“คาร์ล ไอคาห์น” นักล่ากิจการขาโหดที่หันมาชูธง ESG

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
21 ธันวาคม 2565
951 views
thaipublica_คาร์ล-ไอคาห์น-01-620x413
ที่มาภาพ: https://carlicahn.com
Highlights

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

shareholder activist รายที่สองนำมาให้รู้จัก คือ คาร์ล ไอคาห์น (Carl Icahn) ผู้ก่อตั้ง Icahn Capital Management อภิมหาเศรษฐีที่มีชื่อเสียง เป็นนักลงทุนในวอลล์สตรีตที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และและเป็นผู้เขย่าโลกธุรกิจสหรัฐมาหลายทศวรรษ[1]ที่ขึ้นชื่อเรื่องล่ากิจการ


คาร์ล ลงทุนผ่านเครื่องมือหลักคือ Icahn Enterprises ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งยังบริหารกองทุนจัดตั้งขึ้นด้วยเงินสดส่วนตัวและเงินจาก Icahn Enterprises

 

ในเดือนแรกของการเข้าบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไอคาห์นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และแนะนำให้ทรัมป์ยกเครื่องกฎระเบียบ แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้ง

 

คาร์ล ไอคาห์น “Shareholder Activist” ตัวพ่อ

 

ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ไอคาห์นในวัย 86 ปีมีความมั่งคั่งมูลค่า 16.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[1]

 

จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ ในปี 2021 ไอคาห์นติดอันดับ 43 ใน Forbes 400 และติดอันดับ 124 ใน Billionaires ส่วนในปี 2019 ติดอันดับ 11 ใน The Highest-Earning Hedge Fund Managers

 

ไอคาห์นลงทุนผ่านเครื่องมือหลักคือ Icahn Enterprises ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งยังบริหารกองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยเงินสดส่วนตัวและเงินจาก Icahn Enterprises

 

ในเดือนแรกของการเข้าบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และแนะนำให้ทรัมป์ยกเครื่องกฎระเบียบ แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางความขัดแย้ง

 

ไอคาห์นเติบโตใน Far Rockaway ซึ่งอยู่ในควีนส์ ย่านชานเมืองของนิวยอร์ก สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ด้วยปริญญาด้านปรัชญาในปี 2500

 

ไอคาห์นได้บริจาคเงินประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ให้กับโรงเรียนแพทย์ Icahn ที่ Mount Sinai

 

ไอคาห์นเคยถูกแม่กดดันให้เรียนแพทย์ แต่ลาออกภายหลังเพราะไม่ชอบเอาเสียเลย ออกแนวเกลียดด้วยซ้ำ

 

ในปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ไอคาห์นได้รับรางวัล McCosh Prize จากการเขียนวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับนักศึกษาในสาขาปรัชญา

 

เมื่อคลิกเว็บไซต์ของไอคาห์น ก็จะพบกับภาพตัวเขาพร้อมข้อความว่า “A lot of people dying of fighting tyranny. The least I can do is vote against it.” หรือ “มีคนจำนวนมากที่ตายจากการต่อสู้กับเผด็จการ อย่างน้อยที่สุดที่ผมทำได้ก็คือลงคะแนนคัดค้าน” ที่กล่าวไว้ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น Texaco ประจำปี 1988[2]

 

เว็บไซต์เป็นพื้นที่ที่นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับตลาด หุ้น และการเมือง รวมทั้งจดหมายที่เขาเขียนถึงผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบริษัทต่างๆ ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีบทบาท

 

ในทศวรรษที่ 80-90 ไอคาห์นถูกขนานนามว่าเป็น นักล่ากิจการ (corporate hunter) ระดับโลกจากการเข้าไปเทกโอเวอร์หรือซื้อกิจการด้วยวิธีการที่ดุเดือดแบบ hostile takeover

 

บางคนเรียกเขาว่า The Wolf of Wall Street

Highlights

แต่ไอคาห์นรียกตัวเองว่าเป็น “shareholder activist”[3]

ในฐานะ “activist investor” ไอคาห์นมุ่งเน้นที่การซื้อหุ้นจำนวนมากในบริษัทเป้าหมายที่ราคาต่ำเกินจริง ซื้อบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย หรือบริษัทที่ราคาหุ้นตกอย่างมาก รวมทั้งบริษัทที่มีการบริหารงานย่ำแย่ เช่น Texaco, Marvel Comics และ Netflix และส่งตัวแทนนั่งในคณะกรรมการ กดดันให้ฝ่ายจัดการบริษัทมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้มีมูลค่าก่อนที่จะขายออกไปในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณี Trans World Airlines[3] (TWA) ที่เขาเข้าซื้อด้วยการกู้เงินในปี 1985 และเริ่มขายสินทรัพย์ของบริษัทออกเพื่อนำเงินไปจ่ายคืนเงินกู้ จากนั้นตัดค่าใช้จ่ายด้วยการลดเงินเดือนพนักงานจนเกิดการประท้วงและต้องหยุดทำการบิน

 

กรณีนี้ที่ยิ่งตอกย้ำการเป็นนักล่ากิจการ เมื่อ TWA มีหนี้ 540 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเขาทำเงินเข้ากระเป๋า 469 ล้านดอลลาร์ และทิ้งบริษัทไว้ข้างหลัง จนปัจจุบันสายการบินใหญ่รายนี้ไม่มีใครรู้จัก

 

ในกรณีที่บริษัทต่อต้าน ไอคาห์นจะทำทุกอย่างเพื่อให้จำนน ทั้งการข่มขู่ผู้บริหารด้วยการให้ผู้หุ้นก่อการ ทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของสาธารณชน และดำเนินการผ่านตัวแทนในคณะกรรมการ ในการประชุมคณะกรรมการประจำปี

 

ไอคาห์นใช้ “proxy fight”[4] ในการต่อสู้ และสำหรับไอคาห์นแล้ว proxy fight เป็นการแข่งกีฬาอย่างหนึ่ง

 

proxy fight หมายถึง ผู้ถือหุ้นที่รวมตัวกันและรวบรวมสิทธิลงคะแนนเสียงด้วยการมอบอำนาจลงคะแนนเสียง (proxy voting) เพื่อต่อสู้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นที่สนับสนุน คณะกรรมการบริษัท หรือเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการบริษัทคนใหม่เข้ามา

carl-icahn_2-620x434
ที่มาภาพ:https://www.dailymail.co.uk/news/article-10519619/New-HBO-doc-tracks-rise-billionaire-investor-Carl-Icahn-roots-playing-poker-Queens.html

นักล่ากิจการชูธง Governance

 

ในช่วงที่คำว่า E (environment), S (social), G (governance) ยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก ไอคาห์นถูกมองว่าโหดเหี้ยม เนื่องจากใช้วิธีการแบบดุเดือด และทำเพื่อผลประโยชน์เท่านั้น แต่ไอคาห์นใช้ G มาเป็นธงนำในการใช้พลังผู้ถือหุ้นมาแล้ว

 

เมื่อมองย้อนกลับไปและนำ ESG ลงมาทาบทับกับวิธีการของไอคาห์นก็เห็นได้ว่า การกดดันคณะกรรมการรวมทั้งผู้บริหารจัดการองค์กรให้มีผลการดำเนินงานที่ดี คำนึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น หรือการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุดนั้น สอดคล้องกับ G หรือ governance คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนว่าไอคาห์นใช้ governance เป็นธงนำพลังของผู้ถือหุ้น และทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน corporate governance น่าจะเป็นกรณีของ eBay, Manitowoc และ Gannett เพราะทำให้เกิดการปฏิรูปตัว G ของทั้ง 3 บริษัทอย่างมีนัย[5] แต่ก็เป็น G ในแบบฉบับของไอคาห์น

 

  • eBay

 

ในเดือนมกราคม 2014 ไอคาห์นเปิดเผยว่าได้เข้าถือหุ้นเกือบ 2%ใน eBay และเสนอชื่อตัวแทน 2 คนเข้าเป็นคณะกรรมการของ eBay พร้อมส่งข้อเสนอให้แยกธุรกิจ PayPal ออกไป และยืนยันว่าพร้อมที่จะใช้ proxy fight หากจำเป็น

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไอคาห์นได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ถือหุ้นของ eBay โดยระบุว่า ความล้มเหลวในการกำกับดูแลกิจการของ eBay[6] เป็น “สิ่งที่โจ่งแจ้งที่สุดเท่าที่เราเคยเห็น” และเชื่อว่ามีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในคณะกรรมการ

 

โดยชี้ไปที่ Marc Andreessen กรรมการคนหนึ่งซึ่งลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัป 7 แห่งที่เป็นคู่แข่งของ PayPal และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักลงทุนที่ถือหุ้นในสัดส่วนมากพอที่จะมีอำนาจในการควบคุมบริษัท Skype ที่ซื้อจาก eBay ในปี 2009

 

คาร์ลตั้งคำถามว่า Andreessen รู้เกี่ยวกับข้อตกลง Skype หรือไม่ และมีข้อมูลอะไรบ้างที่ไม่เปิดเผยแก่ผู้ถือหุ้นของ ebay นอกจากนี้ไอคาห์นยังอ้างว่า Scott Cook กรรมการอีกราย มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะ Cook เป็นผู้ก่อตั้ง Intuit ซึ่งเป็นคู่แข่งของ PayPal

 

ต่อมา ไอคาห์นได้ออกจดหมายเปิดผนึกอีก 8 ฉบับถึงผู้ถือหุ้นของ eBay ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม และเปิดเผยว่าได้ “ขอให้มีการตรวจสอบบัญชีและบันทึกที่สำคัญของ eBay ตามสิทธิของเขาในฐานะผู้ถือหุ้นภายใต้กฎหมายธุรกิจของเดลาแวร์

 

“ในจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 5 ถึงผู้ถือหุ้นของ eBay ไอคาห์นได้กล่าวหา John Donahoe ซีอีโอของ eBay ว่า “ไร้ความสามารถจนอภัยให้ไม่ได้” ในกรณีข้อตกลง Skype ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ eBay ตอบโต้ด้วยการปฏิเสธตัวแทนที่ ไอคาห์นเสนอชื่อเป็นกรรมการ และเสนอชื่อกรรมการทั้งชุดในขณะนี้ให้กลับมาดำรงตำแหน่งใหม่ รวมถึง Andreessen และ Cook

 

นอกจากการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกบนเว็บไซต์แล้ว ไอคาห์นยังใช้สื่อรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการใช้ Twitter และปรากฏตัวในรายการทีวี

 

วันที่ 10 เมษายน 2014 ไอคาห์นและ eBay ตกลงจะยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนานหลายเดือน หลังจากที่ไอคาห์นไม่ประสบความสำเร็จในการรวบรวมการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อขาย PayPal ออกไป

 

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ไอคาห์นถอนชื่อตัวแทนออกจากการเป็นกรรมการสองคนและยกเลิกข้อเสนอให้ขาย PayPal ขณะที่ eBay ได้เพิ่ม David Dorman เข้ามาเป็นกรรมการอิสระตามที่ตกลงร่วมกันไว้แล้วอีกหนึ่งราย

 

  • Manitowoc

 

สำหรับกรณี Manitowoc บริษัทเครนก่อสร้างและอุปกรณ์ด้านอาหาร การผลักดันของไอคาห์นประสบผลสำเร็จ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2015 บริษัทประกาศว่าจะแยกธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน และไอคาห์นจะมีตัวแทนเป็นกรรมการ 1 รายในแต่ละธุรกิจ ธุรกิจอุปกรณ์อาหารจะจดทะเบียนใหม่ที่เดลาแวร์และปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการที่ดี

 

  • Gannett

 

ด้านบริษัท Gannett บริษัทตกลงที่จะปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยที่ไม่ต้องมีการตั้งกรรมการใหม่ และไอคาห์นได้ถอนชื่อตัวแทนออก โดยรวมแล้วประสบความสำเร็จตามข้อเสนอให้ปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นส่วนใหญ่

Highlights

ที่สำคัญประเด็นหลักที่ทั้ง 3 บริษัทต้องปรับเปลี่ยน และถือว่าเป็นการปฏิรูป G เหมือนกันคือ สัดส่วนของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วที่สามารถขอให้จัดการประชุมนัดพิเศษ และการประชุมประจำปีโดย eBay ตกลงให้ใช้ 20% ของสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วสามารถขอให้จัดการประชุมนัดพิเศษเท่ากับ Gannett ส่วน Manitowoc ตกลงที่ 10% สำหรับการประชุมประจำปี eBay ตกลงที่ 12 เดือน เท่ากับ Gannett ส่วน Manitowoc ตกลงที่ 9-12 เดือน นอกจากนี้ให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิม 20% ในการใช้กลยุทธ์ poison pill หรือกลยุทธ์ในการป้องกันการเข้าเทกโอเวอร์

poison pills หรือการวางยาพิษในกิจการ[7] เป็นกลยุทธ์ในการป้องกันการเข้าเทกโอเวอร์ที่นิยมกันมาก ซึ่งหมายความว่า เป็นการวางกับดักบางอย่างเอาไว้ในกิจการ โดยหากผู้ที่เข้ามารุกรานสามารถซื้อกิจการได้สำเร็จและกุมอำนาจการควบคุมส่วนใหญ่ไว้แล้ว จะต้องประสบกับความยุ่งยากภายหลังจากเงื่อนไขที่กิจการได้วางเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นสัญญาณเตือนแก่ผู้ที่จะมาเทกโอเวอร์ให้ลดความน่าสนใจใน กิจการลงนั่นเอง

 

โดยเทคนิคนี้จะมีการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นปัจจุบันของกิจการ ว่าหากบริษัทถูกนักลงทุนหรือบริษัทอื่นเข้าซื้อหุ้น จนกระทั่งถึงสัดส่วนที่กำหนดไว้ (ซึ่งมักจะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่พอสมควรที่จะเข้าควบคุมบริษัทได้) ก็จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นใหม่ของกิจการได้ในราคาที่ต่ำกว่า ราคาตลาดมากๆ เพื่อที่จะให้แรงจูงใจในการใช้สิทธินั้น และก็จะเป็นภาระของผู้ที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการต่อไปในการที่จะต้องไล่ เก็บหุ้นที่มีอยู่ในตลาดมากขึ้น ก็จะทำให้การเทกโอเวอร์ทำได้ยากขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้นและระยะเวลาก็อาจจะยาวนานขึ้นเช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปนั้นมักจะให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมเป็น 1 ต่อ 1 หมายความว่าหุ้นเดิม 1 หุ้นสามารถที่จะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นใหม่ได้อีก 1 หุ้นเช่นกัน และจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิไว้ด้วย ซึ่งปกติก็จะกำหนดกันไว้เป็นเวลา 10 ปี

 

หรือในบางกรณี เทคนิคการวางยาพิษนี้ก็อาจจะมีการให้สิทธิผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทได้ในราคาที่ถูกมากเช่นกัน เมื่อบริษัทถูกซื้อจนถึงสัดส่วนที่กำหนด ก็จะทำให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ที่เข้ามาซื้อกิจการได้ เนื่องจากหุ้นบุริมสิทธินั้นต้องมีการจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นเป็นจำนวน เงินที่คงที่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้กับผู้เป็นเจ้าของใหม่ ถือเป็นการลดความน่าดึงดูดใจของกิจการอีกประการหนึ่งด้วยครับ

carl-icahn_1-620x413
ที่มาภาพ : https://www.americanbanker.com/payments/news/carl-icahn-who-pushed-paypals-independence-from-ebay-dumps-his-stake

พุ่งเป้า CEO ขาดความรับผิดชอบผลตอบแทนสูง

 

สำหรับไอคาห์น ไม่มีอะไรมาทำให้เขาหงุดหงิดได้เท่ากับ “ซีอีโอที่ไร้ความสามารถ ขาดความรับผิดชอบ แต่ได้รับค่าตอบแทนสูงเกินไป”[3] และปล่อยให้นักลงทุนทุกคนเคว้ง

 

การกดดันบริษัทให้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารแม้จะมองว่าไม่เป็นมิตร แต่ในขณะเดียวกันไอคาห์นก็ถือว่าปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

 

ไอคาห์นเคยกล่าวไว้ว่า “มี CEO ที่ดีมากมายในประเทศนี้ แต่ผู้บริหารในหลายบริษัทกลับปล่อยให้หลายสิ่งต้องมีการร้องขอ สิ่งที่เราทำคือให้ซีอีโอที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานเหล่านี้มีความรับผิดชอบ เมื่อเราได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการ

 

กลยุทธ์หลักของไอคาห์นคือ หาบริษัทที่มีข้อบกพร่องในการบริหาร และพยายามส่งตัวแทนไปอยู่ในคณะกรรมการ เพื่อจัดระเบียบคณะกรรมการที่ไม่สามารถจัดการกับผู้บริหารที่ไม่มีผลงาน คณะกรรมการซึ่งมีสมาชิกที่ไม่สามารถใช้ประเด็นพื้นฐานขับเคลื่อนกลยุทธ์ขององค์กร และคณะกรรมการที่กรรมการไม่ได้ใช้สินทรัพย์ของบริษัทมาสร้างกำไรได้อย่างเหมาะสม

 

ในหลายกรณีเราเห็นได้จากจดหมายที่ส่งผู้คณะกรรมการบริหารหรือผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร เขามักจะย้ำการสื่อสารใน 2 ประเด็นเสมอ นั่นคือ “ผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น” และ “ซีอีโอที่ไร้ความสามารถ”

 

แม้จะมองว่า เป็นการใช้ “พลังของผู้ถือหุ้น” ที่ค่อนข้างแรง และหมายถึงผลประโยชน์ของเขาที่จะได้รับในฐานะผู้ถือหุ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไอคาห์นไม่ใช่ผู้ถือหุ้นคนเดียวที่ได้ประโยชน์จากการใช้พลังผู้ถือหุ้น เพราะผู้ถือหุ้นรายอื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย

 

ไอคาห์นสร้างกำไรจากหุ้นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ให้กับนักลงทุน[3] เนื่องจากผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

ไอคาห์นระบุอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายทางการเงินของนักลงทุนสำหรับแต่ละบริษัทคืออะไร และพุ่งเป้าหมายไปเปลี่ยนแปลงเฉพาะประเด็นนั้น

 

ตัวอย่างของการใช้พลังผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นน่าจะเป็น กรณีบริษัท Occidental Petroleum[8] ที่เข้าซื้อกิจการบริษัท Anadarko Petroleum ในปี 2019 โดยไอคาห์นเขียนจดหมายถึงฝ่ายจัดการของบริษัทเพื่อชี้ว่า การซื้อกิจการบริษัท Anadarko Petroleum ในมูลค่า 37 พันล้านดอลลาร์นั้นทำให้มูลค่าของผู้ถือหุ้นหายไป 30 พันล้านดอลลาร์

 

ไอคาห์นซึ่งถือหุ้น 2.5% ใน Occidental Petroleum ชี้ว่า Occidental Petroleum จ่ายเงินซื้อ Anadarko แพงเกินไป ซึ่งหลายฝ่ายในอุตสาหกรรมพลังงานมีความเห็นไม่ต่างจากไอคาห์น

 

ในจดหมายเขาคิดว่า Vicki Hollub ซีอีโอ และ Gene Batchelder ประธานและกรรมการคนอื่นเกรงว่าบริษัท Occidental Petroleum จะถูกควบรวมกิจการ จึงปกป้องตำแหน่งของตัวเองด้วยการไปเทคโอเวอร์ Anadarko แทน ซึ่งป้องกันบริษัทอื่นมาซื้อ Occidental Petroleum

 

นอกจากนี้ยังชี้ว่า เงื่อนไขของการเทกโอเวอร์ยังทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถเลี่ยงไม่ให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงที่อาจจะไม่ให้ความเห็นชอบและทำให้ดีลชะงักก็ได้ ตลอดจนยังไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณ

 

ไอคาห์นเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลและ ”ความโปร่งใส” จากฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริษัท Occidental Petroleum และเชิญชวนให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมประจำปี 2020 และออกเสียงถามหาความรับผิดชอบจากฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริษัท

 

อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2017 คือบริษัทซีร็อกซ์ (XEROX) ที่มีแผนการจะควบรวมกิจการกับฟูจิฟิล์ม (Fujifilm) แต่ดีลไม่ done

 

ไอคาห์นประกาศสงครามกับซีร็อกซ์[9]อย่างชัดแจ้งในจดหมายที่เขียนถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทว่า “ซีร็อกซ์ต้องการผู้นำใหม่อย่างยิ่งยวด” “ยังพอมีเวลาที่จะเปลี่ยน แต่ก็เหลือน้อยเต็มทน”

 

ไอคาห์นและดาร์วิน เดียสัน ผู้ถือหุ้นอีกราย ระบุว่า ไม่ไว้วางใจให้เจฟฟรีย์ จาคอบสัน ซีอีโอ เป็นผู้นำการเจรจาที่อาจเกิดขึ้น

 

ไอคาห์นและดาร์วินถือหุ้นรวมกัน 15% ในซีร็อกซ์ ทั้งคู่ได้ฟ้องศาลโดยชี้ว่าดีลควบรวมกิจการที่มีมูลค่า 6.1 พันล้านดอลลาร์นี้เป็นการประเมินมูลค่าซีร็อกซ์ที่ต่ำกว่าจริง จนศาลมีคำสั่งระงับดีลซีร็อกซ์และฟูจิฟิล์มชั่วคราว

 

ทั้งไอคาห์นกับดาร์วินและซีอีโอกับคณะกรรมการซีร็อกซ์ได้ตกลงยอมความ[10] โดยจาคอบสันลาออกจากซีอีโอ และกรรมการจะลาออกเกือบทั้งชุด และมอบให้คณะบริหารชุดใหม่เจรจากับฟูจิฟิล์ม อีกทั้งกรรมการใหม่ที่จะเข้ามา 10 คนนั้น มี 6 คนได้รับการสนับสนุนจากไอคาห์นกับดาร์วิน นอกจากนี้ทั้งไอคาห์นกับดาร์วินจะยกเลิก proxy fight

 

ไอคาห์นให้ความสำคัญกับ “ผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น” และ “ซีอีโอที่ไร้ความสามารถ” มาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากข้อความที่ทวีตล่าสุด วันที่ 16 กุมภาพันธ์ว่า “แม้เรามีบริษัทที่ยอดเยี่ยมหลายแห่ง แต่คณะกรรมการของธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบของซีอีโอ ผลิตภาพของเราจึงต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและช่องว่างของฐานะการเงิน”

 

วิธีการเดิม ProxyFight บน ESG

mcdonald-620x413
ที่มาภาพ: https://nypost.com/2022/02/21/carl-icahn-escalates-war-with-mcdonalds-over-treatment-of-pigs/

ชื่อเสียงของคาร์ล ไอคาห์น ในฐานะนักล่ากิจการผู้โหดเหี้ยม อาจเปลี่ยนไปได้หลังจากที่หันมาใช้ proxy fight กับธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้ดูแลสวัสดิภาพสัตว์[11] ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงหมูที่ป้อนตลาดในสหรัฐฯ

Highlights

สิ่งที่ไอคาห์นทำให้วงการแปลกใจ ไม่ใช่การใช้ proxy fight แต่เป็นการขับเคลื่อนด้วยความตระหนักในประเด็น ESG

ไอคาห์นซึ่งภาพลักษณ์ไม่น่าจะเป็นคนที่อบอุ่น กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg News ว่า “ผมสงสารสัตว์พวกนี้จริงๆ ที่เจ็บปวดโดยไม่จำเป็นจากการเลี้ยงของพวกคุณ” และว่า หมูมี “สมอง” และเป็น “สัตว์ที่มีความรู้สึก”

 

ไอคาห์นได้เสนอชื่อบุคคล 2 คนเข้าเพื่อเข้าเป็นคณะกรรมการของแมคโดนัลด์ ซึ่งน่าจะเป็นก้าวแรกสู่การต่อสู้แบบใช้ proxy fight บริษัทยืนยันในแถลงการณ์

 

ไอคาห์นซึ่งถือหุ้นเพียง 200 หุ้นในแมคโดนัลด์รวมมูลค่าราว 50,000 ดอลลาร์ บอกกับ Bloomberg ว่า แรงจูงใจของเขาไม่เกี่ยวข้องกับผลกำไร

 

“ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากไอคาห์น ได้แก่ Leslie Samuelrich ประธาน Green Century Capital Management กับ Maisie Ganzler จาก Bon Appetit Management ซึ่งทั้งสองรายนี้ได้รับความเชื่อถือด้านความยั่งยืนหรือ ESG[12]

 

Samuelrich มีประสบการณ์กว่า 25 ปีในการลงทุน ESG การมีส่วนร่วมขององค์กร และการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข

 

Ganzler ช่วยพัฒนาโครงการ Farm to Fork ของ Bon Appetit ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มสำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นทั่วทั้งบริษัท นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำทีมที่ริเริ่มโครงการริเริ่มที่ยั่งยืนแบบก้าวหน้าหลายโครงการของ Bon Appetit

 

ในปี 2012 แมคโดนัลด์ให้คำมั่นที่จะเลิกใช้เนื้อหมูจากซัพพลายเออร์ที่เลี้ยงแบบแออัดใช้คอกซึ่งมีขนาดพอๆ กับตัวหมู และไม่มีที่ว่างให้พลิกตัวหรือนอนราบ โดยเฉพาะหมูที่กำลังตั้งท้อง

 

แมคโดนัลด์คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีเนื้อหมูในสหรัฐฯ เพียง 85% ถึง 90% ที่มาจากสุกรที่ไม่ได้ถูกขังคอกขณะตั้งท้อง และบริษัทคาดว่าจะปฏิบัติตามคำมั่นที่ว่าจะใช้เนื้อหมูในสหรัฐฯ จาก “แม่หมูที่เลี้ยงเป็นกลุ่มระหว่างตั้งท้อง” เท่านั้นภายในสิ้นปี 2024

 

แต่ไอคาห์นไม่เชื่อ ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลในเดือนนี้ เขากล่าวว่า ซัพพลายเออร์ของแมคโดนัลด์ย้ายหมูออกจากคอกหลังจากที่รู้ว่ากำลังตั้งท้อง ทั้งๆ ที่ไม่ควรใช้คอกเลย

 

ไอคาห์นบอกว่าการผลักดันให้แมคโดนัลด์ทำตามคำมั่น เพราะได้รับการเรียกร้องจากบุตรสาวของเขา ซึ่งเป็นมังสวิรัติซึ่งเคยทำงานที่ Humane Society

 

ไอคาห์นกล่าวว่า เขาไม่ได้บอกคนว่าอย่ากินเนื้อสัตว์ เพียงแต่ว่าไม่จำเป็นต้องทำให้สัตว์ “ทรมาน 4 ปีก่อนที่จะถูกส่งเชือด”

 

จุดยืนของ ไอคาห์นได้รับการสนับสนุนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญของนอร์เวย์ KLP ซึ่งถือหุ้นใน แมคโดนัลด์รวมมูลค่า 72 ล้านดอลลาร์ ทั้งพันธบัตรและตราสารทุน

 

อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ของแมคโดนัลด์[13] ตั้งคำถามว่าทำไมไอคานห์ไม่เรียกร้องให้ Viskase Cos. ผู้ผลิตไส้กรอก ที่ไอคานห์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ดำเนินกาารเช่นเดียวกับแมคโดนัลด์

 

proxy fight กับแมคโดนัลด์ในประเด็น ESG ยกนี้เพิ่งเริ่มต้น ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า คาร์ล ไอคาห์น นักล่ากิจการระดับโลก จะชูธงอะไรมานำหน้าพลังผู้ถือหุ้นในครั้งต่อไป

 

แต่ระหว่างนี้ผู้ที่สนใจสามารถชม หนังเชิงสารคดีประวัติ คาร์ล ไอคาห์น เรื่อง Icahn: The Restless Billionaire ที่ผลิตโดย HBO ติดตามเส้นทางการเติบโตของ คาร์ล ไอคาห์น จากการเล่นโป๊กเกอร์ในย่านควีนส์ ของนิวยอร์ก เพื่อหาเงินเป็นค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จนติดอันดับ 43 ของคนรวยที่สุดในโลก และกลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่น่ากลัวที่สุดในวอลล์สตรีตไปพลางๆ

อ้างอิง
[1] Forbes 2022. Profile. 43 Carl Icahn https://www.forbes.com/profile/carl-icahn/?sh=7f2a3f3935eb (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[2] Cral Icanh https://carlicahn.com/  (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[3] Dailymail 2022.’The Lone Wolf of Wall Street’: New HBO doc tracks the rise of billionaire investor Carl Icahn from his roots playing poker in Queens to pay for Princeton to being one of the most fearsome investors on Wall Street. https://www.dailymail.co.uk/news/article-10519619/New-HBO-doc-tracks-rise-billionaire-investor-Carl-Icahn-roots-playing-poker-Queens.html (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[4] The Businessprofessor.2021.Proxy Fight or Contest – Explained https://thebusinessprofessor.com/en_US/business-governance/proxy-fight-definition (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[5] The Activist Investor Blog 2015. Corporate Governance, The Icahn Way. https://theactivistinvestor.com/The_Activist_Investor/Blog/Entries/2015/3/3_Icahn_Corp_Gov.html (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[6] Harvard Law School Forum on Corporate Governance 2014. The Activism of Carl Icahn and Bill Ackman. https://corpgov.law.harvard.edu/2014/05/29/the-activism-of-carl-icahn-and-bill-ackman/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[7] กลยุทธ์ป้องกัน “การเทกโอเวอร์” http://7meditation.blogspot.com/2013/08/blog-post_1408.html (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[8] https://www.fool.com/investing/2020/02/13/icahn-demands-answers-from-occidental-ceo-and-chai.aspx (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[9] CNN Business 2017.Carl Icahn declares war on Xerox. https://money.cnn.com/2017/12/12/news/companies/carl-icahn-xerox/index.html (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[10] CNBC 2018.Icahn and Deason oust Xerox CEO; deal with Fujifilm at risk. https://www.cnbc.com/2018/05/02/icahn-and-deason-oust-xerox-ceo-deal-with-fujifilm-at-risk.html (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[11] CBCS News 2022. Carl Icahn takes on McDonald’s over “unnecessary suffering” by pigs. https://www.cbsnews.com/news/carl-icahn-mcdonalds-pigs-porks-crates-humane-society/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[12] Boardroom Alpha 2022. Activist Carl Icahn Wants McDonald’s to Prioritize Animal Welfare Over Profit. https://www.boardroomalpha.com/activist-alert-carl-icahn-mcdonalds-animal-welfare/ (24 กุมภาพันธ์ 2565)
[13] New York Post 2022.Carl Icahn escalates war with McDonald’s over treatment of pigs. https://nypost.com/2022/02/21/carl-icahn-escalates-war-with-mcdonalds-over-treatment-of-pigs/(24 กุมภาพันธ์ 2565)
[14] ThaiPublica. “คาร์ล ไอคาห์น” นักล่ากิจการขาโหดที่หันมาชูธง ESG

แท็กที่เกี่ยวข้อง: