แม้ระบบเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด แต่โลกความเป็นจริงทุกสิ่งก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยเหตุนี้หากนักลงทุนสามารถเตรียมความพร้อมและมีแนวทางก่อนตัดสินใจลงทุน ย่อมมีโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับตนเอง โดยปัจจัยสำคัญที่ควรรู้เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต มีดังนี้
ในขณะนี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผล กระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่สามารถอยู่ในระดับต่ำได้ตลอดไป ดังนั้น หากเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ก็จะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามข้อมูลด้านนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลต่อสินทรัพย์ลงทุนโดยตรง
2. ประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็วจาก COVID-19 จะได้เปรียบ
ปัจจัยที่ทำให้ประเทศฟื้นตัวได้เร็วจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีหลายปัจจัย เช่น การฉีดวัคซีนที่มากขึ้น แรงหนุนจากภาคธุรกิจบางส่วนที่เริ่มกลับมาเปิดใหม่ (Reopening) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคบริการในวงกว้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยชีวิตผู้คน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ กลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง
ดังนั้น หากนักลงทุนสามารถประเมินได้ว่าเศรษฐกิจประเทศใด สามารถฟื้นตัวได้เร็ว รวมถึงธุรกิจไหนฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถวางแผนเพื่อประเมินและเข้าไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ให้น้ำหนักกับการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการมุ่งสู่โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลงทุนเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น การคว้าโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นแนวโน้มใหม่ที่น่าสนใจในระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ในอนาคต ตลอดจนนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าและประสิทธิภาพของพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเติบโตเป็นอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
4. ลงทุนหุ้นหลากกลุ่มอุตสาหกรรม และหลายภูมิภาค
แม้ภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่การลงทุนในหุ้นก็ยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยให้น้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป ลาตินอเมริกา และสหราชอาณาจักร เนื่องจากมีโอกาสเติบโตสูงเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ตลอดจนกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่หรือเอเชีย ตราสารหนี้ High Yield Bond และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น
5. จับตาสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างใกล้ชิด
นอกจากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดแล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดการลงทุนได้ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าที่สำคัญระหว่างสองประเทศที่อาจมีนัยสำคัญต่อการค้าและการลงทุนโลก ตลอดจนการโจมตีทางไซเบอร์บนโครงสร้างพื้นฐานของโลกยังคงเป็นความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น นักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์และผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนในระยะยาว
สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่