บทวิเคราะห์หุ้น จัดเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีแหล่งหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตาม นอกเหนือจากการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เพราะบทวิเคราะห์มีข้อมูลที่อัพเดท ทันต่อเหตุการณ์ มีส่วนของข้อมูลที่เป็นเรื่องราว (Story) ล่าสุด และส่วนที่เป็นการประเมินมูลค่าหุ้น ซึ่งจัดทำโดยนักวิเคราะห์มืออาชีพ ที่สำคัญบทวิเคราะห์มีให้เลือกมากมายหลายประเภท โดยหนึ่งในนั้น คือ บทวิเคราะห์หุ้นรายตัว
ถ้าพูดถึงบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว ทุกวันนี้ยังมีนักลงทุนดูเพียงคำแนะนำ “ซื้อ” “ถือ” และ “ขาย” จากนั้นก็วางกลยุทธ์ลงทุน ซึ่งหากดูเพียงเท่านี้ สุนทร ทองทิพย์ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย ให้ความเห็นว่า การดูข้อมูลเพียงส่วนเดียวเป็นความเสี่ยงมาก
“ความจริงแล้วบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวมีรายละเอียดมาก นักลงทุนควรอ่านข้อมูลให้ครบถ้วน”
อย่างไรก็ตาม สุนทรแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาอ่านข้อมูลอย่างละเอียด “อย่างน้อย ๆ ควรอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Story ของหุ้นตัวนั้น จากนั้นอ่านมุมมองและคำแนะนำอื่น ๆ เช่น การประเมินมูลค่า ราคาเป้าหมาย เป็นต้น”
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่สุนทรได้รับคำถามจากนักลงทุนเพียงแค่ “วันนี้ซื้อหุ้นอะไรดี” ในความเป็นจริงแล้ว คำถามนี้ไม่สามารถนำไปวางกลยุทธ์และทำให้การลงทุนประสบความสำเร็จได้
“ต้องอ่านรายละเอียดข้อมูลหุ้นตัวนั้นประกอบ เริ่มตั้งแต่มุมมองของนักวิเคราะห์ ว่ามีความคิดเห็นกับหุ้นตัวนั้นอย่างไร มีข้อมูลอะไรที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษที่อาจกระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน จากนั้นดูข้อมูลผลประกอบการ ที่สำคัญต้องดูข้อมูลการประเมินมูลค่าหุ้น ปัจจัยเสี่ยงหรือผลกระทบสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ และติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากได้รับผลกระทบเชิงบวกหรือลบอาจมีผลต่อการเปลี่ยนคำแนะนำของนักวิเคราะห์ เช่น ปรับประมาณการ เปลี่ยนคำแนะนำจากซื้อเป็นขาย หรือจากขายเป็นซื้อก็ได้” สุนทร อธิบาย
อีกทั้ง การอ่านบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวควรเปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ โบรกเกอร์ด้วย เพราะในบางครั้งนักวิเคราะห์อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เช่น ถึงแม้ราคาหุ้นที่ตัวเองดูแลปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์ยังแนะนำ “ซื้อ” เพียงแค่ปรับราคาเป้าหมายลง เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่กำลังเป็นแนวโน้มขาขึ้น แต่นักวิเคราะห์แนะนำ “ขาย” แค่ปรับราคาเป้าหมายขึ้น “ไม่ผิดที่นักวิเคราะห์จะมีมุมมองที่แตกต่าง แต่นักลงทุนต้องศึกษาให้ละเอียดว่ามีปัจจัยอะไรที่นักวิเคราะห์มองต่างมุมกัน ดังนั้น ทางออก คือ การเข้าไปดู IAA Consensus ของราคาเป้าหมายหุ้น” สุนทร กล่าว
(IAA Consensus คือ การสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่าง ๆ ที่ติดตามข้อมูลรายบริษัทอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะนำเสนอในรูปของตารางสรุปตัวเลขสำคัญทางการเงินรายบริษัท เช่น กำไรสุทธิ กำไรต่อหุ้น อัตราเงินปันผล มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน และคำแนะนำสำหรับการลงทุน เป็นต้น)
ถัดมาควรดูข้อมูลเกี่ยวกับการประมาณการตัวเลขทางการเงิน เพราะหากมีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัท นักวิเคราะห์อาจปรับเป้าหมายตัวเลขสำคัญขึ้นหรือลง หรือถึงแม้จะยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว นักลงทุนก็สามารถตั้งคำถามกับนักวิเคราะห์ว่า “มีโอกาสปรับตัวเลขทางการเงินหรือไม่” ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์ที่จะต้องค้นหาคำตอบมาให้นักลงทุน
โดยส่วนสำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้ในบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว นั่นคือ ตัวเลขกำไร (ขาดทุน) ซึ่งสุนทรแนะนำว่า ให้ดูตัวเลขกำไร (ขาดทุน) ย้อนหลังว่าแต่ละไตรมาสเป็นอย่างไร และตัวเลขประมาณการรายไตรมาสและรายปี
จากตัวอย่าง หุ้น XYZ ทำกำไรไตรมาส 1 ปี 2564 ได้ 100 ล้านบาท และนักวิเคราะห์ประมาณการกำไรไตรมาส 2 ที่ 120 ล้านบาท แสดงว่าครึ่งแรกของปี 2564 มีโอกาสทำกำไรได้ 220 ล้านบาท ซึ่งหากคิดเร็ว ๆ แปลว่าทั้งปี 2564 กำไรสุทธิอาจจะอยู่ที่ระดับ 440 ล้านบาท แต่หากดูการประมาณการกำไรทั้งปี ที่นักวิเคราะห์ประเมินที่ 380 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ นักลงทุนต้องดูข้อมูลผลการดำเนินงานของหุ้น XYZ ย้อนหลังไป 3 – 5 ปี เพื่อดูความสามารถในการทำกำไรระหว่างครึ่งแรกของปี (ไตรมาส 1 + ไตรมาส 2) กับครึ่งหลังของปี (ไตรมาส 3 + ไตรมาส 4) ว่าเป็นอย่างไร
“สมมติว่าหุ้น XYZ มีความสามารถในการทำกำไรครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก แปลว่า แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก หากเป็นเช่นนี้แสดงว่านักวิเคราะห์ประมาณการแบบอนุรักษ์นิยม หรือ Conservative” สุนทร อธิบาย
จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการดูข้อมูลบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว นั่นคือ การดูข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของหุ้นตัวนั้น และภาพรวมของตลาด รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนของหุ้นตัวนั้นที่นักวิเคราะห์ทำการประเมินไว้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลประกอบที่บอกได้ว่าทำไมจึงเลือกหุ้นตัวนั้น เท่านั้นยังไม่พอยังต้องดูข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ว่าหุ้นตัวนั้นมีข้อมูลข่าวสารอะไรบ้าง
“ซึ่งหากบริษัทมีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เช่น ขยายกิจการ ซื้อกิจการ หรือแม้แต่ผลกระทบเชิงลบ ก็จะมีผลต่อราคาหุ้นได้” สุนทร บอก
ส่วนสุดท้ายที่นักลงทุนควรดูในบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว ก็คือ 10 อันดับยอดซื้อ ยอดขายสุทธิ NDVR (Top 10 NDVR Net Buy-Sell) โดยตัวเลข NDVR เปรียบเสมือนนักลงทุนต่างชาตินำเงินมาซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน ซึ่งเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญกับราคาหุ้น จึงเป็นข้อมูลที่นักลงทุนควรติดตามเพื่อดูแนวโน้มของราคาหุ้นได้ว่าจะไปในทิศทางไหน
อย่างไรก็ตาม การอ่านบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว นักลงทุนไม่ควรเชื่อทุกอย่างที่บทวิเคราะห์ให้ข้อมูลไว้ แต่ควรนำบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวที่นักลงทุนสนใจจากหลาย ๆ โบรกเกอร์มาอ่าน ทำการตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูล เปรียบเทียบวิธีคิด และสมมติฐานในการประเมินมูลค่าหุ้น จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่นักลงทุนได้ทำการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการดูหุ้นถูก หุ้นแพง ด้วยการประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อหาราคาที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Valuation : Relative Valuation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่