ลงทุนฝ่าวิกฤติ...Search for Yield กับหุ้นปันผล

โดย อธิป กีรติพิชญ์ Facebook Fanpage : นิ้วโป้ง Fundamental VI
3 Min Read
27 สิงหาคม 2564
3.466k views
Inv_ลงทุนฝ่าวิกฤติSearchforYieldกับหุ้นปันผล_Thumbnail
Highlights
  • แรงกดดันจากโรคระบาด อัตราการฉีดวัคซีน และการปิดเมือง รวมถึงการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ ส่งผลให้ราคาหุ้นใหญ่หลายตัวซื้อขายที่ P/E ระดับต่ำมาก

  • นอกจากราคาหุ้นใหญ่กำลังเทรดที่ P/E เฉลี่ยต่ำกว่าอดีตแล้ว อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นใหญ่หลายตัว ก็สูงขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสที่จะลงทุนในหุ้นที่ให้ปันผลสูงและสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับเราได้อย่างสม่ำเสมอ

ช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน เนื่องจากผลกระทบของโควิดที่ยังคงระบาดอย่างหนัก การปิดประเทศและการล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งปัญหาหนักอกของการล็อคดาวน์เพื่อสู้กับโควิดในรอบนี้ คือ

 

หนึ่ง...เป็นการลงทุนล็อคดาวน์ โดยที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตไม่ลดลงเลย แม้จะผ่านมากว่า 2 เดือนแล้ว

สอง...พื้นที่ล็อคดาวน์ครอบคลุมจังหวัดเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศไทยเกือบทั้งหมด

สาม...การระบาดและการล็อคดาวน์ที่ลากยาวเป็นการดับความหวังของประกาศที่จะเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นความหวังที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงานของภาคท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้

 

เดิมทีเรามองบวกต่อการ Reopening ของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนในครึ่งปีหลังกันอย่างเต็มที่ แต่ในวันนี้แม้ภาพนั้นอาจจะเลื่อนออกไป ... แต่ภาพยังไม่ได้เปลี่ยนไป ธีม Reopening (หรือบางคนเรียกว่า Recovery) จะยังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง สิ่งนี้ถูกพิสูจน์แล้ว ผ่านนานาประเทศที่จัดการโรคระบาดและบริหารวัคซีนได้ดี โดยตลาดหุ้นของประเทศเหล่านั้นจะฟื้นล่วงหน้า จากนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นตามมา และผู้คนก็เริ่มใช้ชีวิตตามปกติกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ยุโรป หรือ แม้แต่ประเทศอินเดียที่เคยมีการระบาดที่รุนแรงที่สุดในโลกเมื่อ 2 เดือนก่อน ก็มีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น (จากติดเชื้อวันละ 4 แสนราย ลดลงเหลือ 2.5 หมื่นราย โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มแล้วที่ 31.4% ข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค. 64) ตลาดหุ้นอินเดียก็ยังฟื้นตัวเดินหน้าได้ ... และผมเชื่อเหลือเกินว่า ไทยก็จะไปสู่จุดนั้นเช่นกัน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

 

หุ้นใหญ่ (หรือที่เรียกว่าหุ้น Big Cap) ในขณะนี้ ราคาหุ้นก็ตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนาน โดยนอกจากแรงกดดันจากโรคระบาด อัตราการฉีดวัคซีน และการปิดเมืองแล้ว เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ “การขายสุทธิ” ของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่ขายสุทธิปีนี้ไปแล้ว 1.05 แสนล้าน และ 3.55 หมื่นล้าน ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค. 64) ซึ่งนักลงทุนหลัก 2 ประเภทนี้คือ นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นใหญ่เป็นหลัก ทำให้ราคาหุ้นใหญ่หลายตัวซื้อขายที่ P/E ระดับต่ำมาก และราคาของหุ้นใหญ่หลายตัวในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ SET Index ระดับ 1,540 จุด กลับมีราคาหุ้นที่แทบไม่แตกต่างกับช่วงที่ตลาด Panic ที่สุดในเดือนมีนาคม 2563 ที่ SET Index อยู่ที่ระดับเพียง 1,000 จุด นอกจากราคาหุ้นใหญ่กำลังเทรดที่ P/E เฉลี่ยต่ำกว่าอดีตแล้ว อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ของหุ้นใหญ่หลายตัว กลับสูงขึ้น (เพราะราคาหุ้นลดลง) ตอนนี้หุ้นที่มี Dividend Yield สูงกว่า 4% จึงมีจำนวนไม่น้อย

 

ผมมีความเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ตลาดไม่มีทิศทางชัดเจนแบบนี้ การเล่นหุ้นตัวเล็ก (Small Cap) ที่มีลักษณะของการเก็งกำไรที่ร้อนแรง หวังซื้อถูกขายแพงในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อหวังจะทำกำไรเร็ว ๆ จะยากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าในช่วงสั้น อาจจะได้กำไรบ้าง แต่หุ้นร้อนแรงหลายตัวที่หมุนเวียนกันเหล่านั้น อาจจะกระชากขึ้นรุนแรงเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ จากนั้นราคาก็จะตกลงมาอย่างรุนแรง และมักจะต่ำกว่าราคาต้นทุนที่รายย่อยส่วนใหญ่เข้าไปรุมซื้อ การเล่นหุ้นเล็กร้อนแรงแบบเก็งกำไร จัดเป็นเกมที่รายย่อยเสียเปรียบมาก และมักจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นอึมครึมแบบนี้

 

ในภาวะที่หลายอย่างไม่สดใส อย่างช่วงเวลาเช่นนี้ การคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนจากตลาดหุ้นสูง ๆ ในระดับมากกว่า 10-15% ต่อปี ดูจะเป็นไปได้ยาก ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือแม้แต่การฝากประจำ ผลตอบแทนก็ตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะการฝากเงิน ที่ล่าสุดสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้ปรับวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 สถาบันการเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ก็ยิ่งเป็นแรงกดดันที่ทำให้นักลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน เริ่มมองหาการลงทุนที่ยังคงให้ผลตอบแทนสูงกว่า และมีความเสี่ยงที่พอรับได้ (Search for Yield)

 

ทำให้นึกถึงช่วงปี 2540 ที่ประเทศไทยเราเคยผ่านวิกฤติแบบนี้ โดยในช่วงนั้น ราคาหุ้นตกต่ำ ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน อีกทั้งมองภาพอนาคตไปข้างหน้าก็ไม่ชัดเจน ในช่วงเวลาแบบนั้น หนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนฝ่าวิกฤติ คือ การลงทุนใน “หุ้นปันผล” ซึ่งเป็นหุ้นแข็งแกร่งที่ยังมีอยู่จริงในตลาดหุ้นไทย คาดหวังอัตราผลตอบแทนปีละประมาณ 4% ขึ้นไป เช่น หุ้น Big Cap กลุ่มกองรีท (REIT ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทัพย์) และกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมามาก แต่พื้นฐานของกิจการและการจ่ายปันผลไม่ได้ถูกกระทบเท่าใดนัก ในช่วงตลาดแบบนี้แหละ ที่พอจะมีให้ลงทุนและมีจำนวนมากพอที่จะซื้อกระจายได้หลายตัว เพื่อบริหารความเสี่ยงได้ นอกจากคาดหวังเงินปันผลระดับ 4% ขึ้นไปแล้ว เรายังมีโอกาสได้รับ Capital Gain จากการที่ราคาหุ้นเหล่านั้น ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดได้อีกด้วย

 

“หุ้นปันผลสูง” เป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนชื่นชอบ โดยเฉพาะใครที่อยากถือหุ้นลงทุนยาว ๆ ต้องการสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดกลับมาอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งช่วงตลาดผันผวน ราคาหุ้นก็ผันผวนทำกำไรได้ยาก แนวโน้มตลาดก็ยังไม่ชัดเจน หุ้นกลุ่มนี้จะยิ่งดูน่าสนใจ แต่ตลาดหุ้นไทยก็มีหุ้นอยู่มากกว่า 700 ตัว เราไม่สามารถพิจารณาเลือกหุ้นปันผลเข้าพอร์ตโดยดูจากค่า Dividend Yield ว่าต้องมีค่าสูง ๆ เพียงอย่างเดียว มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเจอกับหุ้นที่ล่อหลอก ออกเงินปันผลครั้งเดียว แล้วเหี่ยวเฉาตายก็เป็นได้

 

วิธีการที่ง่ายและเร็ววิธีการหนึ่ง ก็คือ เลือกจากรายชื่อในดัชนี SETHD ซึ่งเป็นดัชนีที่รวบรวมหุ้นที่จ่ายปันผลสูง 30 หุ้น โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขนาดกิจการมีขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องดี จ่ายปันผลจากกำไรในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น เราสามารถใช้ประโยชน์จากดัชนี SETHD โดยใช้รายชื่อหุ้นในดัชนีมาประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นปันผลสูง

 

นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกลงทุนในกอง REIT ที่มีรายได้หลักจากอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า และนำกำไรจากการให้เช่าเหล่านั้น มาจ่ายเป็นเงินปันผล ซึ่งนักลงทุนก็จะต้องพิจารณาถึงประเภทของสินทรัพย์ที่กอง REIT ลงทุน หรือที่นักลงทุนมักจะเรียกว่า “ไส้ในของ REIT” ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทอะไร เช่น ศูนย์การค้า (Retail), อาคารสำนักงาน (Office), โรงแรม (Hospitality), ศูนย์แสดงสินค้า (Exhibition Center), สนามบิน (Airport) และ อุตสาหกรรม/คลังสินค้า (Industrial) เป็นต้น เพราะอสังหาริมทรัพย์แต่ละชนิด มีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจไม่เท่ากัน

 

อีกทั้ง เรายังสามารถเลือกลงทุนในกอง Infrastructure Fund ที่มีรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีความแน่นอน และจ่ายปันผลให้ผู้ถือกองทุนได้สูงเช่นเดียวกัน ซึ่งนักลงทุนก็จะต้องพิจารณาถึงประเภทของสินทรัพย์ที่เป็น “ไส้ในของกอง Infrastructure Fund” ว่าที่มาของรายได้มาจากอะไร เช่น ค่าเช่าเสาโทรคมนาคม ค่าเช่าโครงข่ายใยแก้วนำแสงไฟเบอร์ออปติก ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางด่วน ส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น

 

ปัจจัยที่ใช้ในการคัดกรองหุ้นปันผล ที่ลงทุนได้ปลอดภัยและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีในวันนี้และวันหน้า มีหลายประการ เช่น

  1. กิจการมีพื้นฐานธุรกิจดี ยิ่งเติบโตได้สม่ำเสมอยิ่งดี
  2. กิจการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม หรืออย่างน้อยต้องมีความสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมของตนเอง
  3. มีโครงสร้างทางการเงินแข็งแกร่ง ฐานะการเงินมั่นคง อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่สูงเกินค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
  4. มีความ Defensive แข็งแกร่ง ไม่ค่อยผันผวนตามเศรษฐกิจ ไม่เป็นวัฏจักรดี ๆ ร้าย ๆ กำไรของบริษัทค่อนข้างสม่ำเสมอ ความผันผวนไม่สูง มิฉะนั้นจะจ่ายปันผลไม่ได้ทุกรอบ
  5. มีประวัติจ่ายเงินปันผลยอดเยี่ยม โดยเงินปันผลมาจากกำไรในการดำเนินธุรกิจ ไม่ได้มาจากกำไรพิเศษ

 

สุดท้าย หากนักลงทุนสนใจลงทุนในหุ้นปันผล นอกจากการประเมินกิจการโดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ ในการคัดกรองหุ้นปันผลแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญในยุคนี้ คือ “ความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง” หุ้นที่เราเลือกต้องไม่ถูกวิถีชีวิตแบบ New Normal มาทำลายไป เช่น ความกังวลว่าหลังโควิด ความต้องการพื้นที่ออฟฟิศสำนักงานจะไม่สูงเหมือนเดิมอีกต่อไป และหุ้นที่เราเลือกจะต้องไม่ถูก Disruption (ทำลายล้าง) โดยเทคโนโลยีใหม่หรือการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ และต้องสามารถทำธุรกิจอยู่ได้อย่างแน่นอน อย่างน้อย 10-15 ปีข้างหน้าหรือตลอดไป เพื่อให้กิจการยังคงดำเนินงานและสร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นต้นธารของเงินปันผลนั่นเอง

 

สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ ค้นหาหุ้นดี น่าลงทุนด้วย Stock Screening ตลอดจนเทคนิคการคัดกรองหุ้นด้วยการใช้งานเครื่องมือ Settrade Stock Screening เพื่อให้ได้หุ้นดี โดนใจ โดยไม่ต้องใช้เวลาค้นหานาน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Screening” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง: