โดยทั่วไป การถือหุ้น หมายถึง การซื้อหุ้นในระดับหนึ่ง(ท้ั้งในแง่จำนวนหุ้นหรือเปอร์เซ็นต์การถือครอง)เพื่อมีส่วนเป็นเจ้าของในบริษัท กลายเป็น “ผู้ถือหุ้น” หรือ Sharesholder แต่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจควบคุมโดยตรงในการดำเนินงานของบริษัท แม้บางส่วนจะมีสิทธิในการออกเสียงเพื่อมอบอำนาจบางอย่าง เช่น การมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริษัท
“ผู้ถือหุ้น”1 คือ กลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญ เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของบริษัทหรือเจ้าของเงินลงทุนในกิจการ และถือเป็นผู้ที่มีบทบาทควบคุมบริษัทในทางอ้อมโดยเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปเป็นตัวแทนของตนในการกำกับดูแลการดำเนินงานของกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุด
หากผู้ถือหุ้นต้องการมีบทบาทในบริษัทมากขึ้น อาจจะทำตัวเป็น “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว shareholder activist” มากขึ้น จากการเป็น shareholder โดยทั่วไป
Shareholder Acivist 2 หมายถึง “ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว” ที่ใช้พลังของการถือหุ้น (ในฐานะมีส่วนเป็นเจ้าของบริษัท) พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัท เช่น เสนอให้คณะกรรมการบริษัทเปลี่ยนนโยบายไปใช้พลังงานหมุนเวียน รวบรวมเสียงของผู้ถือหุ้นไปเสนอวาระให้โหวตในที่ประชุมประจำปี ฯลฯ
Shareholder Acivist ไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาดหุ้น เช่น Carl Icahn3 ทำมาตั้งแต่ยุค 80 จัดว่าเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของวอลล์สตรีท และเป็นผู้เขย่าบริษัทในอเมริกามาหลายทศวรรษ ผ่าน Icahn Enterprises และกองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยเงินส่วนตัวและจาก Icahn Enterprises
หรือ Elliott Investment Management กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของ Paul Singer4 ที่เริ่มต้นขึ้นในปลายทศวรรษ 70 และเป็นหนึ่งใน Shareholder Acivist ที่น่าเกรงขามที่สุดของยุค
ที่ผ่านมา การลงทุนที่มาพร้อมกับการเคลื่อนไหว (Activist investing) ยังไม่ได้กระจายวงกว้างนัก เพราะผู้ถือหุ้นทั่วไปยังไม่ได้ตระหนักว่า การเป็นผู้ถือหุ้น จะนำมาเคลื่อนไหวหรือใช้พลังได้อย่างไร
ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้นขยายวงมากขึ้น มีคนรุ่นใหม่เป็นนักลงทุนมากขึ้น ทั้ง Millenials, GenZ หรือแม้แต่ iGen และเป็นนักลงทุนที่สนใจในประเด็นความยั่งยืนมากกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากคำค้นของ Google ปี 2563 ทั่วโลกท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาที่มีคำว่า “how to help” มากที่เคย
ผลสำรวจนักลงทุนจากหลายสถาบันก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจากผลสำรวจ HSBC Asset Management sustainable investing survey ที่ Core Data Research ได้สอบถามนักลงทุน 250 ราย ในสหราชอาณาจักร เขตปกครองพิเศษฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยที่นักลงทุน 120 รายมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 250,000-500,000 เหรียญสหรัฐฯ อีก 80 ราย มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 500,000-1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 50 รายมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป นอกจากนี้ยังการสำรวจยังครอบคลุมที่ปรึกษาการลงทุน 400 รายซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การปรึกษาเฉลี่ย 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ราวครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการลงทุนยั่งยืนจะเป็นกระแสหลักต่อไปในอีก 3-5 ปี และเชื่อว่าพอร์ตลงทุนจะเป็นการลงทุนยั่งยืน 100%
นอกจากนี้ ผลสำรวจของ ETF Stream และอมุนดิ( Amundi) ยังพบว่า นักลงทุนกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ในการจัดสรรการลงทุนบนหลัก ESG
รายงานผลสำรวจภายใต้ชื่อ ETF Scan: The Big Picture5 ที่ทำการสำรวจนักลงทุน 105 รายทั่วยุโรป เป็นครั้งแรก พบว่า 35% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ต้องการการลงทุน ESG ที่ทำให้เกิดผลหรือเชื่อมโยงกับ SDG ทั้ง 17 ข้อ มากที่สุดในบรรดาคำตอบทั้งหมด
แนวคิดของการลงทุนอย่างรับผิดชอบเพื่อโลกที่ยั่งยืนได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้เห็น Shareholder Activist มากขึ้น และอาจจะแตกต่างจาก Shareholder Activist ในยุคแรก ตรงที่นำประเด็น สิ่งแวดล้อม Environment สังคม Social และมีการกับดูแลกิจการที่ดี Governance ผนวกเข้ากับการลงทุน เพื่อผลักดันให้บริษัทจากทั่วทุกมุมโลกปรับแนวการดำเนินธุรกิจ การลงทุนมาอยู่บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วย ESG ที่นอกจากเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุดด้านสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ นักลงทุนทั่วโลกจึงมีส่วนร่วมกับบริษัทที่เข้าไปลงทุนมากกว่าเดิมเพื่อเร่งการดำเนินการด้านนี้เร็วขึ้น โดยในปี 2021 พบการใช้พลังของผู้ถือหุ้นจาก shareholder activist ในด้านนี้มากที่สุด
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือในสหรัฐฯ เว็บไซต์ SLAUGHTER AND MAY6 ซึ่งสำรวจพบว่าแรงกดดันเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของบริษัทไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่นอกเหนือไปจากการเปิดเผยข้อมูลภายใต้กรอบของคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Taskforce for Climate-related Financial Disclosures:TCFD) รวมทั้งแนวนโยบายของภาครัฐแล้ว ยังมาจากความริเริ่มของผู้ลงทุน
รายงานระบุว่า แรงกดดันของผู้ลงทุนมุ่งไปที่การใช้กลไกการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Meeting:AGM) โดยเฉพาะปี 2564 ที่เห็นได้มากขึ้น
รายงานยังระบุว่า การโหวตของผู้ถือหุ้นในมติเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดย Children’s Investment fund (TCI) ที่กดดันให้ Aena สนามบินที่มีรัฐเป็นเจ้าของจัดให้มีการลงมติผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกของโลกในเรื่องแผนด้านสภาพภูมิอากาศ หลังจากนั้นมีก็มติผู้ถือหุ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมออกมาทั่วโลกอีกราว 700 มติซึ่งเกือบจะกึ่งหนึ่งของมติเหล่านี้มุ่งไปที่ประเด็นสิ่งแวดล้อม
ExxonMobil เป็นตัวอย่างของบริษัทใหญ่ที่ต้องปรับเปลี่ยนจาก shareholder activist อย่างชัดเจนผ่านกลไกลมติผู้ถือหุ้น โดย ExxonMobil ต้องเปลี่ยนตัวกรรมการ 3 ราย เป็นกรรมการที่มีความรู้ด้านสภาพภูมิอากาศเข้ามาแทน
เป็นผลจากการขับเคลื่อนของ เฮดจ์ฟันด์ Engine No.1 ที่รณรงค์จนได้รับแรงสนับสนุนจากแบล็กร็อค กองทุนชั้นนำของโลกและอีก 4 กองทุนบำเหน็จบำนาญ แม้ Engine No.1 ถือหุ้นใน ExxonMobil เพียง 0.02% เท่านั้น
นักลงทุนยังต้องการคำมั่นด้านการมุ่งไปสู่ Net Zero จากบริษัท ผ่านการให้คำปรึกษาในฐานะที่เป็นผู้ดูแลเงินทุนอีกด้วย ในเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่มนักลงทุนที่ประกอบด้วย Institutional Investors Group on Climate Change (IIGCC) และพันธมิตร Allianz, BNP, Church Commissioners, JP Morgan Asset Management, Legal & General และ M&G Investments ได้เผยแพร่ ‘Investor Position Statement’ เรียกร้องให้มีการจัดทำแผนการเปลี่ยนไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างละเอียดของบริษัท รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล นำเข้าสู่การลงมติ ตลอดจนกำหนดตัวกรรมการที่รับผิดชอบแผน
ข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับรายงานของ ENERGY MONITOR 7 ที่ว่า ผู้ถือหุ้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยอ้างอิง Proxy Preview ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่ติดตามมติ ESG ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ว่าปี 2564 เป็น “ปีที่ทำลายสถิติ” มีการลงคะแนนเสียงข้างมาก 34 ครั้งให้เปิดเผยหรือการดำเนินการในประเด็น ESG เพิ่มขึ้นจาก 21 ครั้ง ซึ่งกว่า 17 ครั้งได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนมากกว่า 70% เพิ่มขึ้นจากสองปีก่อนหน้า
ใน Shareholder Activist กับการขับเคลื่อน ESG ตอนแรกนี้ เป็นการทำความรู้จักกับ shareholder activist และความเคลื่อนไหวในภาพรวม
ในตอนหน้าเราจะมาดูว่านอกจากการใช้กลไกการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้นแล้ว shareholder activist ได้ใช้กลไกอื่นอีกหรือไม่ ในการขับเคลื่อน ESG ขององค์กร ประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร และจะมีทิศทางอย่างไร
อ้างอิง
[1] สำนักงานก.ล.ต. CG Thailand. https://www.sec.or.th/cgthailand/TH/Pages/Overview/RelatedPersons.aspx (23 มกราคม 2565)
[2] สฤณี อาชวานันทกุล. 2557. กลไกใหม่ๆ สำหรับ “การเงินเพื่อสังคม” (จบ): การเติบโตของวงการ “การลงทุนอย่างยั่งยืน” (sustainable investment). https://thaipublica.org/2014/03/sustainable-investment/ (23 มกราคม 2565)
[3] Forbes.Profile.Carl Icahn. https://www.forbes.com/profile/carl-icahn/?sh=323cb4cf35eb
(23 มกราคม 2565)
[4] Elliott Investment Management. Management Committee.Paul Singer. https://www.elliottmgmt.com/who-we-are/paul-singer/ (23 มกราคม 2565)
[5] ETF STREAM.ETF investors want impact with ESG allocations, survey finds.https://www.etfstream.com/news/etf-investors-want-impact-with-esg-allocations-survey-finds/ (24 มกราคม 2565)
[6] SLAUGHTER AND MAY.SHAREHOLDER CLIMATE CHANGE ACTIVISM IN THE 2021 AGM SEASON – AND WHAT’S COMING NEXT. https://my.slaughterandmay.com/insights/client-publications/shareholder-climate-change-activism-in-the-2021-agm-season-and-whats-coming-next (24 มกราคม 2565)
[7] ENERGYMONITOR.2021.Investors set the pace on corporate climate action https://www.energymonitor.ai/finance/corporate-strategy/investors-set-the-pace-on-corporate-climate-action (24 มกราคม 2565)
[8] ThaiPublica. สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG: Shareholder Activist กับการขับเคลื่อน ESG