เคล็ดลับวางแผนเกษียณช่วง COVID-19

โดย โกเมศ สุพลภัค, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
27 กันยายน 2564
5.029k views
PF_เคล็ดลับวางแผนเกษียณช่วง COVID-19_Thumbnail
Highlights

ถึงแม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะจบลงเมื่อไร แต่การลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณก็ยังคงต้องทำต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเกษียณที่ได้วางแผนไว้

เศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีความผันผวนเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งจำนวนของผู้ติดเชื้อ การจัดหาและกระจายวัคซีน การปิดเมือง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐในการดูแลประชาชน และยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจส่งผลให้รายได้หดหายและกระทบต่อความมั่งคั่ง และอาจลุกลามมายังแผนการเก็บเงินเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ อย่างไรก็ตาม วิกฤติรอบนี้ก็เหมือนวิกฤติที่ผ่าน ๆ มา คือ ไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะคงอยู่ตลอดไปและในที่สุดก็จะผ่านไปได้ เช่นเดียวกับการวางแผนเพื่อเกษียณ หากปรับแผนการลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายเกษียณที่วางแผนไว้ได้

 

ปัญหาหรือสิ่งที่อาจเผชิญ เมื่อวางแผนเกษียณช่วง COVID-19

ปัญหาที่ต้องเผชิญสำหรับการลงทุนในช่วง COVID-19 ประเด็นหลักเป็นเรื่องของจิตใจของนักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากความสามารถในการรับความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงในภาวะวิกฤติ ความสามารถในการอดทนต่อความรู้สึกขาดทุน ความรวดเร็วในการปรับพอร์ตลงทุน หรือการหารายได้เพื่อมาลงทุนให้ได้อย่างต่อเนื่องตามแผน โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ ที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนหรืออาจจะลงทุนมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เคยเจอกับการลงทุนในภาวะวิกฤติ

 

อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะช่วยให้นักลงทุนรู้จักตัวเองและสามารถเลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ คือ การทำแบบประเมินความเสี่ยง (Suitability Test) โดยผลของการทำแบบประเมินจะช่วยให้นักลงทุนทราบว่า ตัวเองสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ที่ระดับใด เช่น รับความเสี่ยงได้ต่ำ รับความเสี่ยงได้ปานกลาง หรือรับความเสี่ยงได้สูง เพื่อที่จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงของตัวเอง ไม่ลงทุนเกินตัว หรือเกินความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

ตัวอย่าง การทำแบบประเมินความเสี่ยง

กรณีที่ 1 เมื่อมีเงินลงทุน 100 บาท หากขาดทุนไป 20 บาท นักลงทุนจะรู้สึกอย่างไร ส่วนใหญ่อาจตอบว่า “โอเค”

กรณีที่ 2 เมื่อมีเงินลงทุน 10,000,000 บาท หากขาดทุนไป 2,000,000 บาท นักลงทุนจะรู้สึกอย่างไร ส่วนใหญ่อาจตอบว่า “ไม่โอเค”

 

ทั้ง 2 กรณี หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการขาดทุนจะได้เท่ากัน คือ 20% แต่ว่าเม็ดเงินที่ขาดทุนไม่เท่ากัน (เพราะต้นทุนไม่เท่ากัน) ซึ่งหากเป็นเงินลงทุนจำนวนน้อย เมื่อมีการขาดทุน อาจมีความกังวลแต่ไม่มากนัก ตรงกันข้าม หากเป็นเงินลงทุนจำนวนมาก เมื่อขาดทุนจะทำให้จิตใจกระวนกระวาย ไม่มั่นคง และทำให้ไม่ได้คิดถึงแผนการลงทุนที่ได้วางไว้ แต่จะคิดแก้ไขปัญหาในระยะสั้นว่าควรทำอย่างไร เช่น ถือลงทุนต่อหรือขายออกไป เป็นต้น

 

อีกกรณีหนึ่ง คือ นักลงทุนประเมินความเสี่ยงเฉพาะเหตุการณ์ปกติ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงกรณีที่เกิดวิกฤติเอาไว้ เช่น ตัดสินใจลงทุนเพราะรับรู้จากข้อมูลว่ามีโอกาสสร้างผลกำไรมากกว่าขาดทุน และมั่นใจว่าถ้าขาดทุนก็คงไม่มาก ดังนั้น จึงตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงทั้งหมด เพราะมั่นใจว่าเวลากำไรก็อาจได้ถึง 40% และหากขาดทุนก็คงไม่เกิน 20% แต่ในโลกของการลงทุน ไม่มีอะไรแน่นอน โอกาสการเกิดวิกฤตินั้น สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น นักลงทุนต้องเตรียมใจ สำหรับโอกาสที่จะขาดทุนไว้เสมอด้วยเช่นกัน

 

ประเด็นที่ควรคำนึงถึง เมื่อวางแผนเกษียณช่วง COVID-19

แม้ว่าปัญหาที่ต้องเผชิญในช่วง COVID-19 มีมากมาย อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อการเกษียณยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อโอกาสในการบรรลุเป้าหมายลงทุนที่ได้วางไว้ นักลงทุนจะต้องคำนึงถึงประเด็น ดังนี้

 

1. เป้าหมายการลงทุน คือ เพื่อการเกษียณ ซึ่งมักเป็นการลงทุนที่มีระยะเวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น วิกฤติ COVID-19 ก็เป็นแค่วิกฤติหนึ่งที่ต้องผ่านไปให้ได้เหมือนวิกฤติอื่น ๆ ที่เกิดก่อนหน้า เพราะเป้าหมายของการลงทุนเพื่อเกษียณจะแตกต่างจากเป้าหมายอื่น ที่อาจเป็นเป้าหมายระยะสั้นถึงกลาง เช่น การเก็บเงินเพื่อดาวน์รถ ผ่อนบ้าน หรือเพื่อศึกษาต่อ ซึ่งมีระยะเวลาการลงทุนที่สั้นกว่า

 

อย่างไรก็ตาม หากเป้าหมายชัดเจนก็จะนำมาสู่แผนการลงทุนที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน เช่น หากเป็นการลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ก็ไม่ควรลงทุนในตราสารทุน เพราะมีโอกาสที่จะกำไรและขาดทุนพอ ๆ กัน แต่หากเป็นการลงทุนที่มากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น เป้าหมายเพื่อเกษียณก็สามารถลงทุนในตราสารทุน ในสัดส่วนที่มากขึ้นได้ ซึ่งมีโอกาสกำไรมากกว่าการขาดทุน เป็นต้น

 

2. ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง เรื่องนี้ไม่มีใครสามารถบอกได้นอกจากตัวเอง หลายครั้งที่ไม่เคยเจอวิกฤติ ก่อนการลงทุนอาจมีอคติหรือลำเอียงเข้าข้างตัวเอง หรืออคติในการรับรู้โอกาสการทำกำไรมากกว่าความเสี่ยงด้านการขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้น ช่วง COVID-19 มีสินทรัพย์ลงทุนที่ขาดทุนมากมาย แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะนำมาพิจารณาความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน โดยใช้โอกาสนี้สำรวจตัวเอง และต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ตัวเลขขาดทุนที่เห็นอยู่เป็นสิ่งที่ยอมรับได้จริง ๆ หรือไม่

 

3. ดำเนินตามแผนการลงทุน นักลงทุนอาจลังเลว่า ควรขายหรือลงทุนต่อไป ประเด็นนี้ควรถามตัวเองว่า แผนการลงทุนที่วางไว้แต่แรกนั้นเป็นอย่างไร ก็ให้ดำเนินการตามแผนการลงทุน เช่น หากแผนการลงทุนที่ตั้งใจไว้ว่าจะลงทุนเพิ่ม ก็ต้องลงทุนเพิ่ม หากแผนการลงทุนต้องลดสัดส่วนการลงทุน ก็ต้องขายสินทรัพย์ลงทุนบางส่วนออกไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาหรือรอบที่ต้องทบทวนแผนการลงทุน ก็ต้องทำตามแผนเช่นเดียวกัน ก็จะทำให้การลงทุนเป็นไปตามแผนแบบมีวินัย ซึ่งหลักการนี้อาจจะไม่ถูกใจนักลงทุนหลายคน เพราะมองว่าเหตุการณ์วิกฤติไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน ดังนั้น จึงควรรีบปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมและที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด หรืออาจนำแผนการลงทุนไปปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุนด้วยก็ได้เช่นกัน

 

เทคนิคบริหารเงิน เมื่อวางแผนเกษียณช่วง COVID-19

เทคนิคในการบริหารเงินเพื่อเป้าหมายเกษียณในช่วง COVID-19 มีหลักการ คือ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด อาจมีขึ้นและลงเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น ควรเน้นการสร้างเสถียรภาพการลงทุนของตัวเอง โดยใช้แนวทางการบริหารการเงินเพื่อการเกษียณในช่วงวิกฤติ ดังนี้

 

1. กระจายการลงทุน คือ การกระจายความเสี่ยง ด้วยการไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งทั้งหมด ดังนั้น การลงทุนจึงต้องเลือกสินทรัพย์ลงทุนให้มีความหลากหลาย หรือแม้กระทั่งการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดเดียวกันก็สามารถกระจายได้ในมิติต่าง ๆ เช่น มิติของพื้นที่ ภูมิภาค หรือประเทศ และมิติของอุตสาหกรรม เป็นต้น เพราะในช่วง COVID-19 จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและไม่ดี ดังนั้น หากมีการกระจายการลงทุนที่ดี จะทำให้สามารถปรับสมดุลของผลตอบแทนและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ตลงทุนได้

 

2. เชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาว โดยปกติแล้ว ลักษณะของสินทรัพย์ลงทุนที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีความผันผวน แต่หากยังมีอนาคตที่ดีอยู่ แปลว่า ราคาก็จะกลับมาและเติบโตได้ ซึ่งนักวางแผนการเงินจะให้คำแนะนำว่า หากมีระยะเวลาในการลงทุนระยะยาว เช่น การวางแผนเพื่อเกษียณ ขอให้ลงทุนต่อไปตามแผน เพราะมีเวลาเพียงพอที่จะทำให้เงินลงทุนกลับมาได้และสะสมดอกผลของการเติบโตต่อไป

 

3. ทบทวนแผนการลงทุน เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการทบทวนแผนการลงทุนเมื่อเข้าใกล้เป้าหมายเกษียณแล้ว หลักการ คือ ควรลดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อเข้าใกล้เป้าหมาย เพื่อจำกัดขอบเขตความเสียหายของพอร์ตลงทุน

 

ตัวอย่าง การวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ

ขอยกตัวอย่าง แผนสมดุลตามอายุของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยมีหลักคิดว่า บริหารเงินลงทุนและปรับลดความเสี่ยงโดยอัตโนมัติจนนักลงทุนเกษียณอายุ ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุนที่เน้นความเพียงพอของการออม เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอายุเป็นหลัก

 

โดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนตราสารทุนสูง โดยเฉพาะในช่วงที่สมาชิกกองทุนมีอายุไม่มาก เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว แม้ผลตอบแทนรายปีอาจผันผวนหรือติดลบได้มากขึ้น และกองทุน กบข.จะทยอยลดการลงทุนในตราสารทุนไปเป็นตราสารหนี้ตามลำดับโดยอัตโนมัติ เมื่อสมาชิกกองทุนมีอายุมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนของเงินลงทุน ซึ่งแผนการลงทุนแบบนี้ เมื่อเจอกับวิกฤติจะได้รับผลกระทบน้อย กล่าวคือ

  • หากแผนการลงทุนนี้เจอกับวิกฤติ ช่วงนักลงทุนยังอายุน้อย ผลกระทบของสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงจะมีมาก แต่ด้วยระยะเวลาที่เหลือยังอีกยาวนาน ทำให้ผลตอบแทนมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้มากเช่นกัน
  • หากแผนการลงทุนนี้เจอกับวิกฤติ ช่วงนักลงทุนอายุมาก ผลกระทบของสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงจะมีน้อย เพราะนักลงทุนได้ลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และความผันผวนกับการลงทุนเป็นเรื่องที่มาคู่กันเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่ทุกคนสามารถจัดการได้ เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้เหมาะสม นั่นคือ การกระจายการลงทุนให้มีความหลากหลาย เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและมีความยืดหยุ่นในการลงทุน

 

และสำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: