บลจ.บัวหลวงชี้กระบวนการลงทุน “ESG” เป็น “Journey” ที่ต้องพัฒนาไม่สิ้นสุด”

โดย CMDF & Thai publica
5 Min Read
27 ธันวาคม 2565
1.453k views
สังคมฉุกคิดด้วยESG_thaipublica_สันติ-ธนะนิรันดร์-620x413
นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM
Highlights

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investng” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล)ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM ถือเป็น บลจ. แห่งแรกๆ ที่มีการจัดสรรการลงทุนบนหลัก ESG (environment ,social, governance) ต่อเนื่องมาได้ประมาณ 10 ปีแล้ว เพราะเชื่อว่าการลงทุนในบริษัทที่มี ESG จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ ขณะเดียวกันสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ไปพร้อมกับการพัฒนากระบวนการลงทุนใน ESG อย่างต่อเนื่อง

 

สถาบันการลงทุนกับ “Sustainable Investing”

 

นายสันติ ธนะนิรันดร์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน BBLAM กล่าวว่า ESG investing หรือ responsible investing ความหมายคือ การ นำ ESG มาใช้ประกอบการลงทุน ถือเป็นมุมมองการลงทุนในระยะยาว โดยสิ่งสำคัญที่บริษัทจดทะเบียนจะเติบโตได้ นอกจากผู้บริหารต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ต่างๆ โครงสร้างบริษัท คณะกรรมการ แล้ว governance เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้บริษัทให้ความสำคัญและนำ ESG มาใช้ โดยไม่เน้นผลตอบแทนระยะสั้น หรือการเติบโตในระยะสั้น

 

“โดยเชื่อว่าการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ นี่คือจุดที่ทำให้ BBLAM ฉุกคิดว่าในเมื่อเราเป็นสถาบันการลงทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาว เรื่อง ESG เป็นเรื่องสำคัญแน่นอน”

 

ขณะเดียวกัน นักลงทุนได้ให้ความสนใจลงทุนกอง ESG มากขึ้น โดยข้อมูลในระดับโลกพบว่า มีเงินทุนไหลเข้ามาในกองทุน ESG ทุกปี รวมถึงในปีนี้ที่แม้ตลาดหุ้นจะดูผันผวน แต่ยอดเงินที่ไหลเข้ามาในกองทุน ESG ยังเป็นบวก เห็นได้ว่านักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุน ESG มากขึ้น รวมทั้งความตื่นตัวของทางการที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น มีการสนับสนุนให้สถาบัน ให้ความสำคัญกับ ESG มีการออกข้อกำหนดต่างๆ ที่เอื้อต่อการลงทุน ESG กล่าวคือ เอื้อทั้งในแง่การลงทุนที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวมทั้งให้บริษัทจดทะเบียน มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ต้องมี sustainable report ให้นักลงทุนเห็นข้อมูลว่า บริษัทมีการดำเนินการเกี่ยวกับ ESG อย่างไร

 

นายสันติ กล่าวว่า คำว่า responsible investing จะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนในระยะยาว โดยเชื่อว่าการดำเนินงานในกรอบ ESG จะส่งผลให้ได้ตามวัตถุประสงค์นั้น ขณะที่ sustainable investing อาจจะสื่อความหมายไปในแง่ที่ว่าเป็นการหาโอกาสจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญกับ E, S และ G มากขึ้น เรียกว่าเป็นการหาโอกาสจากจุดนี้

 

ในต่างประเทศนั้น มีแนวโน้มชัดเจนว่า มีการออกกองทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น ต้องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ภายหลังจากความร่วมมือกันตามข้อตกลงปารีส (ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือยูเอ็นเอฟซีซีซี เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2563) ทำให้เกิดระเบียบข้อบังคับออกมามากในต่างประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนจนเป็นศูนย์ ในปี 2050 จีนในปี 2060 ทำให้แต่ละประเทศต่างมีนโยบายทำให้เกิดผลตามเป้าหมาย เช่น การส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า (อีวี) การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) เป็นต้น

 

กลยุทธ์ Thematic Investment กับแนวโน้ม ESG

Highlights

แน่นอน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด thematic investment คือ การลงทุนที่สอดคล้องกับแนวโน้ม ESG และกำหนดธีมการงทุนที่มองไปถึงโอกาสในอนาคตมากขึ้น รวมทั้ง sustainable investing ก็เช่นเดียวกัน เป็นการหาโอกาสจากการที่สังคมหรือโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนในกลุ่มนี้จะได้ผลตอบแทนที่ดี ถือว่าเป็น growth stock เป็น growth investing เลยก็ว่าได้ เพราะเติบโตขึ้นมากจริงๆ

สำหรับ BBLAM นั้น นายสันติ กล่าวว่า การลงทุนที่ยั่งยืน หรือ sustainable investing คือ การหาโอกาสจากการที่โลกให้ความสำคัญกับ E–S–G มากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วย ซึ่ง BBLAM เห็นโอกาสนี้มาตั้งแต่แรกๆ ที่ออกกองทุน BSIRICG ในปี 2555 คือ เริ่มจากตัว G หรือ governance ก่อน เน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล ต้องได้เรตติงเกี่ยวกับ CG 3 ดาวขึ้นไป รวมทั้งมีการจ่ายเงินปันผล จากนั้นปี 2557 ออกกอง BKIND เป็นกองทุนแรกที่ให้ความสำคัญทั้ง 3 ส่วนคือ E–S–G รวมทั้งตอบแทนสังคมด้วยการบริจาคเงิน 40% ของรายได้ที่ได้จากการบริหารกองทุนคืนสู่สังคมด้วย ถัดมาคือกองทุน B-THAICG ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยร่วมกับกลุ่มกับ บลจ. อื่นรวม 11 แห่ง แต่แยกกันออกบริษัทละหนึ่งกองทุน

 

ล่าสุด คือ กอง BSIP ที่มีลักษณะ เป็น thematic เรียกว่า หาโอกาสจาก ESG โดยมีการลงทุนใน 2 กองทุน ของ Pictet Asset Management คือกอง Pictet – Global Environmental Opportunities – I EUR คือ หาโอกาสจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกกองคือ Pictet – Clean Energy – I USD เน้นในเรื่องของพลังงานสะอาด เป็น 2 กองทุนที่ถือว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกในอนาคต เพราะนโยบายภาครัฐทิศทางไปทางนั้น และพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ยังเติบโตได้อีกมาก เรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่ทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย ส่งเสริมการใช้ EV มากขึ้น เป็นกอง thematic ที่เห็นภาพค่อนข้างชัด

 

6 เกณฑ์คัดหุ้น ESG

 

สำหรับกองทุนรวมของไทยนั้น เนื่องจากตลาดหุ้นไทย 10 ปีที่ผ่านมายังมีการลงทุนในลักษณะนี้ไม่มากนัก จึงต้องให้เวลาในการสร้าง track record เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการลงทุนใน ESG ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนทั่วๆ ไป โดย track record ในกองทุนที่ BBLAM บริหารอยู่นั้น เช่น กองทุน BSIRIG (กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล) เป็นกองทุนที่ตั้งเมื่อปี 2555 ที่ราคาหุ้นยังไม่แพงนัก มีผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนกองทุน BKIND (กองทุนรวมคนไทยใจดี) กองทุน B-THAICG (กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย ) ยังถือว่าผลตอบแทนใกล้เคียงกับต้นทุน ยังต้องให้เวลาในการสร้าง track record รวมทั้งระยะเวลาในการบริหารยังน้อยอยู่

 

สำหรับการคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้น นายสันติ กล่าวว่า ในประเทศไทยเรียกว่า มีหลักทรัพย์ให้เลือกค่อนข้างน้อย จึงต้องใช้เกณฑ์ในการคัดเลือก อย่างกองทุน BKIND การคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าในตะกร้าการลงทุนหรือชุดการลงทุน (universe) และจะคัดหลักทรัพย์ที่อยู่ในเกณฑ์ใน index ที่เกี่ยวกับ sustainability เช่น THSI รวมทั้งจะมีเกณฑ์ของบริษัทเองด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีหุ้นน้อยเกินไป

 

ยกตัวอย่างกอง BKIND จะมี 6 หลักเกณฑ์ 1) การเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่อง governance ที่จะเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบ 2) เรื่องของงบการเงินที่น่าเชื่อถือ 3) การมี sustainability report เกณฑ์อื่นๆ จะเป็นเรื่องของ 4) CG rating 5) การอยู่ในเซกเตอร์ที่ส่งผลต่อ ESG หรือไม่ 6) อยู่ใน sustainability index เกณฑ์พวกนี้เป็นเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ยูนิเวิร์สของ BBLAM กว้างมากขึ้น สามารถคัดเลือกหลักทรัพย์ได้มากขึ้น

 

โดยเกณฑ์ในกองทุน BKIND นี้จะนำไปปรับใช้ในกองทุนอื่นด้วย โดยกองทุนทั่วไปที่บริษัทบริหารจะนำเกณฑ์ข้างต้นมาใช้ทบทวนหลักทรัพย์ในการลงทุนที่ทำทุกไตรมาส ว่าหลักทรัพย์ที่ลงทุนมีการพิจารณาเรื่อง ESG หรือผ่านเกณฑ์ ESG ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ จะให้น้ำหนักเท่ากันในแต่ละเกณฑ์ แต่ในแง่การวิเคราะห์ นักวิเคราะห์ในแต่ละเซกเตอร์จะพิจารณาในแต่ละ ESG ที่แตกต่างกันไป

 

“เพราะบางเซกเตอร์อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากหน่อย บางเซกเตอร์มีความเสี่ยงทางด้านสังคมมาก บางเซกเตอร์มีความเสี่ยงเรื่องธรรมาภิบาลเยอะ ความแตกต่างจะอยู่ที่ปัจจัยความเสี่ยงของแต่ละเซกเตอร์ หรือแต่ละบริษัทอยู่ตรงไหน ก็ต้องให้ความสำคัญตรงนั้นไป แต่ในเรื่องของการคัดกรองให้เข้ามาอยู่ยูนิเวิร์ส หรือการทบทวนว่าจะอยู่ในยูนิเวิร์สหรือไม่ ในเบื้องต้นจะให้น้ำหนัก 6 ปัจจัยเท่ากัน”

 

นายสันติ กล่าวว่า ปกติการวิเคราะห์หุ้น จะดูการบริหารจัดการ งบการเงิน อุตสาหกรรม แต่พอมีเรื่อง ESG ก็จะเป็นอีกมุมเพื่อให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่อง ESG ได้ดีแค่ไหน นอกเหนือจากความเสี่ยงหรือประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงบการเงิน หรือการบริหารจัดการทั่วๆ ไป

 

ปัจจุบันสามารถหาหลักทรัพย์ลงทุน ด้าน ESG ได้มากขึ้น จากการที่ทางการให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงมีความพยายามที่จะหาวิธีและต้องพัฒนากระบวนการ เพื่อค้นหาให้ได้มากขึ้น ขณะนี้ยังใช้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะในการค้นหาหรือคัดเลือกหุ้นเข้ายูนิเวิร์ส ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปี ข้อมูล sustainable report ข้อมูลจากการติดตามข่าว ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าจะมีการหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เช่น โบรกเกอร์ที่มีการให้สกอร์ ESG หรือแหล่งอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณา

 

สร้างพลังเครือข่ายติดตาม “ESG”

 

นอกจากนี้ ในขั้นตอนของการลงทุน จะมีการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ BBLAM ไปลงทุนว่า ผลกระทบต่อ ESG เป็นอย่างไร รวมทั้งนำเรื่อง ESG เข้าไปประกอบในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุนระยะยาวของบริษัท หลังจากติดตามแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด คือ มีประเด็นเรื่อง ESG ขึ้นมา นักวิเคราะห์จะแจ้งให้คณะกรรมการการลงทุนทราบ และหาแนวทางการดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมที่บริษัทสามารถทำได้ ด้วยการพบปะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน สอบถามข้อมูล หรือจะร่วมมือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (AMC) เพื่อให้มีพลังมากขึ้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทที่มีประเด็นเรื่อง ESG สอบถามสาเหตุของปัญหา แนวทางในการแก้ไข หรือแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

Highlights

ที่ผ่านมา การมี engagement จะได้ผลตอบรับที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เพราะบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งจะให้ความสำคัญกับนักลงทุน อยากให้นักลงทุนมองบริษัทในเชิงบวก เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท เชื่อว่าทุกบริษัทอยากให้หุ้นตัวเองมีทิศทางขาขึ้น ฉะนั้น เวลามีความเห็น หรือมีประเด็นติดตามเกี่ยวกับ ESG จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริหารบริษัท

ถัดจากเรื่อง engagement จะเป็นเรื่องการใช้สิทธิ์ออกเสียงในกรณีที่คิดว่ามีบางประเด็นที่ไม่เหมาะสมและบริษัทสามารถใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมได้ ตัวอย่างเช่น กรรมการบริษัทจดทะเบียน ทั้งในเรื่องตัวกรรมการเอง หรือโครงสร้างของกรรมการ หรือการกระทำบางอย่างที่อาจจะไม่เป็นมิตรกับนักลงทุนรายย่อย เป็นต้น ก็สามารถลงมติหรือออกเสียงในเชิงคัดค้านได้ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการในการติดตามเรื่อง ESG

Highlights

“ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นความเชื่อของหลายบริษัทว่า การบริหารจัดการ การบริหารความเสี่ยง เรื่อง ESG จะเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว อีกประเด็นคือ นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น เห็นได้จากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา มีผู้สนใจมาลงทุนมากขึ้น ส่งผลดีต่อราคาหุ้นของบริษัทในระยะยาวด้วย เป็นสองปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดัน”

สำหรับนักลงทุนในประเทศไทยนั้น นายสันติ กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับการลงทุน ESG มีการถามถึง ESG มากขึ้น เช่น กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (provident fund) หลายกองทุนจะพูดถึง ESG มากขึ้น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม ที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น

 

ส่วนนักลงทุนรายย่อยนั้น ยังวัดได้ยาก มีความหลากหลาย แต่หากดูผลสำรวจมีผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าประเภท ESG มากขึ้น จึงเชื่อว่านักลงทุนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในกองทุน ESG เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นใจว่า การลงทุนใน ESG มีผลดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และตัวนักลงทุนเองด้วย

 

พร้อมแนะนำว่านักลงทุนรายย่อยที่สนใจจะลงทุนในกลุ่ม ESG ควรจะสอบถามบริษัทจัดการกองทุนรวมถึงกระบวนการลงทุนสำหรับ ESG คืออะไร มีวัตถุประสงค์กองทุนหรือให้ความสำคัญกับอะไร ตรงกับความต้องการของนักลงทุนหรือไม่ ต้องการลงทุนด้วยวัตถุประสงค์อะไร รวมทั้งสอบถามกระบวนการคัดเลือกหลักทรัพย์ กระบวนการบริหาร เป้าหมายของกองทุน เป็นต้น

 

กระบวนการ ESG Investing เป็น journey ที่ไม่สิ้นสุด

 

สำหรับก้าวต่อไปของ ESG Investing นายสันติกล่าวว่า…

Highlights

“การลงทุนใน ESG เป็น journey คือต้องมีการพัฒนากระบวนการ การลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วย ถือว่าเป็นการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด”

การลงทุน ESG ยังเพิ่งเริ่มต้น แม้ว่าจะเริ่มกองทุนมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นระยะเวลาที่นาน ยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก นอกจากการจัดสรรการลงทุนใน ESG แล้ว BBLAM ยังมีการลงนามร่วมกันกับสถาบันการเงินอื่นๆ ในเจตนารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ESG collective action การร่วมมือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมอื่น ในการร่วมมือกันติดตามการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียน เช่น ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตาม ESG ถัดมาก็เป็นการประกาศเจตนารมณ์กับสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น negative list หรือ sustainable Thailand ในแง่ของการลงทุน เรียกว่า การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ให้มีความยั่งยืน

 

“การลงทุนใน ESG ของ บลจ.บัวหลวงได้พัฒนาเป็นขั้นตอน เป็น journey ของบริษัทที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการรับการปฏิบัติตาม หลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน หรือ Investment Governance Code for Institutional Investors (I Code) ซึ่งเป็นหลักเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีธรรมาภิบาลและลงทุนอย่างมีหลักการของ ESG และในอนาคตอันใกล้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะออกร่างประกาศรองรับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund — SRI Fund) ซึ่ง BBLAM จะรับการปฏิบัติด้วย เป็นหนึ่งใน journey ถัดไป และ sustainable & responsible investing ของ BBLAM ไม่จำกัดเฉพาะกองทุนไทยเท่านั้น แต่จะปรับใช้กับกองทุนที่บริษัทจะเข้าไปเป็น feeder fund ด้วย คือจะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ”

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. บลจ.บัวหลวงชี้กระบวนการลงทุน “ESG” เป็น “Journey” ที่ต้องพัฒนาไม่สิ้นสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง: