DR ตัวช่วยลงทุนหุ้นต่างประเทศ

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
13 กันยายน 2564
7.729k views
Inv_DR ตัวช่วยลงทุนหุ้นต่างประเทศ_Thumbnail
Highlights
  • DR เป็นเครื่องมือที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ในการลงทุนหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศ โดยนักลงทุนไทยสามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นในการซื้อขาย DR ในรูปของสกุลเงินบาทได้ทันที

  • DR เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศ สามารถลงทุนระยะสั้น เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนจากสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือสร้างพอร์ตเพื่อลงทุนระยะยาวได้อีกด้วย

Depositary Receipt (DR) เป็นตราสารทางการเงินอีกประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติจำนวนมากอยากจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นดังกล่าว ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้มีโอกาสที่จะระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกได้มาก ถึงขั้นมีคำศัพท์เฉพาะ เพื่อเรียกตราสาร DR ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากันอย่างคุ้นหูว่า American Depositary Receipt (ADR) แต่ความจริงแล้ว DR ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

 

1. Sponsored DR หมายถึง DR ที่มีธนาคารเป็นผู้ออกตราสาร ในฐานะตัวแทนของบริษัทต่างชาติที่ต้องการจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนการเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศ ทำให้มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น (Secondary Listing)

 

ดังนั้น ผู้ถือ Sponsored DR จึงเหมือนถือหุ้นต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงโดยตรง โดย DR ลักษณะนี้มักจะซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ตามปกติ เช่น Sponsored DR ของ Alibaba Group Holding Ltd. (BABA), Baidu, Inc. (BIDU), Nio Inc. (NIO), Sony Group Corporation (SONY) และ Sea Ltd. (SE) เป็นต้น

 

2. Unsponsored DR หมายถึง DR ที่อาจมีธนาคารหรือตัวกลาง (Dealer) เป็นผู้ออกตราสาร แต่จะไม่มีการร่วมมือกันระหว่างตัวกลางกับบริษัทต่างชาติเหมือนกับ Sponsored DR ดังนั้น ผู้ถือ Unsponsored DR จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักทรัพย์อ้างอิง เช่น สิทธิ์ในการออกเสียงหรือรับเงินปันผล อย่างไรก็ดี DR ลักษณะนี้จะซื้อขายได้เฉพาะในตลาดรองเท่านั้น (over-the-counter : OTC) เช่น Unsponsored DR ของ Tencent Holdings Ltd. (TCEHY), Meituan (MPNGY) หรือแม้กระทั่งหุ้นไทยบางตัว ก็มีตัวกลางที่นำไปจดทะเบียนในลักษณะนี้ เช่น PTT Public Company Ltd. (PUTRY), CP All Public Company Ltd. (CPPCY), Siam Cement Public Company Ltd. (SCVPY) เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม นิยามของ Unsponsored DR ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน เช่น ในกรณีของประเทศไทย DR ที่จดทะเบียนอยู่เข้าข่ายรูปแบบ Unsponsored DR เพราะไม่ได้มีการเพิ่มทุนเหมือนการทำ Secondary Listing แบบกรณี Sponsored DR แต่ก็สามารถซื้อขายในตลาดหุ้นได้เหมือนหุ้นไทยทั่วไป

 

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมี E1VFVN3001 เป็นตราสาร DR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกโดย บล.บัวหลวง มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ E1VFVN30 ซึ่งเป็น ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของประเทศเวียดนาม โดยรูปแบบจะคล้ายคลึงกับ Unsponsored DR คือ ไม่ได้มีหุ้นออกใหม่ ซึ่ง E1VFVN3001 ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในหุ้นเวียดนาม เนื่องจากสามารถซื้อขายได้แบบ Real-time ผ่านแอปพลิเคชัน Settrade Streaming ได้เหมือนหุ้นไทย

 

อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ DR E1VFVN3001 สามารถซื้อขายในช่วงพักกลางวันได้ หรือซื้อขายได้ตลอดวันทำการตั้งแต่เวลา 10:00 น. ถึง 16:30 น. ทำให้การลงทุนใน DR สามารถทำได้ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วงเวลา 10:00 น. – 11.30 น. และ 13:00 น. – 14:30 น. เป็นช่วงที่สภาพคล่องของ DR มักจะดีกว่าช่วงเวลาอื่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเวียดนามเปิดทำการพร้อมกัน

 

ตราสาร DR จะมีราคามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) คล้ายกับกองทุนรวม โดยสำหรับกรณีของ DR E1VFVN3001 จะใช้ราคามูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยประมาณระหว่างวัน (iNAV) คือ ราคาโดยประมาณที่สะท้อนมูลค่าของตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งคำนวณมาจากมูลค่าล่าสุดของหลักทรัพย์อ้างอิงหรือดัชนีหลักทรัพย์อ้างอิง

 

โดยสำหรับกรณี DR E1VFVN3001 iNAV จะคำนวณจากดัชนี VN30 ล่าสุด ที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติราคาเสนอซื้อ ราคาเสนอขาย (Bid-Offer) ของ DR ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่จำเป็นต้องเท่ากับราคา iNAV เสมอไป เนื่องจากมีเหตุผลหลัก 2 ประการ ดังนี้

 

1. ราคา iNAV ของ DR ถือว่าเป็นค่ากลางที่อยู่ระหว่างราคาซื้อและราคาขายหุ้นอ้างอิงของผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) เพื่อรองรับการออก DR จึงทำให้เกิดส่วนต่างของราคา (Bid-Ask Spread)

 

2. อัตราแลกเปลี่ยน อาจส่งผลให้ราคา DR เคลื่อนไหวไม่ตรงกับราคา iNAV เช่น สมมติว่าราคา E1VFVN30 ETF ในเวียดนาม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ค่าเงินเวียดนาม คือ เงินดองแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ส่งผลให้ราคา DR สูงขึ้นและนักลงทุนได้กำไรมากขึ้น

 

กล่าวโดยสรุป DR ถือว่า เป็นเครื่องมือในการลงทุนต่างประเทศที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในต่างประเทศ เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ แต่ไม่ว่าจะลงทุนในตราสารใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดี โดยเฉพาะหนังสือชี้ชวน ที่ให้รายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น นอกจากนี้ควรประเมินทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง ตลอดจนเงื่อนไข ต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

 

นักลงทุนที่สนใจ ลงทุนใน DR E1VFVN3001 สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

และสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุนใน DR เพื่อกระจายการลงทุน และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: