จากกระแสผู้มีเงินออมหันมานิยมลงทุนในทองคำมากขึ้น ทั้งทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ เนื่องจากทองคำให้ผลตอบแทนระยะยาวชนะเงินเฟ้อ และ ความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในภาวะวิกฤติต่างๆ นักลงทุนในทองคำจึงควรหาช่องทางการลงทุนที่สามารถ เพิ่มโอกาสในการทำกำไร และ ลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผัวผวนของราคา ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในทองคำ และได้รับความสนใจจากนักลงทุน ก็คือ Gold Futures
Gold Futures หรือสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า เป็นเครื่องมือที่นักลงทุนสามารถใช้ทำกำไรได้ตามการคาดการณ์ที่มีต่อราคาทองคำทั้งในภาวะราคาทองคำขาขึ้นและขาลง ด้วยลักษณะเด่น ที่ซื้อก่อนขายหรือขายก่อนซื้อก็ได้ รวมทั้งยังใช้เงินลงทุนน้อย เพื่อสร้างกำไรได้มากกว่า
การซื้อขาย Gold Futures ต่างจากการลงทุนในหุ้นและทองคำ ตรงที่ Gold Futures เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า นักลงทุนจึงไม่ต้องจ่ายเงินทั้งจำนวน เพียงแค่วางเงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญาทั้งจำนวนไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ เพื่อเป็นเงินมัดจำ ก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย
การซื้อขาย Gold Futures ด้วยเงินลงทุนน้อย ทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุน เช่น หากประเมินว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% จึงทำการซื้อทองคำแท่งน้ำหนัก 10 บาท เพื่อเก็งกำไรที่ราคาบาทละ 40,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนราว 400,000 บาท แต่ถ้าลงทุนใน Gold Futures จะใช้เงินลงทุนเพียงแค่ประมาณ 40,000 บาท เพื่อวางเงินเป็นหลักประกันขั้นต้น (สามารถตรวจสอบจำนวนเงินเพื่อวางเป็นหลักประกันขั้นต้นกับโบรกเกอร์แต่ละแห่งได้) สมมติว่าราคาทองคำปรับขึ้นจริง นักลงทุนที่ซื้อ Gold Futures ก็มีโอกาสได้อัตราผลกำไรสูงกว่าการซื้อทองคำ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
สำหรับกรณีที่ราคาทองคำเป็นขาลง Gold Futures จะช่วยเพิ่มโอกาสทำกำไรได้ โดยใช้เงินลงทุนน้อย เนื่องจากนักลงทุนสามารถวางแค่เงินหลักประกันขั้นต้นก็สามารถทำการขาย Gold Futures ก่อน เพื่อทำกำไรในตลาดขาลงได้ ขณะที่การขายทองคำแท่งอาจมีผลขาดทุนจากการที่ราคาทองปรับลดลง
ที่อธิบายมา หลายคนอาจสงสัยว่า Gold Futures มีข้อที่ต้องกังวลหรือไม่ คำตอบ คือ มี โดยเวลาขาดทุนก็ขาดทุนค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตาม ตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX จะมีกลไกการป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงให้กับนักลงทุน หากลงทุนถูกทาง เงินในพอร์ตลงทุน (ตัวเลขในบัญชีซื้อขาย) จะเพิ่มขึ้นตามระดับกำไรโดยอัตโนมัติ แต่หากลงทุนผิดทาง (ทำให้ขาดทุน) เงินในพอร์ตลงทุนก็จะปรับลดลงหรือการลดทอนวงเงินในบัญชีลงไปโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กรณีขาดทุน จนเงินในบัญชีลดลงต่ำกว่าระดับเงินประกันขั้นต่ำ (Maintenance Margin) โบรกเกอร์อนุพันธ์จะมีการเรียกให้วางเงินหลักประกันเพิ่ม นักลงทุนจะต้องนำเงินมาวางเพิ่มเพื่อให้ยอดเงินประกันในบัญชีกลับมาอยู่ในระดับหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ถือเป็นการแจ้งเตือนนักลงทุนว่า ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะ “สู้ต่อ” หรือ “จะถอย” ถ้าสู้ต่อก็ต้องโอนเงินหลักประกันเข้ามาเพิ่ม ถ้าถอยก็ต้องปิดสถานะหรือขายตัดขาดทุน (Cut Loss)
สำหรับการลงทุนทองคำ หากพิจารณาพฤติกรรมของราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) มักมีทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่านักลงทุนจะลงทุนทองคำแท่ง สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า สามารถลงทุนได้ทั้งหมด แต่ต้องจับจังหวะลงทุนให้แม่นยำ
ดังนั้น ทุกสภาวะการลงทุนจะมีการแกว่งตัวของราคาทองคำ โดยเฉลี่ยแล้วราคาทองคำตลาดโลกจะแกว่งตัววันละ 15 – 25 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ดังนั้น นักลงทุนสไตล์เก็งกำไร (ซื้อขายระหว่างวัน) สามารถลงทุนใน Gold Futures ได้ โดยถ้าจับจังหวะราคาทองคำในช่วงที่ปรับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดของวันและเข้าซื้อ (Long) และขาย (Short) ในช่วงที่ราคาปรับขึ้นใกล้เคียงจุดสูงสุดของวัน จะสร้างผลตอบแทนในระดับที่ดีได้
ยิ่งในช่วงนี้ที่ราคาทองคำมีความผันผวน เป็นจังหวะที่ดีในการเข้ามาลงทุน Gold Futures โดยปกติแล้วจะส่งผลดีต่อการลงทุน เพราะสามารถสร้างโอกาสในการทำกำไรได้ ทั้งในช่วงที่ราคาทองคำแกว่งขึ้น (ขาขึ้น) และในช่วงที่ราคาทองคำแกว่งลง (ขาลง) ซึ่งกลยุทธ์ที่เหมาะสมก็คงจะเป็นการเก็งกำไรทิศทาง (Directional Trading) ถือเป็นกลยุทธ์ที่ง่ายที่สุด และก็เป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนนิยมใช้กัน นั่นคือ ถ้ามองว่าราคาทองคำจะขึ้น ก็ให้ทำการซื้อ (Long) Gold Futures เมื่อราคาทองคำขึ้น ราคา Gold Futures ก็จะวิ่งขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) จากนั้นให้ทำการขาย (Short) Gold Futures เพื่อ Take Profit แต่หากผิดทางก็ให้ทำการขายเพื่อ Cut Loss
ในทางกลับกัน ถ้ามองว่าราคาทองคำจะตก ก็ให้เราขาย (Short) Gold Futures เมื่อราคาทองคำตก ราคา Gold Futures ก็จะวิ่งลงตามราคาทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) จากนั้นให้ทำการซื้อ (Long) Gold Futures กลับคืนมา เพื่อ Take Profit ซึ่งจะเป็นการ “ขายแพงซื้อถูก”
แต่ถ้าหากตลาดผันผวนมากเกินไปจนสับสนทิศทาง ก็ให้ชะลอการลงทุนไปจนกว่าจะแน่ใจในทิศทาง และอีกเรื่องที่สำคัญ ก็คือ เรื่องของวินัยในการลงทุน โดยเฉพาะการ Cut Loss เวลาที่ลงทุนแล้วตลาดวิ่งไปผิดทาง
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเข้ามาซื้อขาย นักลงทุนควรมีความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มทิศทางราคาทองคำ ว่าปัจจัยอะไรทำให้ราคาทองคำขึ้นหรือลงและความรู้เกี่ยวกับ Gold Futures ว่าคืออะไร ทำการซื้อขายอย่างไร ลักษณะสัญญาเป็นอย่างไร ผลตอบแทนและความเสี่ยงอยู่ตรงไหน
นอกจากนี้ เป็นเรื่องของประสบการณ์ในการลงทุนและสภาพจิตใจที่ต้องยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนใน Gold Futures และที่สำคัญที่สุด คือ เงินลงทุนที่นำมาใช้นั้น ควรเป็นเงินเย็น ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินใครมา
สำหรับนักลงทุนที่สนใจเทรดฟิวเจอร์ส แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้กลยุทธ์การลงทุนใน Futures ทั้งกลยุทธ์การเก็งกําไร กลยุทธ์การถัวความเสี่ยง กลยุทธ์การค้ากําไร ตลอดจนเรียนรู้กระบวนการทำ Block Trade ใน TFEX ข้อควรระวังของการลงทุนในอนุพันธ์ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้กลยุทธ์ลงทุน Futures” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน