การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงกลางปี 2564 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้พบว่า นักลงทุนหลายรายได้ทำการประเมินมูลค่าหุ้นที่ตัวเองสนใจ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจนับเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นเข้ามาเก็บไว้ในพอร์ตลงทุน โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจเบื้องต้นที่นักลงทุนนิยมใช้ในการวิเคราะห์มี 5 ประการ ดังนี้
1. การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เป็นดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ที่บอกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ในแต่ละปีว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าใด โดยนับตั้งแต่การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ช่วงกลางปี 2564 สำนักวิจัยต่าง ๆ ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลง
โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีน้ำหนักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนประมาณ 50% ของการเติบโตทั้งหมด โดยล่าสุดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 บวกกับภาคการส่งออกยังขยายตัวไม่เต็มที่ และจำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับต่ำ คำถาม คือ เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเป็นอย่างไร
2. อัตราเงินเฟ้อ
ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกแรก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น คำถาม คือ อัตราเงินเฟ้อของไทยจะไปในทิศทางไหน และปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ
3. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการฉีดวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง ส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
สำหรับประเทศไทย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงยืดเยื้อ ทำให้นโยบายการเงินยังคงเข้มงวด ด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คำถามที่ตามมา คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไปในทิศทางใด
4. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เป็นผลตอบแทนที่คาดหวัง โดยนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง (อยู่ในระดับต่ำ) แสดงว่านักลงทุนกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น จึงเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ตรงกันข้าม ถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น แสดงว่านักลงทุนกังวลกับสถานการณ์ จึงเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน
โดยในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นักลงทุนมีความต้องการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ราคาพันธบัตรรัฐบาลจึงปรับขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับลดลง คำถามคือ จากนี้ไปอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะไปในทิศทางใด
5. ค่าเงินบาท
ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ค่าเงินบาทอยู่ในระดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เงินลงทุนไหลออก การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่หลังจากนี้ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ
ดังนั้น การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนหรือการปรับพอร์ตลงทุน เช่น หากประเมินว่า จะมีการปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง บ่งชี้ถึงโมเมนตัมทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกกลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง อาจเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมหุ้นกลุ่มส่งออก ขณะที่หุ้นกลุ่มเปิดประเทศหรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวอาจได้รับแรงกดดันในระยะสั้น แต่หากมีสัญญาณว่าจะเปิดประเทศได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็สามารถทยอยสะสมเพื่อคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว
นอกจากนี้ หากประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสปรับลดลงหรือเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับต่ำ ต้องพิจารณาการลงทุนในพันบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อรับผลตอบแทนที่มั่นคง เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ และผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน คือ ผู้ที่เข้าใจสถานการณ์ ติดตามข้อมูลข่าวสาร นำข้อมูลมาประเมิน และวางกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์นั้น ก็จะสามารถคว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนในช่วงวิกฤติได้
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน