ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าเริ่มลดลง ประกอบกับการฉีดวัคซีนได้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธนาคารกลางบางประเทศเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและมั่นใจมากขึ้นว่าตลาดหุ้นจะกลับมาสดใสและคึกคักอีกครั้ง
แต่เมื่อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ผลที่ตามมาคือ ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว จนมีนักลงทุนเริ่มกลับมากังวลอีกครั้งและมองว่าตลาดจะปรับลดลงเป็นระยะเวลานานหรือเรียกว่า ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ซึ่งคำนิยามที่นิยมใช้กันเมื่อตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี คือ ดัชนีหุ้นปรับลดลงจากจุดสูงสุดทะลุ 20% แต่หากดัชนีปรับลดลงไม่ถึง 20% ยังไม่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะตลาดหมี เป็นเพียงแค่การปรับฐานหรือ Correction
การมองโลกในแง่ร้ายของนักลงทุนทำให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอกย้ำทิศทางขาลงของตลาด คำถามคือ อะไรเป็นปัจจัยให้ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี โดยราคาหุ้นที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น นักลงทุนตื่นตระหนกกับสถานการณ์เศรษฐกิจ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน กำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลง การประเมินมูลค่าหุ้นสูงเกินไป หรือการวิตกกังวลตามนักลงทุนส่วนใหญ่ เป็นต้น
เนื่องจากไม่สามารถประเมินว่าตลาดหมีจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงทำให้นักลงทุนหวาดกลัว เพราะเมื่อเกิดภาวะตลาดหมีและยังลงทุนอยู่อาจต้องเผชิญกับความสูญเสียเงินลงทุน รวมถึงสภาวะจิตใจต้องเข้มแข็งอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวว่า การลงทุนในตลาดหมีอาจเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้ว ตลาดหมีจะส่งผลกระทบให้มูลค่าของพอร์ตลงทุนปรับลดลง เนื่องจากราคาหุ้นปรับลดลง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางคนโดยเฉพาะนักลงทุนเน้นคุณค่ากลับชื่นชอบและใช้ประโยชน์จากภาวะตลาดหมีผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งนอกจากจะไม่ขายหุ้นออกไปแล้ว ยังซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงที่ราคาหุ้นปรับลดลงอีกด้วย
ดังนั้น หากตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะตลาดหมี มักสร้างโอกาสที่ดีในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับนักลงทุนที่ตั้งใจลงทุนระยะยาว เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับลดลงจะทำให้ต้นทุนในการลงทุนลดลง และเมื่อตลาดฟื้นตัวจะทำให้มูลค่าของพอร์ตลงทุนเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งวิธีการที่นักลงทุนนิยมใช้ลงทุนเรียกว่า Dollar Cost Averaging หรือ DCA ซึ่งเป็นการลงทุนโดยถัวเฉลี่ยต้นทุนด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน อย่างต่อเนื่อง
การลงทุนแบบ DCA จะช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้ เนื่องจากได้ถัวเฉลี่ยต้นทุนในการลงทุนแล้ว ตัวอย่างเช่น หากลงทุนในช่วงที่ตลาดเกิดการปรับตัวรุนแรง เช่น ช่วงปี 2563 ที่มีสถานการณ์ COVID-19 ถ้าหากลงทุนแบบครั้งเดียว (Lump-sum) ช่วงต้นปีในตลาดหุ้น S&P 500 ก็จะมีเดือนที่ขาดทุนสูงสุดถึง -20% และเมื่อสิ้นปีจะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 16.26%
แต่หากลงทุนแบบ DCA ก็จะทำให้เดือนที่ขาดทุนมากที่สุดลดลงเหลือเพียง -17.46% และเมื่อตลาดฟื้นตัวกลับมา ก็ยังได้ผลตอบแทนสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 19.26% มากกว่าการลงทุนแบบครั้งเดียวอีกด้วย ดังนั้น การลงทุนแบบ DCA จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการให้เงินลงทุนผันผวนมาก แต่ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ หรือนักลงทุนที่ยังไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร สภาวะตลาดต่าง ๆ เพื่อที่จะจับจังหวะในการเข้าลงทุน
นอกจากนี้ การลงทุนแบบ DCA ยังมีประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการภาวะกลัวและโลภของนักลงทุน เพราะด้วยความที่ตลาดเคลื่อนไหวผันผวน ด้วยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลก นโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ หรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้ในช่วงที่มีข่าวดีนั้น ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างมาก เช่น ปรับตัวสูงขึ้น 10% ภายในเดือนเดียวอาจส่งผลให้นักลงทุนเกิดภาวะ “โลภ” ในเงินจำนวนมาก เพราะคาดว่าในอนาคตก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ 8 - 10% เหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่ความเป็นจริงแล้วตลาดอาจปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้เกิดการขาดทุนอย่างหนักได้
ในทางกลับกัน หากตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง เช่น ปรับตัวลดลง 15% นักลงทุนก็จะเกิดภาวะ “กลัว” ส่งผลให้ไม่กล้าเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลง ทำให้ไม่ได้กำไรจากการฟื้นตัวของตลาด ซึ่งการใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA จะขจัดอารมณ์เหล่านั้นออกไป ทำให้การตัดสินใจของนักลงทุนจะอยู่ที่ว่า จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดหรือตลาดหุ้นประเทศไหนมากกว่าการที่จะต้องมากังวลกับการจับจังหวะตลาด
ซึ่งการตัดสินใจเข้าหรือออกจากตลาดหุ้นในภาวะตลาดหมี นักลงทุนควรตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของคำว่า ปัจจัยพื้นฐาน หรือ Fundamental เป็นสำคัญ อย่าปล่อยให้อารมณ์และความกลัวเข้าครอบงำความคิด ซึ่งนักลงทุนอาจซื้อหุ้นบางกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มที่ดี แทนที่จะเอาแต่คิดหาวิธีเอาตัวรอดจากภาวะตลาดหมี ใครจะรู้ว่าการตัดสินใจดังกล่าว อาจเป็น “จุดพักรบ” หรือ “จุดเริ่มต้น” ทำกำไรก็ได้ เพียงแต่ต้องหาให้เจอ
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้ธรรมชาติและประโยชน์ของตลาดหุ้น ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นลง เพื่อให้สามารถคาดการณ์สภาวะตลาดและตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Market & Factors” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่