เมื่อพูดถึงอาหารตามสั่งยอดฮิตของคนไทย เชื่อว่าเมนูจานโปรดที่ต้องสั่งทุกทีของหลายคน คงหนีไม่พ้น "ข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว" แต่ทุกคนเคยสังเกตไหมว่า? กว่าจะเป็นเมนูกลิ่นหอมรสชาติเผ็ดร้อน มีอะไรซ่อนอยู่ในบ้าง ซึ่งวันนี้เราจะพาไปสำรวจหุ้นในข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว ด้วยการแกะสูตรแยกส่วนประกอบออกมาให้เห็นชัดๆ
เริ่มกันที่วัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้ นั่นคืออาหารสดอย่าง "เนื้อไก่และไข่ไก่" รวมถึงผักสด “ใบกะเพรา พริก กระเทียม” ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกอบธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเนื้อสัตว์ ประกอบด้วยหุ้น CPF, GFPT, TFG และผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปผักสดอย่างหุ้น RBF
ส่วนถัดมาเป็น “น้ำตาลและซอสปรุงรส” ในการประกอบอาหารเพื่อรสชาติที่อร่อยถูกปากยิ่งขึ้น โดยในตลาดหุ้นไทยมีผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่หลายราย เช่น BRR น้ำตาลบุรีรัมย์, KBS น้ำตาลครบุรี, KSL น้ำตาลขอนแก่น และ KTIS เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์
ส่วนกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่าย “ซอสปรุงรส” ที่เรารู้จักกันดีก็มีทั้งหุ้น SAUCE เจ้าของเครื่องปรุงแบรนด์ภูเขาทอง, หุ้น NRF ที่มีแบรนด์ซอสปรุงรสในเครืออย่าง พ่อขวัญ, Lee Brand และ SABZU รวมทั้งหุ้น XO ซึ่งมี Excotic Food เป็นแบรนด์หลัก
เมื่อได้เมนูผัดกะเพราจานโปรดแล้ว จะให้ครบองค์ประกอบก็ต้องมีข้าวสวยร้อน ๆ สำหรับบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย “ข้าวสารบรรจุถุง” ก็อย่างเช่นข้าวตราเกษตรของหุ้น KASET อีกทั้งยังมีหุ้น PRG ที่เป็นเจ้าของข้าวมาบุญครอง
มาถึงหุ้นกลุ่มสุดท้ายนั่นคือกลุ่มผู้ผลิต “น้ำมันพืช” สำหรับประกอบอาหาร ซึ่งมีอยู่หลายตัวด้วยกัน อาทิ หุ้น CPI น้ำมันพืชตราลีลา, หุ้น TVO น้ำมันพืชตราองุ่น, หุ้น AIE น้ำมันพืชพาโมลา, หุ้น UVAN ของกลุ่มยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม และหุ้น LST ของน้ำมันพืชตราหยก
เรื่องน่ารู้ก่อนลงทุนหุ้นเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
เห็นแล้วว่าในข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวมีหุ้นอะไรอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) ดังนั้นมาลองเข้าใจธรรมชาติหุ้นกลุ่มนี้กันก่อน
หุ้นกลุ่มนี้จะมีลักษณะเป็น Soft Commodity คือสินค้าโภคภัณฑ์ที่มาจากผลผลิตทางการเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว ปาล์ม น้ำตาล และพืชผักสด ทำให้ราคาผลผลิตแปรผันตามราคาตลาดโลก ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อราคามักจะมาจากฝั่ง Supply มากกว่า Demand เพราะเมื่อสินค้าไหนราคาดี ก็จะมีคู่แข่งเข้ามาขายสู้
เนื่องจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ทั้งพืชและสัตว์ ค่อนข้างเข้ามาแข่งขันได้ง่าย มีให้เลือกหลากหลาย ราคาสินค้าจึงเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และแบรนด์เป็นเรื่องรองลงมา ดังนั้นการควบคุมต้นทุนการผลิตจึงสำคัญมาก เพราะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถใช้ SETSMART เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารต้นทุนย้อนหลังของแต่ละบริษัท โดยใช้เครื่องมือ Financial Statement ซึ่งเราสามารถ filter เฉพาะตัวเลขที่สนใจมาเปรียบเทียบแบบง่ายๆ
หลักสำคัญที่ใช้วิเคราะห์หุ้นเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร คือ ความสามารถในการทำกำไร เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเป็นโภคภัณฑ์สูง อาหารหรือวัตถุดิบแต่ละประเภทก็ตั้งราคาขายไม่เหมือนกัน รายได้จึงไม่เท่ากันด้วย
เราจึงควรใช้อัตราส่วนทางการเงินที่เป็น Profitability Ratio มาวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร ซึ่งประกอบด้วย Gross Profit Margin, EBIT Margin, Net Profit Margin, Return on Equity (ROE) และ Return on Asset (ROA) โดยสามารถใช้ SETSMART คัดกรองหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรโดดเด่นด้วยเครื่องมือ Stock Screening
ได้รู้จักหุ้นใกล้ตัวที่ซ่อนอยู่ในเมนูยอดฮิตกะเพราไก่ไข่ดาว รวมถึงเทคนิควิเคราะห์หุ้นเบื้องต้นไปแล้ว โดยสมัครใช้บริการ SETSMART ได้ที่เว็บไซต์ www.setsmart.com เพียง 250 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับข้อมูลที่จะได้รับ เช่น ภาวะการซื้อขาย เทรนด์นักลงทุนต่างชาติ หรือข้อมูลหุ้น อนุพันธ์ และกองทุนรวม ครบจบในเว็บเดียว ก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลย!!!
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี