บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมของไทย ได้มีการปรับตัวในการนำหลักปฏิบัติการลงทุนบนหลักการ ESG (Environmental, Social and Governance) มาโดยตลอด เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) หรือ “KAsset” โดย นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA, Chief Investment Officer (รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน) ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาประเด็นเรื่อง ESG ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทเอกชน รวมถึงผู้ลงทุน ทั้งผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบัน ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนอย่างยั่งยืน
จากรายงาน Global Sustainable Review ในปี 2563 พบว่า แนวโน้มการลงทุนโดยใช้หลักการ ESG ทั่วโลกใน 5 ปีผ่านมาเติบโตถึง 50% ขณะที่โดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของมูลค่ากองทุนทั่วโลกเป็นการลงทุนแบบ Sustainable Investment หากดูรายภูมิภาคพบว่า ทุกภูมิภาคมีการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนในด้านนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงปีหลังๆ การเติบโตเป็นไปอย่างก้าวกระโดด นำโดยภูมิภาคยุโรป และอเมริกา ที่หลักการลงทุนแบบ ESG ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนใน ESG ของ Active Investment นั้น ก่อนหน้านี้ทั่วโลกส่วนใหญ่จะใช้วิธี Negative Exclusionary Screening หมายความว่า ตัดบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณา หรือมีประเด็น ESG ออกไปจากรายชื่อหุ้นที่สามารถลงทุนได้ แต่ปัจจุบันกลยุทธ์ ESG integration ซึ่งเป็นการนำประเด็น ESG มาพิจารณาร่วมในการวิเคราะห์การลงทุน เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น คือ และมีสัดส่วนมากกว่าการใช้กลยุทธ์แบบ Negative Exclusionary Screening ไปแล้ว โดยสาเหตุที่ ESG integration ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถปรับเปลี่ยน หรือผสมผสานหลายกลยุทธ์ได้ แทนที่จะเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง และมีการพิจารณา ESG ผ่านตัวแปรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเพิ่มความสะดวกและความยืดหยุ่นในการกำหนดกลยุทธ์ของผู้ลงทุน
สำหรับกองทุนรวมที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง หรือ Passive Investment จะเห็นว่ามีการออกกองทุนรวมดัชนี หรือ ETF ในกลยุทธ์ด้าน ESG เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2563-2564 เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอยู่ในทวีปอเมริกาและยุโรป
“ในประเทศไทย มูลค่าของเงินลงทุนในกองหุ้นนโยบายประเภท ESG ยังไม่มากนัก เทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนรวมหุ้นในไทย กองทุนรวมหุ้นไทยและกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศมีมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 1.8 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2564 โดยมีการลงทุนในนโยบาย ESG ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ ผ่าน Feeder Funds ประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือเป็นการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทย หรือคิดเป็น 3.4% ของมูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในประเทศไทยทั้งหมด เทียบกองทุนโลกที่มีนโยบายการลงทุนแบบ ESG ที่สัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่ากองทุนรวมทั้งหมด”
ESG ลดความเสี่ยง-เพิ่มโอกาส
นางสาวธิดาศิริ กล่าวว่า ในฐานะนักลงทุนสถาบัน เรามองว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG จะช่วยแยกแยะโอกาสในการลงทุนได้ เพราะบริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืนจะมีศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว และช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ผลกระทบจากภายนอก และในตัวธุรกิจเอง ความเสี่ยงที่ว่า เช่น ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ การถูกฟ้องร้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม สังคม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ รวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยด้านมหภาค ทำให้นักลงทุนสถาบันเห็นความสำคัญของการลงทุนที่คำนึงเรื่องปัจจัย ESG เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เน้นเรื่องความยั่งยืนต้องดูในระยะกลางถึงยาว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำให้อาจยังไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงสั้น
สำหรับ KAsset การลงทุนในทุกสินทรัพย์จะมีการนำปัจจัยด้าน ESG มามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ทั้งหมด โดยมีความเชื่อมั่นว่า การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงทั้ง E S และ G นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงด้านการลงทุนแล้ว จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย ในปัจจุบัน KAsset มีกองทุนที่ลงทุนตรงเองที่มีนโยบายด้าน ESG คือ กองทุน KTHAICGRMF หรือมีชื่อว่า กองทุนเปิดเค หุ้นธรรมาภิบาลไทยเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยกองทุนจะลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยพิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (CAC)
สำหรับหลักทรัพย์ที่ KAsset เลือกลงทุนเองโดยตรง จะมีขั้นตอนการคัดเลือกหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการตัดสินใจการลงทุน โดยมีการทำผ่านการเยี่ยมชมกิจการ พบปะผู้บริหาร การใช้ข้อมูลจากรายงานต่างๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น รายงานประจำปี 56-1 หรือแม้แต่วาระการประชุมผู้ถือหุ้น ก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการประเมิน ESG ของบริษัทได้ โดยทางทีมผู้จัดการกองทุนจะมีแบบฟอร์มสำหรับการประเมินโดยเฉพาะ มีทำการประเมินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจะมีการทบทวนในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญที่มีประเด็นเกี่ยวกับ ESG ขึ้น ทั้งนี้จะนำผลประเมินมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาตัดสินใจการลงทุน จากนั้นจะมีทีมของผู้จัดการกองทุนเข้าไปพูดคุยกับบริษัทในประเด็นต่างๆ ที่ KAsset ให้ความสำคัญ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ประเด็นด้านลบอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นในเชิงบวก โดยประเด็นที่คิดว่าบริษัททำได้ค่อนข้างดีก็จะเข้าไปหารือซักถามรวมทั้งจะมีการติดตามผลด้วย หากบางบริษัทมีประเด็นด้าน ESG อย่างเห็นได้ชัด ก็จะถูกนำออกไปจาก List ของหุ้นที่สามารถลงทุนได้
นอกเหนือจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากข้อมูลที่เปิดเผยสาธารณะ หรือจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารแล้ว จะมีการใช้ข้อมูลจากผู้ประเมินภายนอกที่น่าเชื่อถือได้ มาร่วมประกอบการวิเคราะห์เพื่อประเมินในเชิงคุณภาพอีกด้วย อาทิเช่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สำหรับรายงาน การประเมิน Corporate Governance Rating (CGR) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสำหรับรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment – THSI) รวมถึงการจัดอันดับเรตติ้ง ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และ CAC หรือโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) เป็นต้น
Governance ต้องมาก่อน
โดยแนวทางการประเมินแต่ละบริษัท KAsset จะมีการประเมิน 2 ด้าน ด้านหนึ่งเรียกว่าการประเมินด้านคุณภาพ (Qualitative Approach) อีกด้านคือการประเมินด้านปริมาณ(Quantitative Approach) โดยการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะมีสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกมีการวิเคราะห์ด้วยโมเดลที่เรียกว่า KA 4 Pillars ที่มีการวิเคราะห์เรื่อง 1) กลยุทธ์และแผนการดำเนินงานของบริษัท 2) อุตสาหกรรม 3) ขีดความสามารถในการแข่งขัน 4) ความสามารถของผู้บริหาร ส่วนที่สอง จะเป็นเรื่อง ESG Assessment ซึ่งจะมีการประเมินหัวข้อ E/S/G ใน Checklist Template ทางด้านการวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative approach) จะเป็นเรื่อง Financial Analysis และ Forecasting Model ที่เราได้ใส่ตัวแปรทางการเงินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากประเด็น ESG พอได้ผลลัพธ์จากการประเมินทั้งทางด้าน Qualitative และ Quantitative ก็จะเอามาสรุปเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งใช้ประเมินมูลค่าตัวหุ้นที่จะลงทุน (ESG Integrated Valuation Analysis) และสร้างพอร์ตลงทุน
ในการประเมินด้าน ESG ทาง KAsset จะมีการประเมินด้าน Governance หรือมีคำถามที่จะเน้นเรื่อง G มากกว่า E และ S เนื่องจากเราเชื่อว่า 1) ถ้าบริษัทและผู้บริหารยึดหลักการดำเนินกิจการแบบมีธรรมาภิบาลที่ดีแล้ว การดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน E และ S ก็ควรจะต้องดีตามไปด้วย 2) ในประเทศไทยข้อมูลด้าน Governance มีการเปิดเผยและสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าด้าน E และ S ซึ่งการเก็บข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูลอาจจะยังค่อนข้างจำกัดไม่เหมือนกับทางประเทศที่พัฒนาแล้ว และยากในการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างบริษัท อย่างไรก็ตามเราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนน้ำหนักของแต่ละปัจจัยได้ตลอดเวลาตามพัฒนาการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลด้วย ตัวอย่างเช่นในขณะนี้เรากำลังพิจารณาจัดทำนโยบายเรื่อง Climate Change ที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาลงทุน
หลังจากมีการประเมิน ESG ของแต่ละบริษัทจดทะเบียนแล้ว จะมีการให้น้ำหนักในแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไป เพราะบริษัทจดทะเบียนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบด้าน E/S/G ที่แตกต่างกันไป เช่น การดำเนินธุรกิจของกลุ่มพลังงาน จะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่ธนาคารก็ต้องระวังผลกระทบด้านสังคมมากกว่าด้านอื่น ทำให้การให้น้ำหนักแตกต่างไปในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น บางกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้น้ำหนักปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพียง 10% แต่ไปเน้นด้านสังคม โดยให้น้ำหนัก 50% แต่อย่างไรก็ตาม เราจะให้ความสำคัญกับ Governance ค่อนข้างสูง ดังนั้น ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม น้ำหนักเรื่อง Governance จะเริ่มที่ 30% ก่อน ขณะที่ E กับ S บางกลุ่มอุตสาหกรรมอาจจะลงไปเหลือ 10% ก็ได้
อย่างไรก็ตาม ความกังวลของผู้ลงทุนที่ว่าหากเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นที่เข้มงวดมาก จะมีหุ้นที่สามารถลงทุนได้น้อยลงไปหรือไม่ ทาง KAsset คิดว่าหากไม่ใช่กรณีที่มีประเด็น ESG อย่างเห็นได้ชัด หรือมีเจตนา เราคงไม่เลือกใช่การทำ Negative Screening เลยในทันทีหากแต่ใช้ Judgement ร่วมด้วย โดยพิจารณาดูว่า บริษัทมีความตั้งใจและพยายามในการแก้ไขปัญหา มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น หรือไม่อย่างไร ในกรอบระยะเวลาแค่ไหน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากบริษัทมีความพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้น และไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าการลงทุน เราคิดว่าบริษัทนั้นอาจจะอยู่ในระดับที่จะลงทุนได้หรือกลับมาอยู่ใน List ที่ลงทุนได้ในระยะสั้น
ESG สร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาว
การลงทุนในบริษัทตามแนวนโยบายการลงทุนที่เป็น ESG สิ่งที่ต้องควรระวังคือ การสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคหรือผู้ลงทุนเข้าใจผิดว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือมีธรรมาภิบาล ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น (greenwash) ทางผู้จัดการกองทุนรวมถึงผู้ลงทุนทั่วไปต้องมีการทำความเข้าใจและการติดตามด้วยว่ามีการทำตามนโยบายหรือไม่ และผลลัพธ์อย่างไร
นางสาวธิดาศิริ ระบุว่า ในปัจจุบันยอมรับว่าผู้ลงทุนทั่วไปยังให้ความสำคัญของผลตอบแทนเป็นหลัก หน้าที่ของผู้จัดการกองทุนคือ การสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนและประเด็นด้าน ESG ซึ่งหากนำประเด็น ESG เข้าไปพิจารณาด้วยจะทำให้สร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนได้ในระยะยาว รวมถึงการลดความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงได้
สำหรับการคัดเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่มี ESG mandate ที่เป็น Feeder Funds นางสาวธิดาศิริ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนหลักอยู่แล้ว เราไม่ได้บริหารเองโดยตรง แต่ ทาง KAsset ก็มีขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์ หรือ Due Diligence ทางผู้จัดการกองทุนหลักด้วย ตั้งแต่ดูตัวบริษัทจัดการกองทุน ทีมจัดการกองทุน กระบวนการลงทุน นโยบายกองทุน จนถึงความสามารถในการบริหารกองทุนและการปฏิบัติทำตามนโยบายตามแนวทาง ESG รวมถึงผลลัพธ์
“ขณะนี้กระแส Climate Change ค่อนข้างมาแรง โดยจะเห็นได้จากการประชุม COP26 มีการเน้นการหารือเรื่องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ได้ภายในปี 2593 เรามองว่าการที่เรื่อง Climate Change ได้รับความสำคัญ หรือได้ความสนใจเป็นวงกว้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนได้รับผลกระทบโดยทั่วถึงกัน การทำความเข้าใจร่วมกันรวมถึงการตั้งเป้าหมายจะสามารถทำได้ชัดเจนกว่าประเด็นด้านอื่น ๆ”
ทาง KAsset มีกองทุนหุ้นต่างประเทศ ประเภท Feeder Funds ที่มีนโยบายด้าน ESG เกี่ยวกับ Climate change โดยเน้นด้าน Impact investing คือ กองทุน K-CLIMATE
กองทุน K-CLIMATE หรือมีชื่อว่า กองทุนเปิดเค Climate Transition เป็นกองทุนมีการลงทุนผ่านกองทุนหลัก LO Funds – Climate Transition ซึ่งบริหารโดย Lombard Odier โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) โดยอุณหภูมิของโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นสาเหตุของภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ คลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน พายุหมุน และไฟป่า เป็นต้น โดยได้สร้างความเสียหายต่อทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่ภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น ปัญหา Climate Change จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง
ขอบเขตการลงทุนของกองทุนสามารถลงทุนในหุ้นทั่วโลกโดยคัดเลือกธุรกิจที่สามารถเติบโตพร้อมกับมีส่วนช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันและยั่งยืนในระยะยาว ผู้จัดการกองทุนหลักคัดกรองหุ้นจาก 2,500 ตัว จนเหลือ 750 ตัว ที่เข้าธีม Climate Change อย่างแท้จริง ซึ่งเพียงพอในการคัดสรรหุ้นเพื่อสร้างพอร์ตที่ดีได้ ประมาณ 40-50 ตัว
ผลตอบแทนกองทุนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (23 กุมภาพันธ์ 2565) อยู่ที่ -5.75% ในขณะที่ผลตอบแทนตัวชี้วัด (MSCI World Net Total Return USD) อยู่ที่ -10.75%
สำหรับหุ้นที่กองทุนลงทุน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2021 อาทิเช่น
ร่วมสร้างการตระหนักรู้
อย่างไรก็ตาม นางสาวธิดาศิริ เห็นว่า แม้ว่า Climate Change จะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในวงกว้างและมีความสำคัญ แต่สำหรับประเทศไทย ที่เป็น Emerging Market ประเด็นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือเรื่องธรรมาภิบาล หากบริษัทมีธรรมาภิบาลที่ดี ก็สามารถให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงนโยบายที่ดีและมีประสิทธิภาพได้ด้วย ประกอบกับการเก็บข้อมูลและเข้าถึงสามารถทำได้ง่ายและทั่วถึงเป็นวงกว้าง
นางสาวธิดาศิริ กล่าวว่า ปัจจุบันความสนใจในการลงทุนที่เน้นด้าน ESG จะเป็นนักลงทุนสถาบันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนนักลงทุนทั่วไปนั้นยังต้องสร้างความตระหนัก (Awareness) เพิ่มในแง่การนำปัจจัย ESG เข้ามาพิจารณาร่วมในการตัดสินใจลงทุนร่วมกับเรื่องผลตอบแทนระยะสั้น
ในส่วนเป้าหมายการลงทุนตามหลัก ESG ของ KAsset นอกจากเพื่อผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนในระยะยาวแล้ว เรายังมุ่งหวังในการเพิ่ม Awareness ของบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนทั่วไปในความสำคัญของประเด็นด้าน ESG บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีอยู่ 700 กว่าบริษัท จะพบว่ากลุ่มที่มีทรัพยากรเพียงพอและเครื่องมือที่สามารถทำเรื่องนี้ได้แบบจริงจังในปัจจุบันส่วนใหญ่จะยังเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่บริษัทขนาดกลางและเล็กที่เป็นบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ แม้จะมีเข้าใจและอยากจะทำ แต่อาจมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องทำค่อยเป็นค่อยไป เรามองเรื่อง Engagement ระหว่างนักลงทุนกับบริษัทจดทะเบียนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากเราสามารถสื่อสาร ประเด็นข้อกังวลทำความเข้าใจร่วมกับ บมจ. จะทำให้ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกันและสามารถเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้
“ในฐานะนักลงทุน ทาง KAsset มีการทำ Engagement กับทางบริษัทที่เราลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจมีทั้งการขอนัดการประชุมกับทางผู้บริหารพิเศษในส่วนของเรื่อง ESG และ/หรืออาจมีการ Discuss รวมไปในช่วงของการทำ Company Visit นอกเหนือจากนั้นเรายังมีการขอพบกับทาง Board ของบริษัทจดทะเบียนเป็นครั้งครั้งไป เพื่อ Discuss ถึงภาพรวมของนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดจนทางด้าน ESG โดยการติดตามอย่างสม่ำเสมอและมีระบบ จะทำให้ บมจ.รู้สึกว่า ผู้ลงทุนให้ความสำคัญในสิ่งที่บริษัททำ ไม่ได้มองแค่ผลตอบแทนเป็นหลักอย่างเดียว เพราะต้องเข้าใจว่าเรื่องของ ESG ต้องใช้ความพยายามและเวลาพอสมควร อาจไม่ได้เห็นผลในทันที อย่างไรก็ตามเราพบว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือการนำเสนอข้อมูลของบมจ.จะมีเรื่อง ESG เพิ่มขึ้นมา จากปกติที่จะเป็นการนำเสนอเรื่องผลประกอบการและแนวโน้มของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบัน จะเห็นว่าทางบมจ.จะมีการเตรียมข้อมูลมานำเสนอใน กลยุทธ์และแนวทางการปฏิบัติด้าน ESG ของบริษัทจะเป็นอย่างไร จะมีการทำอะไรบ้างในปีที่ผ่านมารวมถึงผลลัพธ์ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างดี แสดงให้เห็นว่าธุรกิจตระหนักในความสำคัญเรื่อง ESG และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
นางสาวธิดาศิริ กล่าวว่า สำหรับ KAsset มีการนำหลักปฏิบัติ Investment Governance Code ที่ริเริ่มโดยสำนักงานก.ล.ต. สำหรับผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ มาเป็นหลักปฏิบัติในการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลตั้งแต่ปี 2560 และล่าสุดในเดือน ธันวาคม 2564 KAsset ได้เข้าร่วมลงนามใน UN PRI หรือ Principles for Responsible Investment ซึ่งเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบในระดับสากล ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดย KAsset เป็น บลจ.ไทยแห่งแรกที่เข้าร่วมลงนาม
โดยผู้ร่วมลงนามต้องปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ 6 ประเด็น
หลักปฏิบัติแรก คือ พึงนำประเด็น ESG มาวิเคราะห์และตัดสินใจในการลงทุน
หลักปฏิบัติที่สอง คือ พึงใช้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นอย่างจริงจัง และนำประเด็นด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบาย และการใช้สิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้น
หลักปฏิบัติที่สาม คือ พึงสนับสนุนให้บริษัทที่เราไปลงทุนเปิดเผยด้าน ESG ด้วย
หลักปฏิบัติที่สี่ คือ พึงส่งเสริมประเด็น ESG ให้เกิดการยอมรับและมีการปฏิบัติในอุตสาหกรรมการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
หลักปฏิบัติที่ห้าพึงให้ความร่วมมือในการนำหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบมาใช้ในการปฏิบัติ
หลักปฏิบัติที่หกคือ การรายงานข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าในการปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ
“จะเห็นว่า PRI จะมุ่งเน้นประเด็น ESG ในหลักปฏิบัติค่อนข้างชัดเจนและตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่นหลักปฏิบัติข้อที่ 6 รายงานข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าในการปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ หมายถึงผู้ร่วมลงนามใน UN PRI ต้องทำรายงานและเปิดเผยทุกอย่างที่ทำและผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ซึ่งการการปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบตามหลัก PRI จะเป็นส่วนเพิ่มเติมจากในปัจจุบันที่ทาง KAsset มีการรายงานการปฏิบัติตามหลัก Investment Governance Code ที่กำหนดโดยทาง สำนักงาน ก.ล.ต. มีการเปิดเผยในเว็บไซต์บริษัทอยู่แล้ว”
อ้างอิง
[1] ThaiPublica. บลจ.กสิกรไทย ชี้ “ESG” เครื่องมือสำคัญช่วยแยกแยะ “โอกาสในการลงทุน”