ถ้าให้นักลงทุนนึกถึงอุตสาหกรรมที่กำลังจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในทศวรรษนี้ เชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของอุตสาหกรรม “พลังงาน” รวมอยู่ด้วย
นั่นก็เพราะว่าธุรกิจพลังงานกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงจากหลายด้าน ทั้งแนวโน้มของผู้บริโภคที่หันมาใช้พลังงานสะอาด ขณะที่ผู้นำภาครัฐในหลายประเทศก็ออกแรงสนับสนุน ตั้งแต่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทุ่มงบลงทุนกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพลังงานสะอาด ไปจนถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 65% ภายในปี 2030 แข่งกับบรรดาประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลก
พร้อมกับจังหวะธุรกิจ ที่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดหลายอย่าง ถูกพัฒนาขึ้นมาจนถึงจุดที่สามารถขยายทั้งขนาดและทำกำไรได้อย่างก้าวกระโดด
แต่ที่นักลงทุนต้องหันมาสนใจการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มธุรกิจนี้ให้มาก ไม่ใช่แค่เพราะเป็นโอกาสของการลงทุน แต่ธีมการลงทุนนี้อาจกลายเป็นความเสี่ยงสำหรับธุรกิจพลังงานดั้งเดิม ที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจกับภาพรวมของธีมการลงทุนให้กว้าง เพื่อจะได้เห็นทั้งโอกาส ความเสี่ยง และสามารถเปรียบเทียบสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ก่อนตัดสินใจลงทุนได้
เริ่มแรก ต้องเข้าใจองค์ประกอบของธีมพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก ในปัจจุบันก่อน
แม้จะเป็นการลงทุนที่ใกล้เคียงกับธุรกิจพลังงานดั้งเดิม แต่โดยรวมถือว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบธีม (Thematic Investing) ในกลุ่มความยั่งยืน (Sustainability) และกลุ่มพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) เนื่องจากเป็นการรวมกันของผู้ประกอบธุรกิจในหลากหลายกลุ่ม เช่น เทคโนโลยี สาธารณูปโภค และอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการในธุรกิจพลังงานดั้งเดิม
ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือก แม้จะมีมากที่สุดในประเทศฝั่งตะวันตกเนื่องจากมีกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนกว่าฝั่งเอเชีย แต่บริษัทที่พัฒนาด้านพลังงานที่โดดเด่นก็กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ปัจจุบันธีมการลงทุนนี้ มี 4 ธีมย่อยที่ต้องรู้จัก ดังนี้
1. พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)
เป็นธีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพสูง ส่วนในมุมธุรกิจ หลายบริษัทก็สามารถขยายขนาดของการลงทุนได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีอุตสาหกรรมปลายน้ำที่หลากหลาย ขณะที่ธุรกิจหลักอย่างการผลิตกระแสไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ก็คาดว่าจะก้าวขึ้นมามากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2050 โดยธุรกิจที่ลงทุนจะประกอบไปด้วย ผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบ Invertor แบตเตอรี่ หรือระบบจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์
2. พลังงานลม (Wind Energy)
ถือเป็นธีมการลงทุนที่โดดเด่นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงมีเงินลงทุนจากภาครัฐเข้ามาช่วยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยธีมนี้จะลงทุนในบริษัททั่วโลกที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมพลังงานลม รวมถึงระบบการผลิตและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีความเจาะจงไปยังภูมิภาคที่มีพื้นที่เฉพาะขนาดใหญ่เป็นหลัก
3. พลังงานน้ำ (Water Energy)
เป็นธีมการลงทุนที่มีความหลากหลายที่สุดในเชิงธุรกิจ เพราะนอกจากธุรกิจการผลิตพลังงานจากน้ำ ยังรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย เช่น บริษัทสาธารณูปโภคด้านชลประทาน การก่อสร้างท่อระบายน้ำ ท่อส่งน้ำ หรือการทำน้ำให้บริสุทธิ์ โดยน้ำเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตมากที่สุดในปัจจุบัน และคิดเป็นราว 7% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจนี้จึงมีเสถียรภาพสูงและมีความผันผวนต่ำกว่าพลังงานสะอาดอื่น ๆ
4. การจัดการของเสีย (Waste Management)
เป็นธีมการลงทุนที่เปลี่ยนสิ่งสกปรกให้เป็นพลังงานสะอาด จึงมีความซับซ้อนและหลากหลายมากที่สุด แม้ในฝั่งของเทคโนโลยีด้านพลังงานจะไม่โดดเด่นมาก เพราะมักใช้ Biomass หรือของเสียสร้างความร้อน แต่ธีมนี้จะประกอบไปด้วยการลงทุนในธุรกิจบริการที่หลากหลาย เช่น การรวบรวม ถ่ายโอน กำจัดของเสีย รีไซเคิล ไปจนถึงการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จึงมักมี Margin ของธุรกิจที่สูงกว่าธีมพลังงานสะอาดอื่น ๆ
รู้อย่างนี้แล้ว นักลงทุนควรลงทุนในธีม Sustainability และ Alternative Energy อย่างไร?
จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นธีมเดียวกัน แต่ก็มีความหลากหลายและความคาดหวังจากตลาดที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนจึงไม่ใช่แค่เลือกธุรกิจที่มีอนาคต แต่ต้องมีระดับราคาที่เหมาะสม และความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
สำหรับธีมพลังงานสะอาดนี้ ด้วยอนาคตที่สดใสและแนวโน้มที่แข็งแกร่ง ความผันผวนจากการลงทุนจึงสูงตามไปด้วย ง่ายที่สุด คือ การศึกษาจากดัชนี S&P Global Clean Energy ในช่วง 5 ปีล่าสุด ซึ่งผลตอบแทนของดัชนีนี้สูงถึง 21.75% ต่อปี แต่ขณะเดียวกันก็มีช่วงที่ตลาดทุนปรับฐานแรงมากหลายครั้ง เช่น วิกฤติโควิดปี 2020 หรือช่วงต้นปี 2021 ที่นักลงทุนคาดหวังกับการเปิดเมือง และย้ายการลงทุนกลับสู่ธุรกิจพลังงานดั้งเดิม การลงทุนเหล่านี้ก็ติดลบได้ถึง 50% ภายในไม่กี่เดือนเลยทีเดียว
สะท้อนว่า ในระยะยาวธีมพลังงานสะอาดมีโอกาสเติบโตสูงก็จริง แต่นักลงทุนก็ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งจากมุมมองของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับราคาของสินทรัพย์ เทคโนโลยี รวมไปถึงกฎเกณฑ์ที่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับการลงทุนในธีม Sustainability และ Alternative Energy นี้ กองทุนรวม ETF ต่างประเทศ คือ กลุ่มการลงทุนที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด โดยมีตัวอย่างกองทุนรวม ETF ต่างประเทศ ที่ลงทุนในธีมนี้ เช่น INRG TAN และ PBD
INRG หรือ iShares Global Clean Energy UCITS ETF
TAN หรือ Invesco Solar ETF
PBD หรือ Invesco Global Clean Energy ETF
หมายเหตุ : ชื่อกองทุนรวม ETF ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
โดยสรุป การลงทุนในธีมพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในธีมแห่งอนาคต เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวและสามารถรับความผันผวนระยะสั้นได้สูง
นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนในนโยบายที่กว้างหรือเฉพาะเจาะจงได้ แต่เมื่อนำมารวมกับการลงทุนหลัก อาจเริ่มต้นด้วยสัดส่วนที่ไม่มาก เช่น 5-10% ของพอร์ตลงทุนก่อน และติดตามความสัมพันธ์กับพอร์ตลงทุนโดยรวม ขณะเดียวกันก็ควรหมั่นติดตามข่าวสาร และการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานในอนาคตไปพร้อมกันด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ ลงทุนในธีม Sustainability และ Alternative Energy ซึ่งต้องลงทุนผ่านกองทุนรวม ETF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทนและความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่