วงจรเงินสด หัวใจของการอยู่รอดของธุรกิจ

โดย มนชัย มกรานุรักษ์ หัวหน้าสำนักวิจัย บล.ทิสโก้
2 Min Read
20 กันยายน 2564
24.861k views
Inv_วงจรเงินสด หัวใจของการอยู่รอดของธุรกิจ_Thumbnail
Highlights

วงจรเงินสด บ่งบอกว่าบริษัทนั้น มีจำนวนวันของเงินสดส่วนเกินที่จะนำไปลงทุนได้กี่วัน โดยนำวงจรดำเนินงานที่อยากเห็นน้อย ๆ และจำนวนวันหมุนเวียนของเจ้าหนี้การค้าที่อยากเห็นนาน ๆ มาลบกันยิ่งจำนวนวันของวงจรเงินสด ยิ่งติดลบมากเท่าใด ก็ยิ่งดี

ก่อนนักลงทุนจะตัดสินใจซื้อหุ้นก็ต้องศึกษาข้อมูลกันอย่างละเอียด โดยเฉพาะนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยประเมินจากตัวเลขที่เชื่อถือได้ เพื่อบ่งบอกถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลเชิงปริมาณที่สำคัญ ซึ่งจะละเลยไม่ได้ในการทำความเข้าใจ นั่นคือ วงจรเงินสด

 

ว่ากันว่าหุ้นที่ถูกจับตามองมากที่สุดในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน หนีไม่พ้นหุ้นที่มีกระแสเงินสดเยอะ หนี้สินต่ำหรือไม่มีเลย พูดง่าย ๆ ก็คือ มีสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแกร่ง ตรงกันข้ามกับหุ้นที่มีหนี้สินมาก เงินสดในมือต่ำ จึงอาจต้องพบกับแรงกดดันกับความอยู่รอด หากไม่สามารถหาเงินมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

ดังนั้น ผู้บริหารทุกบริษัทต่างตระหนักดีว่าการเตรียมเงินสดไว้ในมือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสภาพคล่องทางการเงิน คือ หัวใจของการอยู่รอดของธุรกิจ หากเกิดอาการ “เงินสดขาดมือ” ในบริษัทที่มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้หรือมีภาระต้องคืนเงินกู้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะมีปัญหาในระยะยาว

 

ดังนั้น “วงจรเงินสด” จึงมีความสำคัญเพราะสามารถบ่งบอกถึงการบริหารจัดการเรื่องกระแสเงินสด ถ้าผู้บริหารจัดการดี จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดขาดมือ การหมุนเงินก็คล่อง มีเงินชำระหนี้สบาย ๆ โดยวงจรเงินสดสามารถดูได้จากการขายสินค้าและสินค้าค้างสต็อก

 

โดยบริษัทที่ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด คือ บริษัทที่สามารถขายสินค้าแล้วเก็บเงินได้ ตรงกันข้ามถึงแม้ขายสินค้าได้ แต่เก็บเงินไม่ได้ บริษัทก็จะต้องหากระแสเงินสดจากทางอื่น เพื่อมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น พึ่งพาเงินกู้ หรือเพิ่มทุน เป็นต้น

วิธีคำนวณวงจรเงินสด

วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้

โดยผลลัพธ์ที่ออกมา “ยิ่งน้อยหรือติดลบ ยิ่งดี” เพราะสะท้อนถึงการมีประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายและสามารถเรียกเก็บเงินสดจากลูกหนี้การค้าได้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินสดนั้นออกไปให้กับเจ้าหนี้การค้าหรือนำไปจ่ายหนี้ ทำให้มีเงินสดมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเพียงพอ เช่น การลงทุน การจ่ายเงินปันผล การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

 

ตรงกันข้าม หากผลลัพธ์ออกมา “มีค่ามาก” แสดงว่าบริษัทสามารถขายสินค้าและเก็บหนี้ได้ช้ากว่าการจ่ายหนี้ ทำให้มีการเงินที่ติด ๆ ขัด ๆ หรือมีสภาพคล่องต่ำ

 

ตัวอย่าง

1. บริษัท ACB มีระยะเวลาขายสินค้า 20 วัน มีระยะเวลาเก็บหนี้ 5 วัน และมีระยะเวลาจ่ายหนี้ 50 วัน ดังนั้น วงจรเงินสดของบริษัท ABC จึงเท่ากับ 20 + 5 – 50 = -25 วัน แสดงว่า บริษัท ABC มีวงจรเงินสดที่ดี ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เพราะสามารถขายสินค้าได้ในระยะเวลาไม่นาน คือ 20 วัน จึงไม่มีปัญหาด้านการสต๊อกสินค้า ที่สำคัญยังได้รับเงินสดจากการขายสินค้าภายในเวลา 5 วัน จึงสามารถนำเงินสดมาใช้หมุนเวียนก่อนจ่ายเจ้าหนี้ (เครดิตเจ้าหนี้ 50 วัน) ได้ถึง 25 วัน


2. บริษัท XYZ มีระยะเวลาขายสินค้า 20 วัน มีระยะเวลาเก็บหนี้ 20 วัน และมีระยะเวลาจ่ายหนี้ 0 วัน ดังนั้น วงจรเงินสดของบริษัท XYZ จึงเท่ากับ 20 + 20 – 0 = 40 วัน แสดงว่า บริษัท XYZ มีวงจรเงินสดไม่ดี หากบริษัทไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดีอาจเกิดปัญหาขาดเงินสดหมุนเวียน เนื่องจากต้องจ่ายเงินสดทันทีเมื่อซื้อสินค้า (เครดิตเจ้าหนี้ 0 วัน) แต่บริษัทจำเป็นต้องรอไปอีก 40 วัน จึงจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้า
วงจรเงินสดน้อย สามารถทำได้ 3 วิธี

ระยะเวลาขายสินค้า (ยิ่งขายสินค้าเร็ว ยิ่งดี) เพราะเมื่อขายสินค้าได้แล้ว ก็สามารถเก็บเงินสดกลับคืนมาได้รวดเร็ว อย่างไรก็ดี ควรตรวจสอบนโยบายการสต๊อกสินค้าของบริษัทนั้นว่า มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เพราะหากสต๊อกสินค้าจำนวนน้อย อาจเสียโอกาสในการขาย ตรงกันข้ามหากสต็อกสินค้าจำนวนมาก อาจใช้เวลานานในการขายสินค้า 

 

ระยะเวลาเก็บหนี้ (ยิ่งเก็บหนี้เร็ว ยิ่งดี) เพราะเมื่อให้เครดิตลูกค้าสั้น ก็จะได้รับเงินสดมาหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นตรวจสอบสถานะการเงินของคู่ค้าว่า มีประสิทธิภาพในการจ่ายหนี้มากน้อยเพียงใด หากคู่ค้าจ่ายหนี้ล่าช้าเกินกว่ากำหนด อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทลดลงได้

 

ระยะเวลาจ่ายหนี้ (ยิ่งจ่ายช้า ยิ่งดี) เพราะนอกจากบริษัทสามารถขายสินค้าและเก็บเงินสดมาใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมีเวลาเหลือที่จะนำเงินไปลงทุนหาผลตอบแทนได้ ระหว่างยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเงินให้เจ้าหนี้

อย่างไรก็ตาม การดูวงจรเงินสด เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นในบางประเด็นเท่านั้น การวิเคราะห์เพื่อลงทุนยังมีอีกหลายประเด็น นักลงทุนต้องวิเคราะห์รายละเอียดอื่น ๆ ของบริษัทต่อไปด้วยว่า น่าสนใจ และควรลงทุนหรือไม่

 

สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการดูว่ากิจการนั้น จะไปรอดหรือไม่รอด...ต้องดูที่งบกระแสเงินสด โดยเรียนรู้โครงสร้างและเทคนิคในการวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ผ่านกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการได้มาและใช้ไปของเงินสด รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ เพื่อเพิ่มโอกาสค้นหาหุ้นพื้นฐานดี น่าลงทุน สามารถเรียนรู้ผ่าน e-Learning หลักสูตร Statement of Cash Flows” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: