วิบูลย์ กรมดิษฐ์” แนะทำ “ESG” ต้องไม่ศรีธนญชัย ชูเป็นจุดขาย ดึงนักลงทุน

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
23 ธันวาคม 2565
1.085k views
211424อมตะเมืองอุตสาหกรรม_Thaipublica-768x432
เมืองอุตสาหกรรมอมตะ
Highlights

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีขนาดพื้นที่รวมมากถึงประมาณ 45,000 ไร่ แบ่งเป็น นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี พื้นที่ 18,840 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง พื้นที่ 16,895 ไร่ รายรอบด้วยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถึง 25 แห่ง ขณะที่รายได้ของอุตสาหกรรมที่มาลงทุนใน “เมืองอมตะ” รวมกันประมาณ 10% ของจีดีพีประเทศ สะท้อนถึงความเกี่ยวพันกับผู้ส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ทำให้กลุ่มอมตะ ยกระดับความเป็นนิคมอุตสาหกรรม มาเป็นเมืองอุตสาหกรรม ต้องบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน สร้างความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Environment ,social, Governance : ESG )

 

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า “ตอนที่คิดชื่อ “อมตะ” ไม่ได้ตั้งเอามัน แต่มีกุศโลบายและมีความท้าทายในตัวมันเอง ชื่อ “อมตะ” ก็ต้องมีวิธีรักษาให้มีความเป็น “อมตะ” ผ่านการลองผิดลองถูก นับตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งบริษัทเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ต้องอาศัยการบริหารและการกำกับที่ดี มีการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืน “อมตะ“ อยากเห็นตัวเองเป็น Industrial Park ไม่ใช่เพียง Industrial Estate หรือ Industrial City นั่นหมายถึงเราต้องไม่หยุดพัฒนา”

 

ทั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ที่ต้องการให้นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มุ่งสู่ Eco Industrial Park :EIP ที่คำนึงถึงความสามารถด้านนิเวศวิทยา เพื่อไม่เกิดการสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติ ด้วยการออกแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับข้อจำกัด ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่/ชุมชนให้น้อยที่สุด และผสมผสานเมืองอุตสาหกรรมให้เข้ากันกับภูมิทัศน์ท้องถิ่น

 

ชู ESG – Eco Industrial Park ทำการตลาด

 

นายวิบูลย์กล่าวว่า “อมตะให้ความสำคัญกับ ESG เพราะมีผลต่อการตลาด ผมดูแลเรื่องการตลาด ถ้าสิ่งแวดล้อมดี ฝ่ายการตลาดของผมก็จะเดินไปได้ดี นักลงทุนที่มาจะรู้สึกได้ว่า เมืองในฝัน เมืองสวย ไม่ใช่เมืองที่มีแค่ถนน น้ำ ไฟ โทรศัพท์ เพราะแบบนั้นทุกที่ก็มี นี่คือสิ่งที่กลุ่มอมตะต้องการให้เป็น Eco Industrial Park”

 

“ESG เป็นจุดขายของเมืองอุตสาหกรรมทั่วโลกในปัจจุบัน องค์กรของเราต้องเป็น All Win ไม่ใช่ Win Win คือ All Win หมายถึง stakeholder ทั้งหลายต้องชนะ ชุมชนชนะ โรงงานชนะ อมตะก็ชนะ ราชการก็ชนะ สุดท้ายโลกชนะ The World is Win นี่คือ All Win ถ้ามองเป็นเกมส์ จะเป็นเกมส์ที่สนุก เพราะทุกคนชนะ และการ All Win ได้ ทุกคน(stakeholder) ต้องร่วมมือกัน ประสานงานกันและลงมือทำ อย่าสร้างด้วยปาก”

 

นายวิบูลย์ กล่าวว่า “นักลงทุนเลือกมาตั้งโรงงานในเมืองอุตสาหกรรมอมตะ เพราะ ”ESG” อย่าง โรงงานผลิตช็อคโลแลต ระดับเวิร์ลด์คลาส เบอร์ 1 เบอร์ 2 ของโลก ทำอาหารสัตว์ด้วย เขาบอกว่าที่เลือกอมตะ เพราะสิ่งแวดล้อมดี เขาตรวจสอบสิ่งเราทำเกี่ยวเรื่องความยั่งยืน ตอนแรกผมไม่คิดว่าเขาจะมาอยู่อมตะ เพราะราคาที่ดินสูง เขาบอกไม่เป็นไร ราคาที่ดินสูงเป็นการลงทุนครั้งเดียว และราคาที่ดินไม่ได้สูงกว่า 10% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด สะท้อนว่าที่ดินของไทยราคาไม่ได้แพง”

 

ลูกค้า-นักลงทุนต้องมีจุดร่วม “ESG”

 

แต่ในอีกด้านของเมืองอุตสาหกรรมที่ออกแบบรองรับความยั่งยืน ลูกค้าที่จะมาลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ร่วมกัน นายวิบูลย์กล่าวว่า “อย่างน้อยที่สุดลูกค้าของเราต้องเข้าใจเรื่อง ESG เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในเมื่อเราจะลงเรือลำเดียวกัน เรือลำนี้ต้องมีคอนเซปต์คล้าย ๆ กัน ไม่ต้องเหมือนกันหมด ทุกอย่างที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ป้องกันได้ ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น ยกตัวอย่าง ปล่องควัน มีตัวดักควัน ถ้าโรงงานไม่มี คุณต้องทำ แม้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถือเป็นการลงทุน แต่ในด้านสังคมคุณได้ ประชาชนพอใจ สิ่งแวดล้อมก็ได้ ไม่ได้ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ถ้าลูกค้าคนไหนไม่ทำตาม ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมาก ๆ เราจะมีบทลงโทษ อาจจะถึงขั้นปิดโรงงาน เพราะวันแรกที่เจ้าของโรงงานรับปากว่าจะทำ เราให้เกียรติ ให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาของเรา คุณโดนแน่”

 

พร้อมให้แนวทางว่า “คอนเซปต์ของอมตะ ต้องเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน ถ้าเราเดินไปด้วยไม่ได้ ก็ลำบาก ดังนั้นนักลงทุนต้องเดินได้ โรงงานถ้ายังไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ ก็ช่วยกันดึงขึ้นมา ช่วยกันพัฒนา มีการตั้งชมรมภายในเมืองอุตสาหกรรม ทำทั้ง SR /CSR เพื่อปรับทัศนคติ เป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกันจนน่าเกลียด ผมใช้คำว่า “น่าเกลียด” เพราะธุรกิจต้องมีกำไร เพื่อไว้ยังชีพคนทำงาน”

 

นายวิบูลย์กล่าวต่อว่าการเป็นพันมิตรร่วมกัน ต้องมีมาตรฐานที่เห็นตรงกัน โดยเฉพาะมาตรฐานง่าย ๆ คือ ESG ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ยาก โรงงานที่อยู่กับเราเป็นองค์กรระดับสากล การทำงานร่วมกันง่าย เขามี ESG มี ISO บางเรื่องเขามีมากกว่าเรา เพราะเขาจำเป็นต้องมี หรือเป้าหมายความยั่งยืน ของ UNDP ที่ทุกโรงงานแอพพลายตัวเองไปตามนั้น หรือการที่นายกรัฐมนตรีของไทย ลงนามใน COP26 ที่ภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐต้องเดินตาม ถ้าไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ก็จะถูกคู่ค้าไม่ค้าด้วย ส่งของไม่ได้ หรือใช้แรงงานเด็ก …เจ๊งเลยนะ มาตรฐานโลกเหล่านี้ต้องมี แทบจะไม่ต้องบอกกันเลย สิ่งเหล่านี้ัมั่นใจว่าโรงงานมี และเรื่องเหล่านี้ตรวจสอบได้ง่าย

 

ด้วยประสบการณ์การทำนิคมอุตสาหกรรมมายาวนาน นายวิบูลย์เล่าว่า “ผมจะตั้งคำถามนี้ก่อน ถ้าโรงงานทำร้ายสิ่งแวดล้อม แล้วมีทางป้องกันอย่างไร ถ้าหากว่าสามารถป้องกันได้ ก็จบ โปรดักส์ของแต่ละโรงงาน เราพอจะมองออกว่า ทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ณ วันนี้ ผมเอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวนำ แต่ถามว่าอยากได้เงินหรือไม่ บอกตรง ๆ ว่าอยากได้ แต่เป็นลำดับความสำคัญที่ตามมา เพราะถ้าได้เงินมาแล้วสร้างปัญหามลภาวะ เงินที่ได้จะไม่คุ้ม กระทบต่อชื่อเสียง”

 

พร้อมยกตัวอย่าง “เรื่องกลิ่น อย่ามาบอกว่ากำจัดไม่ได้ โกหก กลิ่นเดินทางผ่านน้ำไม่ได้ เมื่อมีม่านน้ำ แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้ ควัน สามารถดักจับได้ ความร้อนก็ใช้พื้นที่สีเขียวป้องกันไว้ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้หมด และเข้าใจได้ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ถ้ามีทางแก้ไข แล้วไม่ทำ ผมไม่ยอม สิ่งที่ทำได้คือ ปิดโรงงาน ขอให้การนิคมอุตสาหกรรม ใช้อำนาจหยุดการผลิต เพียงเท่านี้โรงงานก็แย่ ผู้บริหารของคุณไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ แต่คนที่มี discipline จะไม่เบี้ยว และแค่บอกปัญหามา เราบอกทางแก้ได้ แต่ละโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว ตัวเขาเองก็ต้องรักษาชื่อเสียงของเขา ที่สุดแล้วผมเชื่อว่ามันจะเป็น mutaul ฉะนั้น เกณฑ์มาตรฐานของอมตะ จะใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมนำ”

วิบูลย์-กรมดิษฐ์_อมตะ_Thaipublica-768x573
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน

โปร่งใส ถ้า “ผิด-พลาด” ต้องพร้อมแก้ไข

 

ในความเป็นเมืองอุตสาหกรรม ย่อมมีข้อสงสัยมากมายถึงผลกระทบในด้านต่างๆ นายวิบูลย์กล่าว “อมตะ เป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ พื้นที่รอบ ๆ เคยทำไร่ทำนา มีการถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อสร้างโรงงาน แต่การถมที่ทับที่สาธารณะ หรือคลอง เราไม่ทำ การถมคลองเท่ากับทับทางน้ำไหล แต่ชุมชนไม่คิดอย่างนั้น ต้องพาชุมชนมาดู ชวนเด็ก ๆ นักเรียนมาดู ให้เด็กไปเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า หรือการทิ้งน้ำเสีย อมตะไม่ได้ทิ้งน้ำเสีย น้ำจากที่ดำๆ แต่ปล่อยออกมาใสๆ เลี้ยงปลาได้ เราก็ต้องเลี้ยงปลาให้เขาเห็น นี่คือข้อเท็จจริง ช่วงแรกชุมชนไม่ค่อยเข้าใจ เพราะนิคมอุตสาหกรรมไม่ค่อยเปิดเผย ผู้บริหารบอกว่า ถ้ายังขี้อายเราตายแน่ ๆ ต้องเปิด ต้องแก้ผ้าให้เขาเห็น ว่าเป็นอย่างไร และทุกอย่างเป็นต้นทุน ไม่มีโรงงานไหน ทิ้งน้ำเสียออกไป หนึ่งผิดกฎหมาย สองถ้าต้องเสียเงินอยู่แล้ว จะปล่อยน้ำเสียทิ้งทำไม ก็โยนภาระให้อมตะที่มีโรงบำบัดน้ำเสีย มีโรงผลิตน้ำประปาจัดการ นี่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีเรื่องเศรษฐกิจมาแบคอัพ ควบคู่กับดูแลสังคม แต่ไม่มีนโยบายให้ปลาไปกิน เพราะไม่เกิดความยั่งยืน ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีศักยภาพ ใครมีสินค้าอะไรให้เอามาแลกเปลี่ยนกัน โดยที่อมตะเป็นสะพาน”

 

“เรามาอยู่ร่วมกัน เป็นสังคมที่เข้าใจซึ่งกันและกัน ฉะนั้นการมองต่าง มีถกเถียงกันบ้าง เกิดจากความไม่เข้าใจ เพราะต่างคนต่างจิตต่างใจ บางครั้งมีอะไร ผิดพลาดได้ สี่เท้ารู้พลาดนักปราชญ์รู้พลั้ง ไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100% ผมอายุ 60 กว่า ทำงานมาพอสมควร รู้ว่าคนดีต้องแก้ไข ผิดพลาดก็ยืดอกรับว่า ผิด จะแก้ไข แต่ถ้าคุณปิด ๆ บัง ๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ ผิดต้องยอมรับว่าเราผิด พลาดก็ต้องยอมรับว่าพลาด แล้วแก้ไข ผมเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ถูกสอนสั่งมาอย่างนั้น ไม่ใช่รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง อย่างนั้นมันไม่ยั่งยืน สังคมให้อภัย ถ้าคุณกล้าขอโทษ แล้วแก้ไข ไม่ใช่แค่ขอโทษ อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ต้องแก้ไข ทำให้มันดี วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ ถามว่าจะเป็น perfect city เมื่อไหร่ ก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตลอดเวลา เมืองจะไม่ใช่เป็นเมืองตาย เป็นเมืองเป็น เพราะถ้าเมืองตาย เท่ากับหยุดพัฒนา นี่คือสิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายอยากจะเห็น อยากจะให้เป็น”

 

“น้ำ” ความท้าทาย-ความเสี่ยง

Zero-waste-water_อมตะ-860x453

สำหรับเมืองอุตสาหกรรม นายวิบูลย์กล่าวว่า “น้ำ” เป็นความเสี่ยงที่ท้าทายและมีความอ่อนไหวมาก ถ้าเทียบกับปัญหาเรื่องไฟฟ้า หากไฟฟ้ามีปัญหาขึ้นเอาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า( Generator) มาเติมน้ำมัน สตาร์ตเครื่อง ก็ได้ไฟมาใช้แล้ว แต่ถ้าขาดแคลนน้ำ ต้องการน้ำ 1 หมื่นคิว ต้องใช้รถถึง 600-700 คันมาขนน้ำ เพราะแต่ละคันบรรจุได้ 16 คิว การดูแลเรื่องน้ำจึงมีความสลับซับซ้อนและอ่อนไหว มีผลกระทบต่อเนื่องถึงการผลิต และใช้เวลาแก้ปัญหาที่นานกว่า น้ำจึงถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ คณะกรรมการและผู้บริหารกลุ่มอมตะจึงให้ความสำคัญกับ “น้ำ อย่างยิ่งยวด” โดยย้ำว่าต้องใช้คำว่า “ยิ่งยวด”

 

ตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำของอมตะจึงเป็นตัวอย่างสำคัญของธุรกิจที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำเรื่อง ESG มาอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการกิจการ ประเทศไทยมีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน แต่จะนำน้ำมาใช้อย่างไร ก็ต้องสร้างที่เก็บน้ำให้เพียงพอ และเพิ่มปลอดภัยด้วยการนำน้ำที่ใช้แล้วหมุนย้อนให้กลับมาใช้ได้อีก อมตะสามารถรีไซเคิลน้ำให้กลับมาใช้ใหม่ได้ 40% ลดการใช้น้ำดิบจาก 100 % เหลือเพียง 60% ประหยัดน้ำได้ 13 ล้านคิวต่อปี ซึ่งถือว่าเยอะมาก

 

“แม้จะประหยัดน้ำได้ถึง 13 ล้านคิว แต่อมตะมีโครงการ Zero Waste Discharge คือความพยายามรีไซเคิลน้ำกลับไปใช้ให้ทั้งหมดหมด แม้วันนี้ทำได้ 40% และกำลังพยายามทำให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 50-80% ถ้าทำได้ถึง 100% เมื่อไหร่ ถือว่าประสบความสำเร็จ ถามว่ายากมั้ย เรียนตรง ๆ ไม่ง่ายเลย มันเหมือนจะสร้างกรุงโรมด้วยวาจา ง่าย แต่ถ้าลงไปทำเอง ไม่ง่ายเลย ต้องค่อย ๆ condense แต่สุดท้ายก็ยังเหลือของเสีย ของเสียตรงนี้จะบริหารจัดการอย่างไร นี่คือสิ่งท้าทาย”

 

นอกจากนี้อมตะตั้งเป้าเรื่อง Low Carbon หรือ Neutral Carbon โดยปลูกป่าทั้งในเมืองอุตสาหกรรม และในชุมชน รวมท้ั้งมุ่ง สร้างพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) เช่น พลังงานจากโซลาร์เซลล์ พลังงานจากขยะ เป็นการร่วมมือในการแก้ปัญหาตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) รวมถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ (UNDP) ที่มี 17 เป้าหมายด้วย

 

“ทั้งหมดนี้การทำ ESG เพื่อปรับตัวให้มั่นคง เป็น Sustainable Development ตามเป้าหมายของ UNDP นี่คือความตั้งใจ ด้วยการทำทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็น Socio-economic อีกประเด็น ที่อมตะ ทำคือ การต่อต่านคอร์รัปชัน วันนี้องค์กรเราต้องการมุ่งไปทางนั้น ฉะนั้น บริษัทฯต้องมี Good Governance , Transparency และ Accountability ถ้าไม่มี ความยั่งยืนจะอยู่ตรงไหน ความเป็นอมตะจะอยู่ตรงไหน”

 

“พนักงาน-ชุมชน” มุ่งสร้างผลลัพธ์ร่วมกัน

 

นายวิบูลย์ กล่าวว่า การดูแลสังคมในส่วนภายนอก ระยะแรกเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) เช่น การสร้างโรงเรียนให้บุตรหลานทั้งของพนักงานและคนในชุมชน การบริจาคให้โรงพยาบาล การทำโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยโควิด แจกยา ถุงยังชีพช่วยประชาชนรอบนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือแม้แต่การช่วยโรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน แต่เวลานี้มีการยกระดับเป็น Sustainable Development ที่มีมิติขึ้น เช่น การขจัดความยากจน โดยการจัดตลาดให้ชาวบ้านนำสินค้ามาจำหน่าย มีเป้าหมายยกระดับให้เป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม ถ้าทำได้ดี ชุมชนมีความแข็งแรง ธุรกิจมีการหมุนเวียน โดยมีชุมชนรอบนิคมฯ กลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนราชการท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบล 25 อบต. เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือในกิจกรรมต่างๆที่มุ่งสร้างผลลัพธ์ร่วมกัน(Collective impact) มีเป้าหมายเดียวกัน เข้าใจในบทบาทของกันและกัน ลดการต่อต้าน และสร้างความร่วมมือร่วมใจกันในการช่วยกันดูแลและพัฒนาสังคมโดยรวมให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

 

ขณะเดียวบริษัทฯให้ความสำคัญโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย ทางตรง(primarystakeholder) คือพนักงานในองค์กรซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความความสำเร็จ มีการฝึกอบรม พัฒนาทักษะและจิตใจ มุ่งความสุขในการทำงาน เพื่อให้ร่วมสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพและพร้อมแบ่งปันสู่สังคมภายนอก

Zero-waste-water_อมตะ_1-768x425

ทำเรื่อง ESG ต้องไม่ศรีธนญชัย

 

อย่างไรก็ตามการวางเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนในเรื่อง ESG มีการลองผิดลองถูก ผิดก็แก้ไข ได้พัฒนาต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ละขั้น แต่ละตอน ที่ผ่านมากลุ่มอมตะ ได้รับ Best Sustainability Awards ของกลุ่มบริษัทจดทะเบียน จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับการรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเป้าหมายต่อไปของกลุ่มอมตะ คือ การยกระดับสู่มาตรฐานโลก ที่นอกจากจะช่วยด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว นายวิบูลย์ บอกว่า ยังเป็นจุดขายของกลุ่มอมตะ สอดรับกับกลุ่มอุตสาหกรรมระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับ ESG และการให้ความสำคัญกับ ESG ของอมตะ ถือเป็น All Win ไม่ใช่ Win Win ดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

พร้อมให้คำแนะนำว่าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ทำ ESG นั้น นายวิบูลย์ ให้คำแนะนำว่า “โรงงานต้องถามตัวเองว่า รักโลกใบนี้หรือไม่ ถ้ารัก ควรทำ ESG คำว่า ESG มี 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การลงมือทำดีกว่าไม่ทำ และสามารถค่อย ๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแห่งจะเลือกทำด้านใดก่อน และต้องคำนึงด้วยว่า อย่าทำให้องค์กรเดือดร้อน แต่ละแห่งสามารถหารายได้ ทำกำไรได้ แต่อย่ารวยบนหยาดเหงื่อและคราบน้ำตา หรือรวยท่ามกลางหายนะของสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ารวยน้อยลงแต่สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สังคมก็มีความสุข

 

“ที่สำคัญบอกสังคมอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น แต่สิ่งเหล่านี้พูดง่าย ต้องปฏิบัติ แล้วจะสนุกกับมัน อุปสรรคหรือปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้ให้วิ่งหนี และถ้าลงมือแก้ไข ความยั่งยืนก็มา ปรัชญาของอมตะ คือ มีปัญหา อย่าวิ่งหนีปัญหา ต้องสู้ ถ้าเป็นศรีธนญชัย ความยั่งยืนไม่เกิด โดยเชื่อว่าทุกอย่างแก้ไขได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะลงมือทำหรือไม่ การทำไม่ได้ คือไม่ลงมือทำ ขณะที่สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาก็ด้วยน้ำมือมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องเป็นคนแก้ไข”

 

พร้อมเล่าประสบการณ์ว่า “ใครที่เคยเรียนด้านบริหารธุรกิจ จะรู้ว่าทุกคนจะถูกสอนให้ Maximise Profit ผมก็ถูกสอนมาอย่างนี้เหมือนกัน แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งเละ เลยขอเปลี่ยนใหม่เป็น Reasonable Profit ที่ต้องดูแล stakeholder ด้วย”

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. “วิบูลย์ กรมดิษฐ์” แนะทำ “ESG” ต้องไม่ศรีธนญชัย ชูเป็นจุดขาย ดึงนักลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: