ศรีตรังฯ บริษัทยางสีเขียว : ชู ESG ภูมิคุ้มกันที่องค์กร “จำเป็นต้องมี”

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
19 ธันวาคม 2565
1.295k views
ศรีตรัง-STA_3-620x404
Highlights

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

โลกที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคต่างต้องการสินค้า “สีเขียว” มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าอย่างถุงมือยาง เป็นที่ต้องการสูงมาก หากนับรวมยางรถยนต์ ที่นอน ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิต ปัจจุบันความต้องการยางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

แม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปในโรงงานกว่าจะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นได้ การผลิตยางพาราตั้งแต่ ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน

 

ธุรกิจผลิตยางพาราจึงต้องมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีแนวทางจัดการที่ดี โดยนอกจากไม่บุกรุกหรือถางป่าที่ผิดกฎหมายเพื่อปลูกยางพารา แล้วยังต้องให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน ระมัดระวังที่ไม่ใช้แรงงานทาส รวมทั้งปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรมโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนดูแลสุขภาวะ ความปลอดภัยของชุมชนโดยรอบ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและในตลาดโลก
บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี เป็นบริษัทยางพาราบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยที่จดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Dual Listing) สะท้อนถึงการดำเนินงานที่มีมาตรฐานจนได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

ESG ภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต้องมี

 

ดังนั้นการนำ ESG สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม(Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Governance) เข้ามาอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ จนเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงที่ดีขององค์กร อะไรที่ทำให้องค์กรฉุกคิดในเรื่องนี้ นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA กล่าวว่า “ผมว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญ เรามาทำนาน 10 ปี แล้ว ตอนนั้นแนวคิด ESG ยังไม่มา ในอดีตเราเน้นการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) แต่ตอนนี้เรารวมเป็นการพัฒนาอย่างยืนซึ่งมีขอบเขตการทำงานที่กว้างขึ้นและครอบคลุมประเด็น ESG การทำเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เป็นฟีดแบ็คที่ดีกับเรา เป็นเกราะป้องกันองค์กรได้ดี จากการที่หลายคนจะชอบกล่าวหาว่าศรีตรังโรงงานเหม็น ไม่ได้มาตรฐาน หากใครมากล่าวหาเราแบบนี้ เรากางแผนให้เห็นเลยว่า เรามีนโยบายความยั่งยืน มีคณะทำงาน มีการพัฒนาเทคโนโลยี่ มีแบบแผนการทำงานว่าโรงงานเราไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยกลิ่นเหม็น สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตเราได้มาตรฐานต่าง ๆ เช่น ISO, BSCI และมาตรฐานอื่น ๆ ที่ต้องปฏิบัติตาม”

 

นายวีรสิทธิ์กล่าวย้ำว่า “สิ่งที่เราได้ทำทั้งกระบวนการในเรื่อง ESG จึงเป็นเกราะป้องกันบริษัทเราได้อย่างดี เรากล้าพูดได้เต็มปากว่าเวลามีใครพยายามโจมตีเรา กล่าวหาว่าเราไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแล้อม เราทำร้ายสิ่งแวดล้อม เราเป็นองค์กรที่สกปรก เราสามารถตอบกลับไปได้เลยว่าเราทำเรื่องนี้มา 10 ปีแล้วเราดูแลชุมชนรอบข้างโรงงาน เราดูแลสินค้าของเรา เราพัฒนาเทคโนโลยี่เพื่อบำบัดสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง วันนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ตัวเราได้อย่างดี ว่าเราสามารถทำได้ และเราสามารถทิ้งห่างคู่แข่ง และเราเชื่อว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้ ไม่มีรายไหนที่ลงทุนด้าน ESG เท่าเรา”

 

“บริษัทดูแลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยี่และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการในกระบวนการผลิต อาทิ การใช้พลังงานให้น้อยลง จัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบบำบัดกลิ่น นวัตกรรมเหล่านี้มีทั้งที่เป็นวัตกรรมภายในองค์กรของเราเองและจากการทำโครงการร่วมกับที่ปรึกษาภายนอก”

ศรีตรัง-STA-วีรสิทธิ์_2-620x413
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA

Green Rubber Company ด้วยกลยุทธ์ 4 Green

 

“ในปี 2561 ศรีตรังฯ ประกาศวิสัยทัศน์ The Green Rubber Company องค์กรแห่งยางสีเขียว ในการขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน โดยมุ่งการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำถึงปลายน้้ำ การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง ยึดมั่นในความโปร่งใส และปลูกฝังจิตสำนึกของความยั่งยืนให้กับพนักงาน” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

จากวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่องค์กรแห่งยางสีเขียว บริษัทฯ ได้กำหนดกลยุทธ์ 4 GREEN คือ คือ ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) กระบวนการผลิตสีเขียว (Green Factory) การสรรหาวัตถุดิบสีเขียว (Green Supply) และบริษัทสีเขียว (Green Company) ที่สอดคล้องกับแต่ละมิติของ ESG ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการกำกับกิจการที่ดี โดย 4 กลยุทธ์ในทั้ง 3 มิตินี้ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ คือ สวนยางพารา ธุรกิจกลางน้ำ คือ การผลิตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำคือ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากยางพารา

 

ธุรกิจต้นน้ำ บริษัทมีสวนยางพาราที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล FSCTM (Forest Stewardship Council) ทั้งประเภท FSC-FM (Forest Management Certification) ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน และ FSC-COC (Chain-of-Custody Certification) มาตรฐานการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 นับได้ว่าเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติแบบครบวงจรรายแรกของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC ครบทั้งห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์

 

“บริษัทฯไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มเติมเพื่อปลูกยาง และยังคงพื้นที่เดิมของสวนยางพาราไว้ รวมทั้งมีการเลือกพันธุ์ยาง การจัดการสวนยาง ดูแลสิ่งแวดล้อมภายในสวนตั้งแต่การปลูกยาง จะเห็นว่าสวนยางพาราของเรา สัตว์ก็อาศัยอยู่ได้ด้วยภาวะสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะเรามีนักเกษตรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกษตรคอยบริหารจัดการสวนยางพารา” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

ธุรกิจกลางน้ำ ผลิตสินค้า 1. ยางแท่ง ส่วนใหญ่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยางล้อ 2.ยางแผ่นรมควัน เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยางล้อ อะไหล่รถยนต์ สายพานท่อน้ำรองเท้า ฯ และ 3.น้ำยางข้น เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ทั้งหมดนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ

 

“ธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต ลดการใช้พลังงาน มีระบบบำบัดน้ำเสีย เราลงทุนหนักกับระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกนอกโรงงาน และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ได้ใหม่ โรงงานเราอยู่ที่ไหนก็เป็นมิตรต่อชุมชน ” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

ธุรกิจปลายน้ำ มี 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ถุงมือยางทางการแพทย์ และท่อไฮดรอลิกแรงดันสูง นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า การผลิตของธุรกิจปลายน้ำใช้แนวคิดที่ใกล้เคียงกับธุรกิจกลางน้ำ โดยเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ซ้ำ มีระบบบำบัดน้ำเสีย การประหยัดพลังงาน และผลิตผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย

 

“สินค้าเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตเรามีมาตรฐาน เรามี ISO ที่ปฏิบัติได้หลายอย่าง เราเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการทำทุกอย่างให้มีมาตรฐานและเป็นมาตรฐานสากล” นายวีรสิทธ์กล่าว

 

ดูแลพนักงาน “มาตรฐาน BSCI เกรด A”

 

การดำเนินงานด้วยกลยุทธ์บริษัทสีเขียวนั้น นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า บริษัทฯถือว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร จึงให้ความสำคัญตั้งแต่การจ้างงาน สวัสดิการพื้นฐาน ไปจนถึงการดูแลความเป็นอยู่ พร้อมเปิดกว้างในการจ้างงาน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเพศ อายุ ศาสนา สัญชาติ เชื้อชาติ รวมทั้งส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ตัวอย่างเช่น การจัดการสวนยางพารา ที่มีพนักงานในระดับปฏิบัติการรับที่มีภูมิหลังแตกต่างกันจำนวนมาก บางส่วนเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุ เป็นต้น

Highlights

“เราเปิดรับเต็มที่ ไม่ว่ามีภูมิหลังอย่างไร เรามองที่ความสามารถ และด้วยองค์กรที่ทำธุรกิจในหลายประเทศ เราจึงมีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติ มีการจัดสภาพแวดล้อมและสังคมในการทำงานที่เหมาะสมและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ตามมาตรฐาน BSCI หรือ Business Social Compliance Initiative จากองค์กรการค้าภาคเอกชนของสหภาพยุโรป มาประยุกต์ใช้ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ ได้รับรางวัลมาตรฐาน BSCI เกรด A มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556”

พร้อมย้ำว่า “พนักงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนงานไทยหรือว่าเพื่อนบ้านที่มาจากเมียนมา ลาว กัมพูชาหรือเวียดนาม ทุกคนมีที่อยู่ที่เป็นมาตรฐานอย่างดี เราจัดให้อยู่บ้านเป็นหลังๆ ใครมีครอบครัวก็อยู่ทั้งครอบครัว มีบ้าน มีห้องน้ำ มีพื้นที่ให้ซักล้างตามมาตรฐาน BSCI ซึ่งเราได้ BSCI ระดับ A ทั้งโรงงานที่หาดใหญ่ ตรัง สุราษฎร์ธานี และเราเชิญ BSCI มาตรวจสอบ ว่าเราปฏิบัติต่อคนงานเราอย่างไร และจากการสัมภาษณ์พนักงาน ต่างแฮปปี้กับที่อยู่ที่เราจัดให้ ที่สำคัญโรงงานเราไม่ใช้แรงงานทาส ทำให้มาตรฐานเราเหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นโรงงานผลิตถุงมือรายใหญ่ที่ไม่ได้ BSCI ระดับ A”

Highlights

ดังนั้นการมุ่งในเรื่อง ESG ในมิตินี้จึงช่วยเราได้เป็นอย่างดี เวลาเราไปในเวทีโลกในเรื่องถุงมือยาง แม้เราเป็นรองคู่แข่งรายใหญ่อันดับหนึ่ง ลูกค้าจะถามว่าถุงมือจากไทยสู้ถุงมือคู่แข่งรายใหญ่ได้เหรอ… แต่จุดขายของเราคือ เราได้มาตรฐาน BSCI ระดับ A รายใหญ่ที่ว่าเขาใช้แรงงานทาส แต่คนงานเราอยู่อย่างแฮปปี้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจว่าเราดีกว่าคู่แข่ง เหนือกว่าคู่แข่ง

นอกจากนี้ยังเน้นการจ้างงานผู้พิการในชุมชน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานผู้พิการในบริษัทฯ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ และที่จอดรถ ตลอดจนการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและสร้างสุขให้กับพนักงานผู้พิการที่บริษัทฯจ้างงานมาโดยตลอด ในปี 2563 บริษัทมีการจ้างงานผู้พิการรวม กว่า 100 คน

 

บริษัทฯยังเปิดโอกาสในการทำงานผู้ด้อยโอกาสในสังคมกลุ่มอื่นด้วย โดยร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์จังหวัดเลย จ้างงานผู้ต้องขังที่ผ่านการประเมินความประพฤติและเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์ว่าเป็นนักโทษชั้นดี สามารถให้ออกมาทำงานได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งประสบความสำเร็จค่อนข้างดี จึงได้ขยายผลไปยังจังหวัดอุดรธานี ในเดือนมีนาคม 2562 โดยจ้างงานในตำแหน่งพนักงานงานถอดชั่งอัดแท่งยาง พนักงานล้างถัง อบยาง พนักงานไลน์ผสม พนักงานรับวัตถุดิบ พนักงานบรรจุลังและพนักงานตรวจสอบคุณภาพยางรวม 2 บริษัท จำนวน 39 อัตรา สร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขังประมาณเดือนละ 8,500 บาท และสามารถมีเงินเก็บติดตัวเมื่อได้รับการปล่อยตัว

 

“ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทซื้อวัคซีนแจกจ่ายให้กับพนักงาน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ พนักงานทั้งระดับปฏิบัติการและระดับที่ใช้แรงงานของเราทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนหมด ทีมบริหารเน้นย้ำให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่เฉพาะคนงานของเราอย่างเดียว เราสั่งวัคซีนเผื่อสำหรับซัพพลายเออร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบๆโรงงานด้วย ทั้งครอบครัวของพนักงาน เป็นการช่วย Stakeholder ของเรา คนงานของเรา คนที่อยู่รอบๆเขาและซัพพลายเออร์ของเราให้ได้รับความปลอดภัยจากโควิด” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

ในปี 2563 จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มบริษัทได้บริจาคถุงมือทางการแพทย์ 1 ล้านชิ้น ให้กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2564 ได้ตั้งเป้าบริจาคไว้ 8.5 ล้านชิ้น ซึ่งบริจาคไปแล้ว 7.6 ล้านชิ้น ให้กับโรงพยาบาลในต่างจังหวัด และชุมชนที่ต้องการ รวมไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุขจังหวัด

ศรีตรัง-STA-2-620x346
บริษัทฯได้ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ขายวัตถุดิบและเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมและร่วมพัฒนาคู่ค้า

 

นายวีรสิทธิ์กล่าวต่อว่าจากแนวคิดการสรรหาวัตถุดิบสีเขียวที่มุ่งเน้นการจัดหาวัตถุดิบที่สะอาด และการให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนให้กับคู่ค้าและชุมชนที่ร่วมดำเนินธุรกิจ บริษัทฯได้ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ขายวัตถุดิบและเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการต่างๆ เช่น

 

โครงการศรีตรังเพื่อนชาวสวน รณรงค์ให้ลดการใช้สารจับตัวยางก้อนถ้วยผิดประเภท (Coagulant Agent) โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายสรรหาวัตถุดิบและฝ่ายตรวจสอบคุณภาพจะเข้าตรวจเยี่ยมผู้ขาย และจะสอนวิธีตรวจสอบซัลเฟตในยางก้อนถ้วย พร้อมทั้งสื่อสารลักษณะยางที่โรงงานต้องการและไม่ต้องการ รวมทั้งผลกระทบจากยางที่ไม่ได้คุณภาพและโรงงานไม่ต้องการ เป็นประจำทุกปี

 

บริษัทเน้นการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมกับผู้ขายวัตถุดิบทุกราย ด้วยการใช้โมบาย แอปพลิเคชัน ชื่อว่า STA Friends ศรีตรังเพื่อนชาวสวน เพื่อให้ผู้ขายวัตถุดิบทุกรายสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม แอปพลิเคชันนี้ยังเปลี่ยนแปลงระบบการขายยางแบบเดิม และมีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยให้ยั่งยืนด้วย

 

โครงการ บรรทุกยาง ติดราง สร้างรอยยิ้ม รณรงค์ให้คู่ค้าเกษตรกรสวนยาง เจ้าของรถขนส่งยางพาราด้วยรถที่ได้มาตรฐานป้องกันไม่ให้น้ำจากยางก้อนถ้วยรั่วไหลลงบนถนน โดยจัดทำมาตรฐานรถบรรทุกและมอบสติ๊กเกอร์ให้กับรถบรรทุกที่ผ่านมาตรฐานที่กำหนด ในปี 2564 กลุ่มโรงงานยางแท่งที่มีการขนส่งยางก้อนถ้วยทั้งหมด 17 สาขา มีรถขนส่งยางพาราที่ได้ตามมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เฉลี่ยถึง 99.29%

 

การตรวจประเมิน Supplier ในระบบ BSCI code of conduct ที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้ามาประยุกต์ใช้กับการตรวจประเมินประจำปีของ Supplier รายสำคัญ รวมทั้งมีการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดจากคู่ค้า จากการจัดลำดับมูลค่าการซื้อขายกับผู้ส่งมอบวัตถุดิบ (ยางพารา และ ไม่ใช่ยาง) เพื่อให้ทราบถึงคู่ค้ารายสำคัญที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งในกลุ่มผู้ส่งมอบวัตถุดิบรายสำคัญจำนวน 10 ลำดับแรกไม่มีผู้ส่งมอบรายใดมีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 5%

 

ทั้งนี้ ในด้านของความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทฯ มีระบบการตรวจสอบภายในและความประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีที่พบว่ามีความไม่โปร่งใส หรือพบการทุจริต จะดำเนินการทางวินัยกับพนักงานตามระเบียบของบริษัทฯ และ มีระบบ Blacklist กับคู่ค้า หรือ Supplier รายนั้น

 

การจัดการความเสี่ยงและกำกับกิจการที่ดี

 

นายวีรสิทธิ์กล่าวต่อว่าบริษัทฯได้ยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แบบประเมินตนเอง สำหรับการปฏิบัติตาม Code of Best Practices ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Self-Assessment) ประกอบกับบริษัทฯ ได้พิจารณาการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน พร้อมกับจัดให้มีการประเมินตนเองของคณะกรรมการ ที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยแบบประเมินผลมีทั้งประเมินรายบุคคล และประเมินทั้งคณะ ไมว่าจะเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่หรือชุดย่อย

 

สำหรับการบริหารความเสี่ยงและความต่อเนื่อง บริษัทฯมีนโยบายในการบริหารความเสี่ยง โดยในระดับองค์กร มีการตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง Risk management Committee เพื่อกำหนดนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยง ในระดับรองลงมามีคณะทำงานด้านความเสี่ยง Risk Working Group ทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานด้านบริหารความเสี่ยงตามนโยบายที่วางไว้ พร้อมกับนำเครื่องมือ Risk mapping มาประเมินและจัดอันดับความเสี่ยงตามแผนขององค์กร

 

“Risk mapping เราแบ่งความเสี่ยงแบ่งเป็นสี เพื่อบ่งชี้โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้นว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบแย่แค่ไหน แล้วยังมีการนำเครื่องมือแบบ Key Risk Indicator คอยติดตามผลงาน และยังได้จัดทำแผนความต่อเนื่องของธุรกิจ Business Continuity Plan มาช่วยในการจัดการแผนความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ” นายวีรสิทธิ์กล่าว

ศรีตรัง-STA-ต้นยาง-620x259

รับมืออนาคต โฟกัส Low Carbon Company

 

ปัจจุบันโลกตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากขึ้น บริษัทฯมุ่งมั่นที่จะลดการใช้พลังงาน และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจขององค์กร เพื่อเข้าสู่ Low Carbon Company ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์พลังงานและผู้รับผิดชอบด้านพลังงานประจำโรงงาน เพื่อจัดทำมาตรการประหยัดพลังงาน เนื่องจากในอนาคตการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นประเด็นการแข่งขันทางการค้าระหว่างต่างประเทศ ขณะนี้มีบางประเทศได้กำหนดเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านำเข้าที่ปล่อยคาร์บอนฯสูงแล้ว

 

“เรามีการเตรียมพร้อมอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ Low Carbon Company มีเป้าหมายต้องการเป็นโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการผลิต ไม่ใช่แค่โรงงานการผลิต แต่ทั้งซัพพลายเชนของเรา และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของหลายประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของเราเอง เพื่อวางเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคตให้สอดคล้องกัน” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

“เราโฟกัสเรื่องนี้เพราะมองว่าเป็นความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในอนาคตอาจจะส่งผลในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เช่น การกีดกันการค้าจากต่างประเทศหรือการเสียภาษีคาร์บอนในอัตราสูง เราจึงต้องการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

ESG กับความเชื่อมั่นของคู่ค้า-นักลงทุน

 

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าและนักลงทุน

 

“ปัจจุบันคู้ค้าในต่างประเทศทั้งยุโรปและอเมริกาให้ความสำคัญกับ ESG โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติด้านแรงงาน (labor practices)และเรื่องสิทธิมนุษยชน (human rights) ในอุตสาหกรรมยางพารามากขึ้น แทบจะเป็นข้อบังคับ การไม่ดูแลแรงงาน การใช้แรงงานทาส จะถูกโจมตีเป็นระยะ ดังนั้นการนำ ESG มาผนวกกับการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ต้นจะช่วยลดความเสี่ยงด้านแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงความเสี่ยงใหม่ๆในอนาคต และเราเชื่อว่า ESG จะเป็นเกราะป้องกันองค์กรได้อย่างดี” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

พร้อมระบุว่า “การทำ ESG หรือความยั่งยืนและนำมาตรฐานต่างๆมาใช้ เราไม่ได้ทำเอง เออเอง เรามีมาตรฐานสากลมาเป็นตัวชี้วัด อย่าง BSCI, ISO ,FSCTM หากใครมากล่าวหาเรา เราสามารถยืนยันว่าเราปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเหล่านี้ และเราใช้เงินลงทุนในการทำ ESG พอสมควร เรามองว่าการทำเรื่องเหล่านี้ คุ้มค่าที่ต้องลงทุน เพราะบริษัทใหญ่มักจะถูกโจมตีจากชุมชน ถูกกล่าวหา เราพยายามพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนและลูกค้าจากยุโรป เน้นเรื่องนี้ ESG มาก ยุโรปเป็นคำถามที่สองเลย นอกจากคำถามกิจการปีนี้คุณเป็นอย่างไร คำถามที่สองจะถามว่าความยั่งยืน ESG คุณเป็นอย่างไร” นายวีรสิทธิ์กล่าว

 

นอกจากนี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทฯมีความต่อเนื่อง จนได้รับการประเมินผลที่ดี ดังจะเห็นจากการจัดบริษัทฯอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนติดต่อกัน 7 ปี นอกจากนี้บริษัทฯมุ่งมั่นที่จะเข้ารับการประเมินความยั่งยืนจากสองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้ง S&P Global สำหรับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) , การประเมิน MSCI ESG Ratings และการประเมินความยั่งยืนตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่่อยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้ดีขึ้นอีก

 

“วันนี้เรื่องยั่งยืนเข้ามาเป็นวัฒนธรรมองค์กร เห็นได้จากการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนกับพนักงานเป็นประจำ ในการประชุมการปฏิบัติงานประจำสัปดาห์ แต่ตอนท้ายก่อนจบทุกครั้งจะเอาเรื่อง ESG มาอัพเดตว่าทำอะไรไปบ้าง ตอนนี้โรงงานกับชุมชนเป็นอย่างไร เราดูแลชุมชนอย่างไรบ้าง มีเสียงบ่นอะไรไหม เรื่องระบบบำบัดน้ำ ระบบบำบัดกลิ่น เรื่องการขนส่งยาง ตู้เก็บยาง เป็นอย่างไร มีการรายงานทุกครั้ง เพื่อปลูกฝังและสร้างความตระหนักในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรในทุกมิติให้กับพนักงาน”

 

พร้อมกันนี้นายวีรสิทธิ์ฝากข้อคิดให้กับธุรกิจ SME ที่ยังไม่เริ่มดำเนินธุรกิจด้วย ESG เพื่อให้เริ่มฉุกคิดว่า แม้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนอาจจะเป็นต้นทุน แต่มีความสำคัญ เพราะธุรกิจขนาดเล็กก็ขับเคลื่อนความยั่งยืนได้เช่นกัน โดยธุรกิจ SMEที่ประสบความสำเร็จแล้ว อาจจะเริ่มจากการคิดว่า “บริษัทเราประสบความสำเร็จแล้ว เราจะทำอะไรคืนให้สังคมได้บ้าง เป็นแนวคิดเบื้องต้น โดยที่ยังไม่ต้องคาดหวังการได้รับการรับรองหรือมาตรฐาน” ส่วน SMEที่ไม่ประสบความสำเร็จ “ก็อาจจะวางแผนไว้เลยว่าวันหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ จะคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง”

 

“จุดแรกคือ การคืนให้กับสังคม อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆในการคิดก่อน หลังจากนั้นค่อยมาดูผลิตภัณฑ์ว่า ผลิตภัณฑ์ที่เรามีช่วยโลก ช่วยสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมไปถึงหาวิธีวิธีประหยัดพลังงาน ใช้เทคโนโลยีเพื่อมาประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรที่น้อยลงเริ่มจากจุดเล็กๆที่ทำได้ก่อน สุดท้ายสังคมก็ได้ประโยชน์จริง” นายวีรสิทธ์กล่าว

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. ศรีตรังฯ บริษัทยางสีเขียว : ชู ESG ภูมิคุ้มกันที่องค์กร “จำเป็นต้องมี”

แท็กที่เกี่ยวข้อง: