เช็คสุขภาพหุ้น ด้วยเงินทุนหมุนเวียน

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
2 Min Read
22 กันยายน 2564
26.478k views
Inv_เช็คสุขภาพหุ้น ด้วยเงินทุนหมุนเวียน_Thumbnail
Highlights
  • เงินทุนหมุนเวียนเป็นเงินส่วนที่มีความสำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ เพราะช่วยรักษาสภาพคล่องของบริษัทให้ดำเนินธุรกิจให้เป็นไปอย่างราบรื่น และบ่งบอกถึงความสามารถในการจ่ายภาระต่าง ๆ ทางการเงินของบริษัทในระยะสั้น

  • นอกจากการดูสภาพคล่องของบริษัท ด้วยเงินทุนหมุนเวียนแล้ว นักลงทุนสามารถดูระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย และอัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ เพื่อดูสภาพคล่องและสุขภาพทางการเงินของบริษัทในระยะสั้นได้เช่นกัน

นักลงทุนคงเคยได้ยินนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือผู้บริหารบริษัทแถลงข่าวในช่วงประกาศงบการเงินว่า บริษัทมีเงินสดหรือเงินทุนหมุนเวียนเหลือในการบริหารงานเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อสงสัยตามมาว่า เงินทุนหมุนเวียนคืออะไร ควรมีมากน้อยแค่ไหน จึงส่งผลดีต่อธุรกิจ

 

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) หมายถึง เงินทุนที่บริษัทต้องใช้หมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานในแต่ละวัน หรือเงินทุนที่ใช้ในหมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการภายในทั่วไป นั่นหมายความว่า ทุกบริษัทจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสำรองไว้ใช้ในกิจการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ จนกว่าบริษัทจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าและบริการ หรือการชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า ดังนั้น ส่วนที่สำคัญของเงินทุนหมุนเวียนจึงได้แก่ สินค้าคงคลัง เจ้าหนี้การค้า และลูกหนี้การค้า

 

หลังจากรู้ความหมายและหน้าที่ของเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทแล้ว มาดูกันว่าบริษัทจำเป็นจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสำรองไว้เท่าไหร่ ซึ่งสามารถคำนวณจากสูตร

เงินทุนหมุนเวียน = ลูกหนี้การค้า + สินค้าคงเหลือ - เจ้าหนี้การค้า

เงินทุนหมุนเวียนจะใช้ดูว่าสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมดที่มีการหักลบกลบหนี้ระยะสั้นออกไปแล้ว เหลือเป็นสินทรัพย์ให้ใช้ทำธุรกิจเท่าไหร่ เช่น ซื้อวัตถุดิบ ชำระเจ้าหนี้การค้า เป็นต้น ถ้าสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียนใกล้เคียงกันมาก เมื่อหักลบกันแล้ว เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนไม่เท่าไหร่ แสดงว่าบริษัทมีเงินสดไม่เยอะในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัท ดังนั้น เงินทุนหมุนเวียนที่คำนวณมาได้ จะสะท้อนถึงสภาพคล่องของบริษัท รวมถึงสุขภาพทางการเงินของบริษัทในระยะสั้น

 

และต่อมาสิ่งที่นักลงทุนควรทราบ คือ หากมีเงินทุนหมุนเวียนมากจนเกินไปก็ไม่ดี เนื่องจากสะท้อนว่าธุรกิจไม่มีการนำเงินไปลงทุนต่อยอดขยายกิจการเพิ่มเติม ทำให้เหลือเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก หรืออีกนัยหนึ่งกำลังสะท้อนว่าธุรกิจเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้อีก ในทางกลับกัน หากมีเงินทุนหมุนเวียนน้อยเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน เนื่องจากเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องได้ง่าย ถ้าหากมีลูกหนี้การค้าไม่สามารถชำระเงินได้ จะทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง

 

นอกจากสูตรการคำนวณดังกล่าวแล้ว นักลงทุนสามารถประเมินสภาพคล่องของบริษัทได้จากอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย (Days Sales Outstanding : DSO) หมายถึง จำนวนวันที่จะเก็บเงินสดได้หลังจากการขายสินค้าหรือบริการ พูดง่าย ๆ ก็คือ จำนวนวันที่จะต้องใช้ในการเรียกเก็บหนี้นั่นเอง

 

หลังจากรู้ความหมายและหน้าที่ของเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทแล้ว มาดูกันว่าบริษัทจำเป็นจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสำรองไว้เท่าไหร่ ซึ่งสามารถคำนวณจากสูตร

ระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย = ลูกหนี้การค้า / (ยอดขาย / 365 วัน)

โดยค่าที่ได้จากการคำนวณ จะทำให้ทราบว่าบริษัทใช้ระยะเวลาในการเก็บเงินสดหรือเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าแต่ละรายนั้นนานเท่าไหร่ ค่านี้ “ยิ่งต่ำ ยิ่งดี” เพราะหากใช้ระยะเวลานานมากกว่าปกติ อาจทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้

 

อีกอัตราส่วนหนึ่งที่สามารถบอกถึงสภาพคล่องได้ ก็คือ อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) เป็นอีกเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน แสดงให้เห็นถึงความเร็วในการหมุนสินค้าของบริษัท โดยดูว่าเมื่อบริษัทลงทุนไปแล้วเท่านี้ บริษัทขายของได้กี่ครั้ง ยิ่งเยอะ ยิ่งดี หมายความว่าบริษัทขายของได้เร็ว มีสินค้าคงเหลือน้อย ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าคงเหลือในอัตราที่สูง ก็จะเหลือเงินทุนหมุนเวียนไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเปรียบเทียบกับอดีตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมด้วย จึงจะเห็นถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของบริษัท

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ = ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือเฉลี่ย

มาถึงตรงนี้ นักลงทุนพอจะเห็นภาพแล้วว่า เงินทุนหมุนเวียนคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น หากตัดสินใจเลือกลงทุนในบริษัท (หุ้น) ใดก็ตาม ควรพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนให้ดี โดยบริษัทต้องไม่สะสมเงินทุนหมุนเวียนมากหรือน้อยจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงานหากบริษัทเจอกับภาวะวิกฤติหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน บริษัทที่มีการบริหารจัดการสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนได้ดี มีประสิทธิภาพ จะไม่ได้รับผลกระทบมากและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

อย่างไรก็ตาม เงินทุนหมุนเวียนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการตรวจสุขภาพธุรกิจ ดังนั้น ต้องพิจารณาหรือวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการทำกำไร ความเสี่ยงของธุรกิจ อัตราส่วนทางการเงิน เป็นต้น ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย

 

สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้โครงสร้างและเทคนิคในการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการได้มาและใช้ไปของเงินสด รวมไปถึงสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท เพื่อเพิ่มโอกาสค้นหาหุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Statement of Cash Flows” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: