารณาเป็นรายกองทุนที่อยู่ในพอร์ตลงทุน

 

วิธีที่จะทำให้รู้ว่ากองทุนที่เลือกมานั้น สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีหรือไม่ คือ การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile) โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้จัดทำตารางขึ้นมา หรือดูผลการดำเนินงานของกองทุนเปรียบเทียบแบบ Percentile ได้จาก Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมนั้น

PF_วัย 50 กับ Road Map ลงทุนก่อนเกษียณ_01

ข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile) เป็นการจัดเรียง % อัตราผลตอบแทน (Return) จากมากไปน้อย และจัดเรียง % ค่าความเสี่ยง (ใช้ค่า Standard Deviation หรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) จากน้อยไปมาก ของกองทุนรวมที่อยู่ในประเภทเดียวกัน สำหรับระยะเวลา 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี และ 10 ปี ย้อนหลัง

 

โดยค่าที่แสดงในตารางเป็นตัวเลขผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 5 หรือ Top 5%, เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 25 หรือ Top 25%, เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 50 เป็นค่ากลางของผลตอบแทนและความเสี่ยง (Median Performance), เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 75 หรือ Bottom 25%, และเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 95 หรือ Bottom 5%

 

นักลงทุนสามารถนำผลตอบแทนหรือความเสี่ยงของกองทุนรวมที่สนใจหรือลงทุนอยู่ ไปเทียบกับค่าในตารางที่ระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ต่าง ๆ ก็จะทราบได้ว่า กองทุนรวมนั้น ๆ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับใด เมื่อเทียบกับกองทุนรวมที่อยู่ในประเภทเดียวกัน

 

เมื่อดูผลตอบแทนเป็นรายกองทุนเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน (Peer Performance) ให้พิจารณาว่ากองทุนที่ลงทุนอยู่ใน Percentile ที่เท่าใด โดยปกติก็ต้องการได้กองทุนที่มีผลการดำเนินงานใน 5th Percentile (กองทุนที่ดีที่สุดใน 5% แรกของกลุ่ม) แต่ในความเป็นจริงคงหากองทุนที่อยู่ใน 5th Percentile ตลอดเวลาไม่ได้ จึงต้องดู Percentile หลายช่วงเวลา พร้อมกับวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ เพื่อให้เข้าใจว่าสาเหตุใดที่ทำให้กองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานเป็นเช่นนั้น

 

มาถึงขั้นตอนนี้ น่าจะพบสาเหตุของผลตอบแทนในการลงทุนที่เกิดขึ้นได้แล้วว่ามาจากปัจจัยใด หากพิจารณาแล้วว่าเป็นเพราะผลการดำเนินงานของกองทุนนั้นต่ำกว่ากองทุนอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน ก็ให้ปรับกองทุนดังกล่าวออก หรือปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุนเพื่อปรับพอร์ตต่อไป

 

สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: