การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังมีการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวน โดยดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ก็มีความผันผวนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 1,595.12 จุด และเมื่อเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดในไทย ดัชนีหุ้นไทยผันผวนต่อเนื่องและปิดระดับต่ำสุดที่ 1,501.02 จุด ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นักลงทุนต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งการลงทุนแบบ DCA นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถนำมาช่วยลดความเสี่ยงและยังได้ประโยชน์จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
DCA คืออะไร
DCA ย่อมาจาก Dollar-Cost Averaging เป็นวิธีการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่นักลงทุนจะทำการลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ที่ลงทุน ณ ขณะนั้น โดยหากในระหว่างที่ลงทุนแล้วราคาสินทรัพย์มีการปรับลดลง ก็จะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่มีราคาถูกไปด้วย เรียกว่าเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุน และนอกจากการลงทุนแบบ DCA แล้ว ยังมีรูปแบบการลงทุนที่เป็นการลงทุนด้วยเงินก้อนครั้งเดียวที่เรียกว่า Lump Sum ซึ่งเหมาะกับตลาดที่เป็นขาลงและนักลงทุนสามารถจับทิศทางของตลาดได้
จะเห็นได้ว่าการลงทุนแบบ Lump Sum จะได้ประโยชน์ที่น่าสนใจแต่ต้องอาศัยทักษะ วินัย และจิตใจในการลงทุนที่เข้มแข็ง เริ่มตั้งแต่การจับจังหวะตลาด ซึ่งมีทั้งการวิเคราะห์ทางเทคนิค การติดตามสถานการณ์ตลาดเพื่อคาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อย่างไร หรือตลาดจะตอบสนองกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร จากนั้นก็ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขาย และที่สำคัญหากจับจังหวะตลาดแล้วผิดพลาด ต้องสามารถตัดขาดทุน (Cut Loss) ตามแผนการซื้อ-ขายให้ได้ด้วยเช่นกัน
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาในการติดตามสถานการณ์หรือเพิ่งเริ่มต้นลงทุนและยังไม่มีความชำนาญมากพอ การใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
เพื่อให้เห็นภาพกำไรขาดทุนได้อย่างชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างการลงทุนแบบ DCA และ Lump Sum ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมาผ่านกองทุนรวม TMB50 ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นไทย ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนี SET50 และกองทุนรวม TMBUS500 ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี S&P500 เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี S&P500 โดยในแต่ละกองทุนรวมจะมีเงินลงทุน 1 แสนบาท เริ่มต้นลงทุนพร้อมกันในวันที่ 2 มกราคม 2563 โดยไม่มีการปรับพอร์ตในระหว่างทาง
จากตารางที่ 2 พบว่า มูลค่าเงินลงทุน ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ด้วยวิธีลงทุนแบบ Lump Sum ขาดทุน 11,096.14 บาท แต่มูลค่าเงินลงทุนด้วยวิธี DCA มีกำไร 8,053.93 บาท และในช่วงที่กองทุนรวมมี NAV ต่ำสุด ณ วันที่ 23 มีนาคม 2563 การลงทุนแบบ Lump Sum ก็ขาดทุนสูงกว่าการลงทุนแบบ DCA เนื่องจากเป็นการลงทุนโดยการใช้เงินก้อนลงทุนครั้งเดียวในวันที่ 2 มกราคม 2564 ทำให้ไม่มีโอกาสซื้อถัวเฉลี่ยต้นทุนเพิ่มเติมในช่วงที่มูลค่า NAV ลดลง
จากตารางที่ 3 พบว่า มูลค่าเงินลงทุน ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ด้วยวิธีลงทุนแบบ Lump Sum มีกำไร 32,224.37 บาท ในขณะที่การลงทุนแบบ DCA มีกำไร 39,339.02 บาท และในช่วงที่กองทุนรวมมี NAV ต่ำสุด ณ วันที่ 23 มีนาคม 2563 การลงทุนแบบ Lump Sum ขาดทุนสูงกว่าการลงทุนแบบ DCA
จะเห็นได้ว่าการลงทุนแบบ DCA มีส่วนช่วยลดการขาดทุนและนักลงทุนยังได้โอกาสในการสะสมหน่วยลงทุนที่ถัวเฉลี่ยต้นทุนในช่วงวิกฤติ เป็นการลดความเสี่ยงในการขาดทุนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งนักลงทุนสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอย่าลืมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน จัดพอร์ตลงทุนและเลือกสินทรัพย์ลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ระยะเวลาลงทุน รวมถึงความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถยอมรับได้
สำหรับนักลงทุนที่สนใจ อยากจะทดสอบผลการลงทุนในหุ้นด้วยวิธี DCA โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง เพื่อช่วยคาดการณ์ว่าจะกำไรหรือขาดทุน สามารถทดสอบจำลองผลผ่านเมนู Backtesting ใน Settrade App ได้ตัวเอง ซึ่งสามารถดาวน์โหลด โดยการค้นหาชื่อแอปพลิเคชั่น Settrade App ใน Google Play หรือ App Store เพื่อติดตั้งและใช้งานได้
และสำหรับมือใหม่ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการลงทุนแบบ DCA ในหุ้นและกองทุนรวม ตลอดจนสามารถคัดเลือกหุ้นดีและกองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน