ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว นักลงทุนทุกคนต้องการผลกำไร พูดง่าย ๆ คือ ไม่มีใครต้องการเห็นพอร์ตลงทุนของตัวเองขาดทุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนแล้วชนะทุกครั้งแทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้ทุกคนได้รับบทเรียนทั้งด้านดีและไม่ดี จากนั้นก็นำไปทบทวน ศึกษาหาข้อมูลเพื่อทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบทเรียนด้านที่ไม่ดีที่ทำให้หลายคนตกม้าตาย นั่นคือ การเลือกหุ้นจากคนรอบข้างและเลือกหุ้นโดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ดังนั้น หากต้องการลดความสูญเสียก็ควรหยุด 2 อย่าให้ได้
(อย่า) ลงทุนแบบมวยวัด
ปัจจุบันยังมีนักลงทุนบางคนนิยมลงทุนหุ้นด้วยคำแนะนำจากคนรอบข้าง โดยที่ไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยนอกจากทำตามคำแนะนำนั้น เช่น ไม่รู้เลยว่าราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาจากระดับใด ด้วยปัจจัยอะไร หรือควรลงทุนในระยะสั้น ระยะปานกลาง หรือระยะยาว เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ ล้มเหลวกับการบริหารพอร์ตลงทุน
ความจริงแล้ว การตัดสินใจลงทุนหุ้นแต่ละตัวควรมีข้อมูลครบถ้วน คือ ศึกษาข้อมูลด้านปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยเทคนิค อ่านบทวิเคราะห์ ติดตามข่าวสารการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ที่สำคัญถ้าสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มควรปรึกษาที่ปรึกษาการลงทุนจากโบรกเกอร์ที่ตัวเองเปิดบัญชีลงทุน
การลงทุนที่ไร้ทิศทาง เรียกว่า การลงทุนสไตล์มวยวัด ที่มีหลักการเพียงหนึ่งเดียว คือ ลงทุนแล้วต้องได้กำไร หมายความว่าไม่มีกลยุทธ์การลงทุนที่ชัดเจน เช่น แบ่งเงินลงทุนให้เท่ากันทุก ๆ ตัว จากนั้นดูว่าหุ้นตัวไหนที่ราคาปรับขึ้นเร็วก็ลงทุนเพิ่ม ด้วยการขายหุ้นที่ปรับขึ้นช้า พูดง่าย ๆ ก็คือ ขายหุ้นที่ปรับขึ้นช้าที่สุดหรือขายหุ้นที่ขาดทุนออกไป แล้วไปลงทุนหุ้นที่ปรับขึ้นเร็วที่สุดเพิ่ม
จากสไตล์การลงทุนแบบนี้ สังเกตได้ว่าพอร์ตลงทุนมักจะมีหุ้นที่หลากหลายตั้งแต่หุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หุ้นปันผล หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดเล็ก หุ้นเก็งกำไร หรือแม้แต่หุ้นที่คาดไม่ถึงว่าจะอยู่ในพอร์ตลงทุนก็ยังมี และอาจรวมถึงการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย
หากนักลงทุนที่เคยใช้กลยุทธ์การลงทุนสไตล์มวยวัด อาจจะรู้ซึ้งถึงความอันตรายและเกิดความหงุดหงิด โดยเฉพาะจังหวะที่ไม่สามารถขายหุ้นออกไปได้ เนื่องจากในแต่ละวันหุ้นที่ต้องการขายออกไปแทบจะไม่มีการซื้อขาย เพราะไม่มีสภาพคล่อง ซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อภาพรวมของพอร์ตลงทุน
(อย่า) ลงทุนหุ้นที่ผิดปกติ
ข้อสังเกตของการดูหุ้นที่ผิดปกติสามารถดูได้จากการซื้อขายในแต่ละวัน อาจดูเรื่องของการซื้อในแต่ละวันประกอบ เพราะบางครั้งหุ้นตัวนั้นจะค่อนข้างเงียบ แต่สามารถมีปริมาณการซื้อขาย (Volume) ที่ปรับขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน
โดยหุ้นที่เข้าข่ายว่าผิดปกติมักจะไม่ค่อยมีบทวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐาน ส่วนราคาที่ปรับขึ้นมักจะเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เช่น ค่า P/E Ratio ขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรประเมินเบื้องต้นว่ามีปัจจัยที่สำคัญมาสนับสนุนหรือไม่ หรือดูจากอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) หากปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่มีกำไรหรือขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาหลายปี อาจเข้าข่ายการสร้างราคาได้เหมือนกัน
สำหรับจังหวะที่มีการสร้างราคาหุ้น สามารถทำได้ทุกสภาวการณ์ หากเป็นช่วงที่ตลาดมีการซื้อขายโดยรวมค่อนข้างซบเซา มูลค่าการซื้อขายน้อย เป็นโอกาสที่จะทำหรือปั่นราคาหุ้นได้ ในขณะเดียวกันช่วงเวลาที่ตลาดเป็นขาขึ้น หุ้นผิดปกติอาจอาศัยจังหวะนี้เข้ามาสร้างกระแสได้เช่นกัน
ส่วนการสร้างเรื่องราว (Story) ของหุ้นที่ผิดปกตินั้นมีหลายแบบ โดยเฉพาะการอาศัยการสร้างกระแสข่าวแบบปากต่อปาก เพื่อทำให้นักลงทุนสนใจมากขึ้น ที่สำคัญ หุ้นประเภทนี้มักมีข้อมูลชวนให้สงสัยในงบการเงินส่วนของรายงานผู้สอบบัญชี โดยให้ดูว่าผู้สอบบัญชีได้ตั้งเงื่อนไขหรือมีข้อสังเกตที่สำคัญ ๆ หรืออาจจะไม่แสดงความเห็นใด ๆ ซึ่งคำอธิบายเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อฐานะของกิจการหรือการดำรงอยู่ของความเป็นบริษัทจดทะเบียน
นอกจากนี้ อาจจะมีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมา เช่น กรรมการอาจจะขาดคุณสมบัติแต่ยังไม่ลาออก ซึ่งการขาดคุณสมบัติในหลาย ๆ เรื่องอาจขาดคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียน หรือบริษัทประกาศว่าคณะกรรมการบริษัทลาออกทั้งคณะหรือมีการเปลี่ยนคณะกรรมการบ่อย ๆ และมีการประกาศตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่
อีกทั้งมีการเปลี่ยนผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญ ๆ บ่อย เช่น ประธานบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ซึ่งนักลงทุนต้องดูว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ แต่หากมองโลกในแง่ดีการเปลี่ยนแปลงบ่อยก็เป็นกลยุทธ์การบริหารงานภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้แข็งแกร่งขึ้นก็เป็นได้
นอกจากนี้ บริษัทอาจจะปล่อยข่าวเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ให้กับคณะกรรมการบริษัท หรือปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องแต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินคืนได้ หรือมีการทวงถามแล้วทวงถามอีกแต่ก็ล้มเหลวหรือได้เงินคืนเพียงเล็กน้อย ข้อมูลแบบนี้ต้องระวังให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนั้น
สำหรับนักลงทุนที่มีเวลาเข้าไปดูรายละเอียดในงบการเงิน หากเป็นบริษัทที่เข้าข่ายผิดปกติสามารถดูได้จากลักษณะการลงทุน เช่น บริษัทประกาศการลงทุนไปได้ไม่นานก็ประกาศการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ หรือสำรองค่าเผื่อเงินลงทุน ผลก็คือ ทำให้เงินที่จ่ายออกไปในการลงทุนดังกล่าวสูงจนน่าตกใจ หรือประกาศว่ามีแผนสร้างโครงการธุรกิจ แต่เมื่อถึงเวลาก็เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นความผิดปกติของการบริหารจัดการ หรือคอยมองว่าการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก เพราะบางครั้งอาจจะเป็นเพียงแค่การผ่องถ่ายหรืออาจเป็นการลงทุนที่ดีก็ได้ ดังนั้น ต้องมองกลับไปในอดีตว่าการลงทุนดังกล่าวให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความต่อเนื่องมากน้อยแค่ไหน
เช่นเดียวกับรายการที่ลูกหนี้มีการค้างชำระนาน ๆ ต้องเข้าไปดูว่าเป็นลูกหนี้ของบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ หรือเป็นบริษัทที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย แต่การที่มีการค้างชำระนาน ๆ และมีความผิดปกตินั้นยังมีการค้าขายกันหรือไม่ เช่นเดียวกับบริษัทไหนที่เลื่อนการส่งงบการเงินก็ต้องคิดเอาไว้ว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี อาจมีความผิดปกติบางอย่าง หรือเมื่อส่งงบการเงินแล้วเห็นตัวเลขที่ไม่น่าประทับใจ
อีกทั้ง คอยติดตามว่าหน่วยงานที่ดูแลบริษัทจดทะเบียนมีการตั้งข้อสังเกตบริษัทนั้น ๆ ในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งบางครั้งอาจขอข้อมูลเพื่อให้อธิบายถึงการลงทุนเพิ่มเติม อธิบายที่มาที่ไปของรายการบางรายการในงบการเงิน หรือบริษัทจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติเรื่องที่สำคัญ ถือเป็นสัญญาณที่นักลงทุนต้องเข้าตรวจสอบก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้และเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น และสามารถนำแนวคิดและขั้นตอนในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาใช้เพื่อคัดกรองบริษัทที่มีพื้นฐานดีเหมาะสมแก่ลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่