กลยุทธ์การลงทุนแบบยั่งยืน Climate Change Strategy

โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP® รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
10 กันยายน 2564
3.864k views
Inv_กลยุทธ์การลงทุนแบบยั่งยืน Climate Change Strategy_Thumbnail
Highlights

กลยุทธ์การลงทุน Climate Change กำลังมาแรงและเป็นกระแสหลักของการลงทุน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ สามารถเลือกลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน

ในการลงทุนแบบที่เรียกว่า Responsible Investment (RI) นักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุน (ซึ่งบริหารเงินทุนแทนนักลงทุน) ภายใต้ชื่อ Asset Owners อาจเริ่มต้นจากการไปดู Guidelines ที่ทาง PRI (Principles for Responsible Investment) กำหนดขึ้น โดย PRI เป็นเครือข่ายระดับนานาชาติของการลงทุนแบบ RI ซึ่งรวมตั้งแต่การคัดเลือก บริหาร ติดตาม และส่งเสริมให้เปิดเผยข้อมูล โดยพิจารณาจากมิติด้าน ESG เป็นหลัก

 

ข้อมูลจากเนื้อหา On reducing emissions and developing a Climate Chang Strategy” โดย Cary Krosinsky ใน Sustainably Investing: Revolutions in Theory and Practice (2016) ได้สรุปแนวทางการลงทุนที่คำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอธิบายกลยุทธ์การลงทุนแบบยั่งยืนในแนวทางเฉพาะที่เรียกว่า Climate Change Strategy เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการลงทุนแบบ RI และเมื่อรวมกับสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนนำมาปฎิบัติ จึงสรุปเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ได้ ดังนี้

 

ปฏิกิริยาจากนักลงทุน (Asset Owners)

การใส่ใจเรื่องการเกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อน เป็นกระแสที่เริ่มทำให้ผู้คนทุกวงการหันมาให้ความสำคัญ รวมทั้งนักลงทุน (Asset Owners) ซึ่งมีพลังอำนาจ คือ เงินทุน และสามารถเลือกลงทุนกับธุรกิจที่ดูแลลดปัญหาโลกร้อน เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

 

จากข้อมูลในแหล่งต่าง ๆ ล้วนชี้ให้เห็นว่าปัญหาโลกร้อนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย ความห่วงใยนี้ได้ทำให้ PRI ตั้งคำถามว่านักลงทุนควรมีส่วนร่วมมากขึ้นในการบริหาร Investment Portfolio เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ อย่างไร

 

Asset Owners ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันอาจต้องคิดเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้การลงทุนมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน ควรเปลี่ยนหลักยึดจากการที่ต้องสนใจเป็นความไว้วางใจ (Fiduciary Duty) คือ เมื่อลงทุนแล้ว จะมีส่วนช่วยทำให้โลกดีขึ้น จึงเป็นบทบาทหนึ่งที่ควรมีในฐานะได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของทรัพย์สินให้ทำหน้าที่แทนในการดูแลสินทรัพย์นั้น และการทำหน้าที่ถือว่าช่วยบริหารความเสี่ยงจาก Environmental Risks ซึ่งเป็น 1 ใน ESG Risks อีกด้วย

 

นักลงทุนควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (Setting on emission reduction goal) ดังนั้น จึงต้องนำ Investment Portfolio ไปวิเคราะห์ว่ามีหลักทรัพย์ที่มี Climate Change Risk สูงมากน้อยเพียงใด และนำมาบริหารจัดการให้ความเสี่ยงดังกล่าวมีระดับลดลง

 

โดยนักลงทุนอาจมองไปที่ธุรกิจว่า มี Actions ในการช่วยลดโลกร้อนหรือไม่ เช่น การเปลี่ยนแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานในอาคารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การใช้พลังงานทางเลือกในการผลิตหรือขนส่ง การสนับสนุนให้เกิดการทำเกษตรกรรมและใช้ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า

 

นอกจากนี้ธุรกิจที่ดีจะทำการวางแผนเพื่อ Transform ธุรกิจตัวเองจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาดอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งผู้จัดการกองทุนควรได้รับความรู้และข้อมูลในเรื่องนี้ รวมทั้งติดตามว่าบริษัทเป้าหมายใดที่ทำเรื่องนี้ได้ดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ด้าน Climate Change ที่ดีอย่างต่อเนื่อง

 

กลุ่มสินทรัพย์ (Asset Class)

ประเด็นและข้อมูลด้าน Climate Change ของธุรกิจ จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนจะนำมาพิจารณามากขึ้นในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

 

หุ้นสามัญ (Listed Equity)

ผู้จัดการกองทุนจะแสวงหาบริษัทที่ทำเรื่องการลดโลกร้อนได้ดีบนกระบวนการทำธุรกิจของตน (Well positioned for climate change) และเสนอวิธีการรวมทั้งผลงานจริงที่ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง (Low carbon or adaptation solutions) โดยผู้จัดการกองทุนหลายแห่งจะขอสัมภาษณ์หรือให้คะแนนกับบริษัทที่มี Climate Change

 

ตราสารหนี้ (Fixed Income)

ปัจจุบันเริ่มมีตราสารหนี้ประเภท Climate Bonds ออกมามากขึ้นเพื่อแสดงถึงความพยายามระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการที่มี Commitment จะลดปัญหาคาร์บอนให้ต่ำลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานและการขนส่ง เพราะความเสี่ยงด้านภูมิอากาศจะถูกวิเคราะห์เพิ่มเติมใน Credit Risk ด้วย จึงคาดว่าเมื่อมีผู้ออก Climate Bonds มากขึ้นจะกลายเป็นกลุ่ม Asset Class ใหม่ของ Bonds ที่มีความลึกมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในตลาดตราสารหนี้แบบเดิม ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักลงทุนกลุ่มที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

 

การลงทุนแบบไพรเวท อิควิตี้ (Private Equity)

กลุ่มนักลงทุน High Net Worth ที่มาจ้างให้ผู้จัดการกองทุนบริหาร Investment Portfolio ให้ อาจสนใจเลือกลงทุนในธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้นและขอให้ผู้จัดการกองทุนเพิ่มเติมกระบวนการค้นหาหลักทรัพย์ในธุรกิจที่ทำเรื่องนี้ได้ดีเท่านั้น ให้อยู่ใน Portfolio ของตนเอง

 

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

โดยปกติโครงการที่เป็นโครงการสร้างพื้นฐานมักเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น การสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า การสร้างสนามบิน การสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ ในช่วงก่อสร้างหรือเปิดใช้งานแล้ว อาจเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นจำนวนมาก หรือทำให้เกิดฝุ่นละออง มลพิษในอนาคต อาจก่อให้เกิดการเรียกร้องให้การก่อสร้างหรือในช่วงดำเนินงานต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงในช่วงระดมทุนอาจนำเสนอให้เห็น Green Process ซึ่งจะจูงใจให้นักลงทุนสนับสนุนได้มากขึ้น

 

การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ (Property)

การระดมทุนเพื่อก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม จะถูกเรียกร้องให้นำมาตราฐานสากล เช่น LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) หรือ BREEAM (Building Research Establishment Environmental Assessment Method) เพื่อส่งเสริมให้มี Green Building มากขึ้นในอนาคต การระดมทุนของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือที่อยู่อาศัยทั้งระหว่างก่อสร้างและการดูแลหลังการก่อสร้าง จะเป็นเงื่อนไขของนักลงทุนที่ต้องการให้ธุรกิจเหล่านี้ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย

 

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)

สินค้าประเภท Commodities หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและโลหะมีค่า ซึ่งมักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการผลิตโดยใช้ที่ดินรุกล้ำเขตป่าไม้ กระบวนการผลิตได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือไม่ การจัดหาที่ดิน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน การลดการใช้สารเคมีที่อันตราย ซึ่งเป็นคำถามที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาสนับสนุนเงินทุน บางครั้งถูกเรียกว่า Conservation Finance และเป็นกระแสที่มาแรงในอนาคตอันใกล้นี้

 

สำหรับนักลงทุน ที่สนใจการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและต้องการลงทุนในหุ้นยั่งยืน ลองมาทำความรู้จักหุ้นยั่งยืนกันมากขึ้น เพื่อค้นหาโอกาสในการลงทุน ผ่านห้องเรียนนักลงทุน Live ! หลักสูตร “รอบรู้ลงทุนหุ้น ESG ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: