ออกแบบพอร์ตโฟลิโอด้วยการลงทุน ESG

โดย ธนพงษ์ เอื้อสมิทธ์, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
3 Min Read
15 กันยายน 2564
3.546k views
Inv_ออกแบบพอร์ตโฟลิโอด้วยการลงทุน ESG_Thumbnail
Highlights

การมีสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG อยู่ในพอร์ต ถึงแม้จะไม่ได้การันตีว่าผลตอบแทนในอนาคตจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน และเชื่อว่าพอร์ตลงทุนที่มีสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG ผสมอยู่ จะมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวและช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้

การวางแผนการลงทุนในปัจจุบัน นอกจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันและกำลังแพร่หลายในการลงทุนระยะยาว นั่นคือ ปัจจัยด้านความยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งเป็นการลงทุนที่นำปัจจัยการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของธุรกิจ มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจนั้น เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจุบันปัจจัยด้าน ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญและการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น เม็ดเงินลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ได้ไหลเข้ากองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Funds) อย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2020 ขนาดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมประเภทนี้เติบโตถึง 1,652 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน ขณะที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ (Statens Pensjonsfond) ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด เป็นต้น

 

สำหรับในประเทศไทย ปัจจัยด้าน ESG กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในตลาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และนักลงทุนสถาบันกว่า 30 แห่ง (ทั้งที่เป็นบริษัทประกันและบริษัทจัดการลงทุน) ได้ประกาศความร่วมมือที่จะลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) และนำประเด็นผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนกันมากขึ้น

 

การลงทุน ESG ช่วยพอร์ตลงทุนได้อย่างไร

ในอดีตการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มักเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจมองข้ามและถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่าย เช่น การทำระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดควันพิษของโรงงาน ระบบป้องกันอัคคีภัยที่ทันสมัย การเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุลงไปในวัตถุดิบอาหาร เป็นต้น (ถ้าใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน จะสะท้อนไปยังต้นทุนของธุรกิจและทำให้อัตรากำไรต่อหุ้นลดลง)

 

เมื่อธุรกิจมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดด้วยการลดต้นทุน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมา อาจทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งชุมชน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน อุบัติเหตุไฟไหม้ สารเคมีระเบิดที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากระบบป้องอัคคีภัยทรุดโทรมจนไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจนำปัจจัยด้าน ESG เข้ามาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ถึงแม้ในช่วงแรกจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น แต่ในระยะยาวจะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน เพราะได้คำนึงถึงผลกระทบและลดความเสี่ยงในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดการเกิดข้อพิพาทและช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจ

 

ดังนั้น การประเมินมูลค่าธุรกิจหรือมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน นักลงทุนทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG เป็นอย่างมาก เพราะผลการดำเนินงานด้าน ESG มีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจ ทั้งในมิติของความเสี่ยง ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

 

สินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG ที่มีให้เลือกลงทุนในปัจจุบัน

สินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG มี 3 ประเภท ได้แก่

1. หุ้นยั่งยืน คือ หุ้นของธุรกิจที่มีการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล

 

2. กองทุนรวมยั่งยืน เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในบริษัทที่เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

 

3. ตราสารหนี้ยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เรียกรวม ๆ ว่า GSS Bond นอกจากนี้ ยังมีตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) ที่มีการคำนวณดอกเบี้ย โดยคำนึงถึงการประกอบธุรกิจให้ตรงตามเงื่อนไขด้าน ESG เพื่อจูงใจให้ผู้ออกหุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยต่ำลงเมื่อปฏิบัติได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ตัวอย่าง การสร้างพอร์ตลงทุนที่มีสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG

พอร์ตลงทุนที่เพิ่มสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG จะใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม มีคำถามตามมาว่า สินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG หากมีอยู่ในพอร์ตลงทุน จะช่วยให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ลงทุนทั่วไปหรือไม่ คำถามนี้ก็ยังต้องหาคำตอบกันต่อไป แต่สินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความยั่งยืน มีความผันผวนต่ำ ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมในระยะยาวของพอร์ตลงทุนลดลง เหมาะกับการลงทุนระยะยาว

Inv_ออกแบบพอร์ตโฟลิโอด้วยการลงทุน ESG_01

สำหรับคำแนะนำในการจัดพอร์ตลงทุน โดยจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนผสมระหว่างสินทรัพย์ลงทุนทั่วไปกับสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG ซึ่งความแตกต่างระหว่างสินทรัพย์ลงทุนทั่วไปกับสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG คือ ในระยะสั้นนักลงทุนจะคาดหวังการเติบโตจากสินทรัพย์ลงทุนทั่วไปสูงกว่าสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการลงทุนในระยะยาวแล้ว พอร์ตลงทุนที่มีสินทรัพย์ลงทุนด้าน ESG ผสมอยู่ จะมีแนวโน้มด้านผลตอบแทนที่ดี

 

การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้ อีกทั้ง การลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์กระแสหลักที่กำลังเติบโตมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนไทยควรเริ่มศึกษาการลงทุนอย่างยั่งยืน และมีหุ้นยั่งยืนไว้ในพอร์ตลงทุน

 

สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ สร้างโอกาสการลงทุนด้วยหุ้นยั่งยืนหรือหุ้น ESG สามารถรับชมห้องเรียนนักลงทุน Live ! หลักสูตร “รอบรู้ลงทุนหุ้น ESG ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือดูรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ปีล่าสุด >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: