DCA สร้างความมั่งคั่งระยะยาวได้อย่างไร

โดย ณัฐ เลิศมงคล, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
17 กันยายน 2564
42.242k views
Inv_DCA สร้างความมั่งคั่งระยะยาวได้อย่างไร_Thumbnail
Highlights
  • การลงทุนแบบ DCA ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้อง DCA ในหุ้นรายตัวหรือผ่านกองทุนรวม ขอเพียงพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม มีการกระจายความเสี่ยง และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่เราสามารถยอมรับได้

  • การลงทุนแบบ DCA จะช่วยสร้างวินัยในการออมและลงทุน เพราะต้องลงทุนต่อเนื่องสม่ำเสมอ อีกทั้งยังช่วยให้ได้มีโอกาสลงทุนในช่วงที่สินทรัพย์ลงทุนมีราคาลดลงจากความผันผวนระยะสั้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยาวได้

การสะสมความมั่งคั่งของคนไทยในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคาร ฝากเงินไว้กับสหกรณ์ ซื้อสลากออมสิน สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. ไปจนถึงการทยอยลงทุนหุ้นและกองทุนรวมเป็นประจำทุกเดือน

 

แต่ไม่ว่าจะสะสมความมั่งคั่งด้วยวิธีใด ทุกคนจะมีเป้าหมายปลายทางเหมือนกัน นั่นคือ ต้องการให้เงินที่สะสมอยู่นั้นงอกเงย ทบต้นทบดอกไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะนำไปใช้จ่ายตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ เช่น เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อซื้อบ้าน เพื่อดาวน์รถ หรือเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากวิธีการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่ง เพราะหากได้ผลตอบแทนในระดับต่ำ ความมั่งคั่งจะลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป ทำให้ไม่สามารถรักษาคุณภาพชีวิตในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีวิธีการลงทุนที่สามารถสร้างความมั่งคั่งในระยาวได้ นั่นคือ การลงทุนแบบ DCA

 

DCA คืออะไร

DCA ย่อมาจาก Dollar-Cost Averaging เป็นวิธีการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยนักลงทุนจะทำการลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นการตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป ทำให้ได้ลงทุนสม่ำเสมอเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว

 

ดังนั้น สินทรัพย์ลงทุนที่จะทำการ DCA ก็ควรเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีแนวโน้มของราคาที่จะสูงขึ้นในอนาคต เช่น หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีการเติบโต หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และเมื่อดูจากหลักการจะพบว่า DCA ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผู้ที่มีเงินเดือนประจำก็มีการลงทุนแบบนี้อยู่แล้ว เช่น ข้าราชการ ก็มีการสะสมเงินลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) พนักงานบริษัทเอกชน ก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ทยอยสะสมเงินสมทบเข้ากองทุนอยู่เป็นประจำเท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่ได้สนใจว่าราคาของหน่วยลงทุนในเดือนนั้น ๆ เป็นอย่างไร

 

DCA ช่วยเรื่องการลงทุนระยะยาวได้อย่างไร

  1. ช่วยสร้างวินัยในการออมและลงทุน เนื่องจากต้องลงทุนต่อเนื่องเป็นประจำทุกงวด
  2. ช่วยให้ได้มีโอกาสลงทุน ในช่วงที่สินทรัพย์ลงทุนมีราคาลดลงจากความผันผวนระยะสั้น
  3. ช่วยให้ลงทุนได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องคอยจับจังหวะลงทุน

 

จะเห็นได้ว่าการลงทุนแบบ DCA จะอาศัยวินัยและความสม่ำเสมอในการลงทุน โดยไม่มีการจับจังหวะตลาดและราคาของสินทรัพย์ จึงเป็นวิธีการลงทุนที่ทำได้ง่าย แต่ก็มีนักลงทุนอีกกลุ่ม ที่เริ่มต้นลงทุนได้ไม่นานและต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ มีราคาลดลงอย่างรุนแรง จนมูลค่าเงินลงทุนลดลงต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มต้น ก็อาจรู้สึกท้อแท้ ไม่มั่นใจ และเข้าใจว่าการลงทุนแบบ DCA อาจไม่ได้ผล ดังนั้น จะพาไปตรวจสอบผลการลงทุนแบบ DCA โดยลงทุนเดือนละ 2,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 – 1 กรกฎาคม 2564 เพื่อดูผลลัพธ์การลงทุนว่าเป็นอย่างไร

Inv_DCA สร้างความมั่งคั่งระยะยาวได้อย่างไร_01

หมายเหตุ : 

1. ตัวอย่างข้างต้นเป็นการทดลองลงทุนในหุ้นผ่านเครื่องมือ DCA Simulation ในฐานข้อมูล SETSMART โดยลงทุนทุกวันที่ 1 ของเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 – 1 กรกฎาคม 2564 ด้วยเงินจำนวน 2,000 บาทต่อเดือน โดยระบบจะคำนวณเงินลงทุนทั้งหมดและจำนวนหุ้นที่ได้รับให้ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ระบุมากที่สุด (ไม่ได้กำหนดว่าซื้อครบ Board Lot หรือ 100 หุ้น) ดังนั้น เงินลงทุนทั้งหมดจึงไม่เท่ากับ 2,000 บาท x 12 เดือน x 10 ปี รวมถึงระบบจะคำนวณสรุปผลการลงทุนจาก Adjusted Price และคำนวณเงินปันผลเฉพาะการจ่ายปันผลประเภทเงินปันผลเท่านั้น

 

2. หุ้นตัวอย่างในการลงทุน คัดเลือกโดยใช้ขนาดมาร์เก็ตแคปสูงที่สุด 3 อันดับแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564)

 

3. รายชื่อหุ้นที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

สมมติว่านักลงทุนเริ่มต้น DCA หุ้น PTT ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 จำนวน 2,000 บาท และลงทุนต่อเนื่องทุก ๆ วันที่ 1 ของทุกเดือนด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ปรากฏว่า ได้จำนวนหุ้นทั้งสิ้น 6,373 หุ้น ใช้เงินลงทุนทั้งหมด (เงินต้น) 228,380.25 บาท ได้ราคาต้นทุนเฉลี่ย 35.84 บาทต่อหุ้น ขณะที่มูลค่าตลาดล่าสุด ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เท่ากับ 235,801 บาท ราคาปิดที่ 37 บาท ทำให้มีกำไร 7,420.75 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับเงินปันผลอีก 51,722.98 บาท รวมแล้วจึงมีกำไร + เงินปันผล 59,143.73 บาท สะท้อนว่า ถึงแม้การลงทุนแบบ DCA จะไม่ได้กำไรสูงสุด แต่ก็ไม่มีทางขาดทุนแบบกู่ไม่กลับ ที่สำคัญยังลดความเสี่ยงของการลงทุนได้เป็นอย่างดี

 

ลองมาดูตัวอย่างการลงทุนแบบ DCA กับกองทุนรวม TSF-A ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทย โดยทยอยลงทุนทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 – 1 กรกฎาคม 2564 พบว่าในระหว่างลงทุนมี 3 ช่วงเวลาที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมลดลงต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ย แต่สุดท้ายก็กลับมามีกำไร สรุปผลการลงทุนแบบ DCA ของกองทุนรวม TSF-A ดังนี้

Inv_DCA สร้างความมั่งคั่งระยะยาวได้อย่างไร_02

จากตัวอย่างที่ 1 และ 2 พบว่า หากลงทุนด้วยวิธี DCA ในสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมและมีระยะเวลาในการลงทุนที่นานพอ ก็จะมีโอกาสในการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวได้ ด้วยเงินลงทุนต่อเดือนที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ดีควรมีกระจายความเสี่ยง โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายให้สอดคล้องกับเป้าหมายและระยะเวลาลงทุนของตัวเอง

 

สำหรับมือใหม่ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการลงทุนแบบ DCA ในหุ้นและกองทุนรวม ตลอดจนวิธีการคัดเลือกหุ้นดีและกองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: