ในยุค COVID-19 มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย นักลงทุนหลายคนอาจจะขาดทุนในการลงทุน เพราะบริษัทที่ตัวเองซื้อหุ้นไว้นั้น กำไรลดลง แต่ก็อาจจะมีบางคนที่ลงทุนถูกบริษัทที่นอกจากกำไรไม่ได้ลดลงแล้ว แถมยังเพิ่มขึ้นไปอีก
แต่ในวิกฤตินั้นก็มีโอกาสแฝงอยู่เสมอ หลายคนรอวันที่หุ้นจะกลับมา เราเคยได้เห็นกันแล้วว่าในอดีตการลงทุนในช่วงวิกฤตินั้น หากผ่านไปได้ มักจะทำกำไรให้กับนักลงทุนมหาศาล
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น สิ่งที่สำคัญที่เราควรตระหนักถึงก็คือ ไม่ใช่ว่านักลงทุนทุกคนจะได้กำไรจากการลงทุนในช่วงวิกฤติ มีอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่ถึงกับล้มละลายไปพร้อม ๆ กับบริษัทที่ตัวเองลงทุนในช่วงวิกฤติ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนมักจะมองข้ามคือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาที่มักจะทำให้เราหลงผิดหรือเกิดความลำเอียงในการตัดสินใจ
เราลองมาพิจารณาความลำเอียงใหญ่ ๆ สัก 3 เรื่องที่มักจะเกิดขึ้นกับเรา ซึ่งเมื่อเรารู้แล้ว น่าจะทำให้การลงทุนของเรามีความเป็นเหตุเป็นผลเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการได้กำไรจากการลงทุนในช่วง COVID-19 นี้ ได้อีกทางหนึ่ง
1. Sunk Cost Fallacy
คำว่า Sunk Cost แปลตรงตัวว่าต้นทุนจม เรื่องนี้เป็นความลำเอียงที่เรามักจะเจอกันบ่อยที่สุดอันหนึ่งเลย สมมติว่าช่วง COVID-19 เราเริ่มสนใจหุ้นตัวหนึ่ง เราคิดว่ามันน่าจะดีแน่ ๆ แล้วเราซื้อไปด้วยต้นทุน 10 บาท ต่อมาสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คิด จนราคาหุ้นตกไปที่ราคา 8 บาท คำถามคือเราจะทำอย่างไร
เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า ยังไม่ขายหรอก อย่างน้อย ๆ ขอให้ราคากลับมาเท่าเดิมคือ 10 บาทก่อน แล้วค่อยขาย และเราจะมาพร้อมกับเหตุผลต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุนความคิดนี้ เช่น เดี๋ยวหุ้นก็จะดีขึ้นเอง รออีกหน่อยถ้าสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ ราคาหุ้นก็จะกลับมา
สิ่งที่เราเจออยู่ตอนนี้ก็คือ เรามี Sunk Cost Fallacy คือเรารู้สึกว่าเงินลงทุนที่เราซื้อไป 10 บาทนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เราจะนำมาใช้ตัดสินใจว่า เราควรขายหุ้นตัวนี้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่เงินส่วนนั้นมันเป็น “ต้นทุนจม” หรือแปลง่าย ๆ ว่ามันเป็นเงินที่เราจ่ายไปแล้วในอดีต ซึ่งมันไม่ควรจะมีผลใด ๆ เลยต่อการตัดสินใจในอนาคต
จริง ๆ ไม่ได้แปลว่าควรขายหรือควรถือต่อนะครับ แต่เหตุผลที่เราจะขายหรือถือต่อ ควรจะขึ้นอยู่กับการมองอนาคตว่าเป็นอย่างไรมากกว่าที่จะมองว่าต้นทุนของเราอยู่ที่เท่าไร ถ้าเราคิดว่าอนาคตมันจะแย่ไปกว่านี้ เราก็ควรขาย แต่ถ้าเราคิดว่าอนาคตมันจะดี เราก็ควรถือต่อ เพียงแต่ว่าเราต้องระวังอย่าเอาต้นทุนมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเท่านั้นครับ
2. Confirmation Bias
อันนี้เป็นความลำเอียงอีกอันที่เรามักจะเจอกันบ่อย ๆ คำว่า Confirmation แปลว่ายืนยัน กรณีนี้ เรามักจะหาข้อมูลมายืนยันสิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้ว มากกว่าจะหาข้อมูลมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ยกตัวอย่างเช่น เราชอบหุ้นตัวหนึ่งมาก เราก็จะไปหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจว่าควรซื้อหุ้นตัวนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่เรามักจะทำก็คือ ไปถามคนที่ถือหุ้นตัวนี้เยอะ ๆ ว่าหุ้นตัวนี้ดีไหม แน่นอนว่า คนที่ถือหุ้นตัวนี้เยอะ เขาย่อมคิดว่าหุ้นตัวนี้ก็น่าจะดีแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็คือข้อมูลเฉพาะด้านที่ดีของหุ้นตัวนี้ แต่สิ่งนี้เราอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว จะทำให้เรายิ่งมั่นใจเข้าไปใหญ่ว่า หุ้นตัวนี้ดีแน่นอน
ในยุค COVID-19 ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ การหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพียงแต่ว่า เราต้องระวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่เราหามานั้น เราเลือกหาเฉพาะอันที่มาสนับสนุนการตัดสินใจของเราเท่านั้นหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ข้อมูลชุดนั้น แทบจะไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย และจะทำให้เรายิ่งมั่นใจกับทางเลือกของเรามากจนเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลเสียกับการลงทุนของเราได้
3. Hindsight Bias
ความลำเอียงนี้เกิดขึ้นโดยเรามักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองรู้ไปทุกเรื่อง หลังจากเรื่องนั้นผ่านไปแล้ว เช่น พอเราเห็นหุ้นตกเยอะ ๆ ติดกันหลายวัน เราก็อาจจะมีความรู้สึกว่า จริง ๆ มันมีสัญญาณมาตั้งนานแล้วนะ ที่หุ้นตกเพราะอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว เราอาจจะเพิ่งคิดว่าตัวเองรู้ คือถ้ารู้ก่อนหน้านั้น และเราเล่นหุ้นระยะสั้น เราก็ควรขายหุ้นไปตั้งนานแล้ว
แต่มนุษย์ทั่วไปไม่ได้เป็นแบบนั้น เราชอบคิดว่าเรารู้ หลังจากเรื่องมันถูกเฉลยแล้ว ก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ไม่ค่อยมีคนมาพูดอะไรมากนัก แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะมีคนวิเคราะห์เป็นฉาก ๆ เลยว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร มีสัญญาณอะไรมาก่อนหน้านี้
ความลำเอียงแบบนี้มีความอันตรายคือ มันจะทำให้เราไม่ได้พัฒนาตัวเอง เพราะเราจะคิดว่าเรารู้ทุกอย่างหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ลองเตือนตัวเองดูดี ๆ ว่า ที่เราดูเหมือนจะรู้เหตุผลทุกอย่าง เป็นเพราะเรื่องราวมันเกิดขึ้นมาแล้ว หรือเรารู้จริง ๆ ถ้าเป็นแบบหลังก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นแบบแรก เราจะได้เตือนตัวเอง และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ต่อไป
จริง ๆ แล้วความลำเอียงมีอีกหลายประการ แต่ที่คัดเลือก 3 รูปแบบนี้ เพราะมักจะเป็นความลำเอียงที่เราเจอบ่อย ๆ สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าเรารู้ว่าตัวเรามีความลำเอียง เราจะลดความลำเอียงลงได้ และเมื่อความลำเอียงลดลง โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ
สำหรับใครที่สนใจ เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน...ด้วยการเรียนรู้หลุมพรางที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยล้มเหลว และไปไม่ถึงเส้นชัยในการลงทุน เรียนรู้อารมณ์และพฤติกรรมของตลาด ตลอดจนเข้าใจแนวทางการปรับทัศนคติ เเละกระบวนการทางความคิดที่ใช้ในการลงทุน เพื่อความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Mindset for Successful Investor” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่