Blackrock กองทุนใหญ่ที่สุดในโลก ขับเคลื่อนการลงทุน ESG อย่างไร
ในโลกแห่งการลงทุน ไม่น่าจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Blackrock ที่ใช้เวลาเพียง 30 ปีเศษจากศูนย์ จนกลายเป็นผู้จัดการเงินของคนอื่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกและน่าเชื่อถือที่สุดในโลก [1] จนน่าจะเรียกได้ว่า Blackrock เป็นเจ้าของโลกใบนี้ และยังเป็นผู้นำในการลงทุน ESG อีกด้วย
สินทรัพย์รวมภายใต้การบริหาร(Assets Under Managemen:AUM)ของ Blackrock มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีศูนย์ 12 ตัว ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2021 และสินทรัพย์ภายใต้การบริหารที่มุ่งเน้น ESG เพิ่มขึ้น 2 เท่าทะลุระดับ 5 แสนล้านดอลลาร์[2]
การลงทุนยั่งยืนมีส่วนถึง 20% ของการเติบโตแบบ organic growth(การเติบโตที่เกิดจากทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันของบริษัท) ในแต่ละปี และนักวิเคราะห์คาดว่าสินทรัพย์ ESG ของบริษัทจะแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในทศวรรษนี้ จาก 100 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2018
แลร์รี ฟิงก์ ประธานและซีอีโอ ของ Blackrock กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนยั่งยืนยังมีต่อเนื่องในปี 2021 โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิทำสถิติสูงถึง 104 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพราะลูกค้าต้องการกลยุทธ์ที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น
“หนึ่งในโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้ คือการช่วยให้ลูกค้าของเรานำการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจเป็นที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ทั่วโลก”
ฟิงก์ ให้ข้อมูลอีกว่า เงินทุนมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ได้โยกออกจากการลงทุนแบบเดิมไปเป็นกองทุนที่ยั่งยืนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่นับว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน และจำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี
ด้วยขนาดที่ใหญ่ การลงทุนของ Blackrock นั้นมีอิทธิพลและกำหนดทิศทางของการลงทุนทั่วโลก เมื่อไรก็ตามที่ ฟิงก์ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Blackrock ให้ความเห็น บริษัทต่างๆต้องฟัง Blackrock ชี้การลงทุนไปทิศไหน โลกลงทุนก็ตาม ฟิงก์ บอกว่า การลงทุนต้องยึดหลัก ESG การลงทุนแทบทั้งโลกก็หันมาลงทุนด้วยหลักการ ESG และบริษัทเองก็ต้องนำหลัก ESG ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ
จดหมายประจำปีถึงซีอีโอจากแลร์รี ฟิงก์
การขับเคลื่อน ESG ของ Blackrock น่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่คำว่า ESG ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย นับตั้งแต่ ปี 2012 เมื่อ แลร์รี ฟิงก์เริ่มส่งจดหมายไปถึงผู้บริหารระดับสูงสุด หรือซีอีโอของบริษัทที่ Blackrock ได้เข้าไปลงทุนในนามลูกค้า[4]
GlobeScan [4] ได้วิเคราะห์วิวัฒนาการของแนวคิด (Theme)หลักในจดหมายของแลร์รี ฟิงก์ ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2020 ซึ่งพบว่า
จดหมายเหล่านี้สะท้อนความคาดหวัง ต่อบทบาทของอุตสาหกรรมการเงินและธุรกิจที่มีกับสังคมในวงกว้าง
จากจดหมายฉบับแรกที่เน้นหนักไปที่ความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่เข้มแข็ง และต่อยอดในจดหมายของปีต่อๆ มา โดยเน้นถึงความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholder)ภายนอกและมุมมองระยะยาว ในจดหมายปี 2018 นั้น ฟิงก์ ได้เรียกร้องอย่างกล้าหาญและเรียกร้องสูงมาก ให้ธุรกิจมีวัตถุประสงค์หลักด้านสังคม สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการทำกำไร รวมทั้งการให้ความสำคัญกับ stakeholder ทั้งหมด
ตั้งแต่นั้นมา เสียงเรียกร้องให้ดำเนินการก็แข็งแกร่งขึ้นและมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการด้านสภาพอากาศโดยเฉพาะ สะท้อนถึงการเติบโตและกระแสหลักความยั่งยืนขององค์กร และบทบาทที่แข็งขันและชัดเจนมากขึ้นของภาคการเงิน
จดหมายฉบับแรกที่ส่งออกในช่วงต้นปี 2012 ไม่ได้พยายามที่จะแนะนำหรือกดดันบริษัทว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพียงแต่เป็นการขอให้มีส่วนร่วมกับนักลงทุนในด้านกลไกการกำกับดูแลกิจการ ( governance) มากขึ้น รวมทั้งยังย้ำถึงความสำคัญของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อ”บรรลุผลการดำเนินงานทางธุรกิจที่ดีในระยะยาว”
การเรียกร้องให้มีกลยุทธ์และผลการดำเนินงานที่ดีในระยะยาว มีการตอกย้ำในจดหมายของปี 2014 และปี 2015
สำหรับปี 2016 จดหมายของ ฟิงก์ได้พูดเป็นครั้งแรกถึงความจำเป็นที่บริษัทต่างๆจะต้องมองโลกภายนอก ออกนอกกรอบองค์กร โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมและได้ย้ำอีกครั้งในปี 2017 โดยชี้ไปที่บริบทกระแสประชานิยมที่ให้ผลกระทบเชิงลบที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2018 จดหมายฉบับที่ 6 ในหัวข้อ A Sense of Purpose ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น [5]โดยมีการกดไลค์กว่า 8,000 ไลค์ใน LinkedIn และมีการรายงานข่าวกันอย่างกว้างขวาง โดยจดหมายได้ย้ำถึงความจำเป็นในระยะยาวและทวนข้อเรียกร้องของจดหมายฉบับก่อนๆ ให้บริษัทต้องมีกลยุทธ์ระยะยาวที่ลงนามโดยคณะกรรมการ โดยเน้นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นของธุรกิจในการตอบสนองผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกและเพื่อมีเป้าหมายที่กว้างขึ้นในสังคม
น้ำเสียง เนื้อหา และภาษาที่ใช้ในจดหมายปี 2018 และ 2019 ที่เปลี่ยนไป รวมถึงปฏิกิริยาที่สำคัญจากทั้งโลกธุรกิจและการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนมากขึ้นสำหรับธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบและมีวัตุประสงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป้าหมายมากกว่าที่เคยเป็นมา
จดหมายถึงซีอีโอปี 2020 [5]ของ ฟิงก์ มีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฟิงก์ เจาะจงไปที่ความเสี่ยงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่จะมีผลต่อกระแสเงินทุน พร้อมตัวอย่าง ที่มีผลเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินทั่วโลก
ภาษาที่ใช้ในจดหมายมีความชัดเจนและสะท้อนถึงภัยคุกคามที่เป็นระบบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศในจดหมายที่จั่วหัวว่า “A Fundamental Reshaping of Finance” นอกจากนี้ ฟิงก์ ยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่าความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามอนาคตที่คลุมเครือ แต่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในไม่ช้า
ในจดหมายฉบับปี 2021 [6] ใจความสำคัญคือต้องมีการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกแผ่นดิน (tectonic shift) เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ รวมไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันของประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ความสำคัญของการมีข้อมูลที่ชัดเจน และการเชื่อมโยงระหว่างความยั่งยืนและผลการดำเนินงานขององค์กรที่บรรจบกันลงตัว
นอกจากนี้ ฟิงก์ ยังระบุในจดหมายแนบถึงลูกค้า BlackRock ว่าบริษัทของเขากำลังทำอะไรเพื่อมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง
ลอเรนซ์ ดี. ฟิงก์ เป็นผู้ก่อตั้ง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BlackRock ฟิงก์และหุ้นส่วน 7 รายก่อตั้ง Blackrock ในปี 1988 และภายใต้การนำของเขา บริษัทได้เติบโตจนเป็นผู้นำระดับโลกในด้านโซลูชั่นการลงทุนและเทคโนโลยี พันธกิจของ BlackRock คือ การช่วยให้นักลงทุนสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีขึ้น และบริษัทได้รับความไว้วางใจให้บริหารเงินได้มากกว่าบริษัทการลงทุนอื่นๆ ในโลก ฟิงก์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งใน “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก World’s Greatest Leaders” จากนิตยสาร Fortune และเว็บไซต์ข่าว Barron’s ได้ยกย่องว่าฟิงก์เป็นหนึ่งใน “ซีอีโอที่ดีที่สุดในโลก World’s Best CEOs” ติดต่อกัน 15 ปี
ก่อนก่อตั้ง Blackrock ในปี 1988 ฟิงก์เป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการของFirst Boston Corporation
ฟิงก์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Tsinghua University School of Economics and Management ในกรุงปักกิ่ง
ฟิงก์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งลอสแองเจลิส (UCLA) ในปี 1976 และปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จาก UCLA ในปี 1974
ปลุก ESG ผ่านนักวางแผนการเงินจนเป็นกระแสหลัก
นับตั้งแต่แลร์รี ฟิงก์ ประกาศไว้เมื่อราวสองปีก่อนว่าการปฏิรูประบบทุนนิยมระดับโลกกำลังเกิดขึ้น และบริษัทของเขาจะช่วยเป็นผู้นำ ด้วยการทำให้การลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เอื้ออำนวยที่ดีได้ง่ายขึ้น ฟิงก์ก็ประสบความความสำเร็จ
ฟิงก์ได้พูดถึง กองทุน ESG ในเดือนตุลาคมปี 2021 ไว้ว่า “เงินทุนของเรายังคงเติบโตและนำตลาด BlackRock เป็นผู้นำในด้านนี้ และเรายังคงเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุน”
BlackRock ขับเคลื่อนส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง [8] ด้วยการนำกองทุน ESG มาใส่ไว้ในการจัดพอร์ตการลงทุน(portfolio model)ที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลซึ่งเสนอให้กับที่ปรึกษาการลงทุน ที่นำไปเสนอลูกค้าทั่วอเมริกาเหนืออีกทอดหนึ่ง ปรากฎว่า ดึงเงินไหลเข้ากองทุนมหาศาล สะท้อนว่านักลงทุนพากันเข้าสู่การลงทุน ESG โดยไม่ต้องเลือกกลยุทธ์การลงทุนใดโดยเฉพาะ และยังรู้ว่าเงินของพวกเขาไหลเข้าไปในรวมในที่เดียวกัน
BlackRock ได้นำเสนอ “พอร์ตโฟลิโอต้นแบบ” ให้กับนักวางแผนทางการเงินและที่ปรึกษาความมั่งคั่ง ซึ่งช่วยให้ที่ปรึกษาไม่ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลรูปแบบการจัดพอร์ตลงทุนให้กับลูกค้า เพียงแค่สอบถามลูกค้าถึงเป้าหมายทางการเงิน และเสนอตัวเลือกที่เตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก BlackRock และไม่ได้เจาะจงเฉพาะกองทุนของ BlackRock เท่านั้น
ที่ปรึกษา ซึ่งในสหรัฐฯมีนักวางแผนทางการเงินที่ผ่านการรับรอง 90,000 ราย ชื่นชอบ Blackrock ที่ได้เตรียมงานเบื้องต้นไว้ให้ ทำให้มีเวลามากขึ้นในการหาลูกค้ารายใหม่ รวมทั้งเสนอบริการเพิ่มเติม และยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมอีกด้วย
BlackRock ทำการตลาดกองทุน ETF ที่ซื้อขายในชื่อย่อว่า ESGU ด้วยการเปิดให้นักลงทุนได้สัมผัสกับบริษัทที่มีแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี แต่ไม่ได้เจาะจงลงไป บริษัทระบุในแถลงการณ์ว่า “เรามีความชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนตามที่กองทุนออกแบบมา”
“BlackRock เชื่อว่าการฟอกสีเขียว green washing เป็นความเสี่ยงต่อนักลงทุน ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราสนับสนุนการริเริ่มด้านกฎระเบียบเพื่อความโปร่งใสของกองทุนที่ยั่งยืน”
ESGU กลายเป็นกองทุนที่ทำลายสถิติและเป็นตัวแทนความสำเร็จของการลงทุน ESG ที่เริ่มมาจากจดหมายสองฉบับที่ออกมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2020 โดย ฟิงก์ และ BlackRock
จดหมายฉบับจากฟิงก์ ได้เตือนซีอีโอของบริษัทระดับโลกว่าพวกเขากำลังเผชิญกับระเบิดเวลาที่อาจเกิดขึ้นเพราะนักลงทุนตื่นตัวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ “ในอนาคตอันใกล้นี้ และเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มากที่สุด จะมีการจัดสรรเงินทุนใหม่อย่างมีนัยสำคัญ”
ในจดหมายฉบับที่สอง BlackRock ให้คำมั่นกับลูกค้าว่าเงินลงทุน ESG จะเป็นแบบอย่างการลงทุน “เราเชื่อว่าความยั่งยืนเป็นมาตรฐานใหม่ของเราในการลงทุน”
การลงทุน ESG ที่นำโดย Blackrock ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าตอบโจทก์ตามที่ประกาศไว้ และกองทุน ETF ที่มีชื่อย่อ ESGU ในการซื้อขายของ Blackrock กลายเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อเริ่มต้นในปี 2020 กองทุน ESGU มีมูลค่าเพียง 1.6 พันล้านดอลลาร์ แต่ใหญ่ขึ้น 10 เท่าในสิ้นปีด้วยมูลค่า 16.4 พันล้านดอลลาร์ และในปีเดียวกัน ครึ่งหนึ่งของพอร์ต BlackRock มีกองทุน ESG ที่เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมาจาก ESGU ถึงครึ่งหนึ่ง
Blackrock ใช้ ESG ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร[9]
โครงสร้างพื้นฐานเป็นหนึ่งในประเด็นแรกๆของปัจจัย ESG ในกระแสปัจจุบันมากมาย ตั้งแต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของประชากร ที่กำลังเปลี่ยนแปลงความต้องการในด้านการขนส่ง ดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม
ความเสี่ยง ESG มีความสำคัญพอๆ กับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สภาพคล่องและความเสี่ยงด้านเครดิต และเส้นทางสู่การบูรณาการ ESG ยังคงเป็นความท้าทาย แต่สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เทเรซา โอฟลินน์ และ แคเทอรีน เชอร์วิน บอกว่า Blackrock ใช้ ESG ประเมินใน 4 ขั้นตอน ด้วยกัน
การพิจารณา ESG ควรเริ่มตั้งแต่การสรรหาและคัดกรองโอกาสในการลงทุน การตระหนักว่าอาจจะมี ‘สัญญานเตือน red flag’ หรือ ‘ประเด็นที่อาจจะมีผลต่อข้อตกลง deal breakers’ และผลต่อสถานะการลงทุน ESG เป็นสิ่งสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยลักษณะทางกายภาพของโครงสร้างพื้นฐาน จึงมักจะมีปัจจัยเฉพาะของสถานที่ที่ต้องพิจารณา เช่น พื้นที่ปนเปื้อน ความเสี่ยงจากน้ำท่วม และความอ่อนไหวต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และผลกระทบต่อสภาพอากาศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความถี่และความรุนแรงของพายุ และ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรูปแบบอื่นๆ
การตรวจสอบเอกสารสำคัญให้ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงเงื่อนไขการอนุญาตในแผน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานทางธรณีเทคนิคและนิเวศวิทยา จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงข้อกังวล ESG ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้น ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าจากโอกาสที่มีหรือไม่ การวิเคราะห์นี้จะนำไปสู่การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะโดยละเอียดในอนาคต
สำหรับ Blackrock การไม่ตอบรับโอกาสในการลงทุน เพราะมีความกังวลด้าน ESG และส่วนใหญ่ถูกตัดออกไปตั้งแต่ยังไม่เริ่มขั้นตอนการสรรหาและคัดกรองเสียด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะที่มีรายละเอียดมากขึ้น
ในกระบวนการที่มีหลายแง่มุมนี้ การ ‘เจาะลึก’ เกี่ยวกับความเสี่ยง ESG และโอกาสที่เห็นจากการประเมินการลงทุนครั้งแรกหรือที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะนั้น มีความสำคัญ และอาจมีข้อมูลมากมายให้ตรวจสอบ การเยี่ยมชมไซต์ก็มีความสำคัญ การเป็นพันธมิตรกับที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และพลังงานจะช่วยในการแยกแยะปัจจัย ESG ที่มีสาระสำคัญมากที่สุด รวมถึงนัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการเงิน การใช้แบบสอบถาม ESG จะให้การตรวจสอบมีหลักยึด โดยถามคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยง ESG ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนใหม่ แนวทางนี้จะช่วยในการชี้ชัดถึงความเสี่ยงที่สำคัญของ ESG ของแต่ละข้อตกลง และสามารถประเมินได้อย่างเต็มที่
การบูรณาการ ESG ไม่ว่าจะใช้แนวทางใดจะต้องมีความโปร่งใส โดยหลักสำคัญคือความเสี่ยง ESG นั้นไม่เพียงแต่วิเคราะห์และแยกแยะได้เท่านั้น แต่ต้องมีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนในเอกสารของคณะกรรมการการลงทุนและเอกสารธุรกรรมอื่นๆ เพราะไม่เพียงทำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบด้านแล้ว ยังช่วยให้มีการหารือและให้ความเห็นมากขึ้นถึงวิธีการจัดการและบรรเทาความเสี่ยง ในการส่งมอบแผนธุรกิจการลงทุน
นอกจากนี้ควรมีกระบวนการในการสร้างความมั่นใจว่าการพิจารณา ESG สามารถเปิดให้มีการแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยในคณะกรรมการการลงทุนหรือเวทีการตัดสินใจอื่น ๆ และข้อเสนอแนะนั้นมาจากวิจารณญานบนฐานข้อมูล เนื่องจากปัจจัย ESG มีความสำคัญต่อการลงทุนมากขึ้น Blackrock พบว่ามีการให้ความเห็นกันมากขึ้นในคณะกรรมการการลงทุน ไม่ใช่ในแง่การจัดการความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้โอกาสจาก ESG ให้เป็นประโยชน์สูงสุดเพื่อขับเคลื่อนคุณค่าให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และสำหรับ Blackrock หากไม่สามารถรับความเสี่ยงใดๆได้ ก็จะไม่ลงทุน
ความรับผิดชอบ ESG ไม่ได้จบลง ณ จุดที่ทำธุรกรรม ที่สำคัญคือ ต้องย้ำถึงการจัดการสินทรัพย์เชิงรุกที่ขับเคลื่อนการยกระดับประสิทธิภาพความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากการวัดผลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างต่อเนื่อง
ความพร้อมของข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกที่เคยเป็นอุปสรรคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สามารถนำมาใช้เพื่อรายงานการจัดการสินทรัพย์อย่างยั่งยืนที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของสินทรัพย์สามารถติดตามตัวชี้วัดสำคัญๆ ได้ดีขึ้น เช่น การใช้พลังงานระดับโครงการ การใช้น้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และด้านต่างๆ เช่น ความเสี่ยงทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรอบการเปิดเผยข้อมูล เช่น GRESB และ UN Principles for Responsible Investment เป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในการวัดและเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับคู่เทียบ(peer) การติดตาม การจัดการ และการรายงานตัวชี้วัดประสิทธิภาพ จะต้องนำมารวมกับแผนปฏิบัติการของการลงทุนแต่ละครั้ง ตัวอย่างเช่น การตกลงไว้ล่วงหน้าถึงแนวทางการติดตามและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการหันมาลงทุนพลังงานหมุนเวียน หรือวิธีการพัฒนาและติดตามโครงการสนับสนุนชุมชนและผลกระทบทางสังคม
การรายงานผลกระทบของภาคโครงสร้างพื้นฐาน ยังช่วยตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นของนักลงทุนในการประเมินและการรายงานประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม
การรายงานข้อมูลประสิทธิภาพ ESG ที่ถูกต้องและจับต้องได้ จะกลายเป็นกระแสหลักในอนาคตอันใกล้นี้ และจะทำให้การเป็นพันธมิตรระหว่างผู้จัดการสินทรัพย์และผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลจากภายนอกต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันมากขึ้น ในการวัดผลและการเปรียบเทียบข้อมูล
อ้างอิง
[1] Investigate Europe 2018. Blackrock – The company that owns the world? https://www.investigate-europe.eu/en/2018/blackrock-the-company-that-owns-the-world/(18 April 2022)
[2] MarketMedia 2022. BlackRock ESG Assets Pass $500bn https://www.marketsmedia.com/blackrock-esg-assets-pass-500bn/(22 April 2022)
[3] The New York Times 2022. Larry Fink Defends Stakeholder Capitalism. https://www.nytimes.com/2022/01/18/business/dealbook/fink-blackrock-woke.html(20 April 2022)
[4] Globescan 2019. From Good Governance to Purpose & Profit: Analysis of Larry Fink’s Annual Letter to CEOs. https://globescan.com/2019/01/31/analysis-larry-finks-annual-letter/(22 April 2022)
[5] Globescan 2020. From Governance to Purpose to the Fundamental Reshaping of Finance: Analysis of Larry Fink’s Annual Letter to CEOs. https://globescan.com/2020/01/22/analysis-larry-finks-annual-letter-ceos-2020/(17 April 2022)
[6] Globescan 2021. Accelerating the Tectonic Shift to Net Zero: Analysis of Larry Fink’s Annual Letter to CEOs. https://globescan.com/2021/02/09/analysis-larry-finks-annual-letter-ceos-2021/ (18 April 2022)
[7] Blackrock. Chairman and Chief Executive Officer. https://www.blackrock.com/corporate/about-us/leadership/larry-fink (22 April 2022)
[8] Mint 2022. How BlackRock made ESG the hottest ticket on Wall Street (22 April 2022)
https://www.livemint.com/companies/news/how-blackrock-made-esg-the-hottest-ticket-on-wall-street-11640995194553.html (22 April 2022)
[9] New Private Markets2020.BlackRock’s four steps to integrate ESG into infrastructure investing. https://www.newprivatemarkets.com/blackrock-how-to-make-esg-the-centrepiece-of-investing/ (20 April 2022)
[10] ThaiPublica. แลร์รี ฟิงก์ ซีอีโอ “กองทุน Blackrock” ปลุก ESG สู่การลงทุนกระแสหลัก